โครงการเก็บข้อมูลผู้ป่วยโรคหัวใจโคโรนารี่ระดับนานาชาติครั้งใหญ่ที่สุดบ่งชี้ว่าผู้ป่วยจำนวนมากมีอัตราการเต้นของหัวใจสูงในขณะพักผ่อน

ข่าวต่างประเทศ Monday August 29, 2011 16:51 —Asianet Press Release

ปารีส--29 ส.ค.--พีอาร์นิวส์ไวร์ — เอเชียเน็ท / อินโฟเควสท์ ข้อมูลจากโครงการ CLARIFY ซึ่งเป็นโครงการระดับนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาสำหรับการเก็บข้อมูลผู้ป่วยนอกที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจโคโรนารี่ (coronary artery disease: CAD) บ่งชี้ว่า แม้มีการใช้ยากลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์ (beta-blocker) กันอย่างแพร่หลาย แต่ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจโคโรนารี่มีอัตราการเต้นของหัวใจขณะพักผ่อน (HR) สูงกว่า 70 ครั้งต่อนาที (bpm) [1] ซึ่งเป็นอัตราการเต้นของหัวใจที่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงกับการเกิดและความรุนแรงของอาการเจ็บหน้าอกและอาการหัวใจวาย [2] ทั้งนี้ ข้อมูลในโครงการ CLARIFY ซึ่งแสดงถึงข้อมูลของผู้ป่วยกว่า 30,000 คนจาก 45 ประเทศทั่วโลกนั้นได้รับการนำเสนอในที่ประชุมสมาคมโรคหัวใจแห่งยุโรป (European Society of Cardiology) ในวันนี้ โรคหลอดเลือดหัวใจโคโรนารี่ยังคงเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆของประชากรทั่วโลก [3] การทำความเข้าใจที่ดีขึ้นเพื่อรับมือกับโรคและอาการของโรคในผู้ป่วยเหล่านี้มีความสำคัญต่อการลดภาระของโรคนี้ โครงการ CLARIFY (ProspeCtive observational LongitudinAl RegIstry oF patients with stable coronary arterY disease) ได้มีการจัดทำขึ้นเพื่อเพิ่มความรู้ความเข้าใจเรื่องโรคหลอดเลือดหัวใจโคโรนารี่ ซึ่งรวมถึงความเข้าใจในความสัมพันธ์ระหว่างการเต้นของหัวใจกับการดำเนินโรคในผู้ป่วยโรคหัวใจหลอดเลือดโคโรนารี่ โดยการศึกษานี้มีเป้าหมายที่จะยกระดับการรับมือกับโรคดังกล่าวด้วยการมองหาช่องโหว่ของอาการที่ปรากฏและแนวทางการรักษาที่แท้จริง โครงการ CLARIFY ได้ทำการเก็บข้อมูลของผู้ป่วยจำนวน 33,649 คนทั่วโลกในระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2552 — กรกฎาคม 2553 ซึ่ง 77.5% ของผู้ป่วยทั้งหมดเป็นเพศชาย อายุเฉลี่ยของผู้ป่วยอยู่ที่ 64 ปีบวกลบ 11 ปี อัตราการเต้นของหัวใจโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 68.3 ครั้งต่อนาทีบวกลบ10.6 ครั้งต่อนาที ขณะที่อัตราการเต้นของหัวใจที่ได้จาก ECG อยู่ที่ 67.2 ครั้งต่อนาทีบวกลบ 11.5 ครั้งต่อนาที 44% ของผู้ป่วยมีอัตราการเต้นของหัวใจขณะพักผ่อนสูงกว่าหรือเท่ากับ 70 ครั้งต่อนาที นอกจากนี้ ในข้อมูลการวิเคราะห์ที่มีการปรับปรุงพบว่า อัตราการเต้นของหัวใจที่สูงกว่า 70 ครั้งต่อนาทีมีความสัมพันธ์กับความชุกของการเกิดและความรุนแรงของอาการเจ็บหน้าอกและมีภาวะขาดเลือดที่บ่อยครั้งมากขึ้น “พวกเราทราบกันมาหลายปีแล้วว่าอัตราการเต้นของหัวใจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญอย่างยิ่งต่อโรคหลอดเลือดหัวใจโคโรนารี่ แต่จนถึงขณะนี้มีข้อมูลเกี่ยวกับอัตราการเต้นของหัวใจในกลุ่มผู้ป่วยนอกที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจโคโรนารี่อยู่ค่อนข้างน้อย” ศาสตราจารย์กาเบรียล สเตก (Gabriel Steg) ประธานโครงการ CLARIFY จากโรงพยาบาล Hopital Bichat ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสกล่าว “นับเป็นครั้งแรกที่เราได้เห็นว่าผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจโคโรนารี่หลายรายมีอัตราการเต้นของหัวใจขณะพักผ่อนอยู่ในระดับที่สูงเกินไป ขณะที่หลักฐานในโครงการ CLARIFY และหลักฐานภายนอกจากแหล่งข้อมูลก่อนหน้านี้บ่งชี้ว่า สิ่งนี้เชื่อมโยงกับอาการที่ทรุดลงและผลการรักษาที่ย่ำแย่ลงด้วย ข้อมูลเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าการควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจให้เข้มงวดมากขึ้นด้วยการใช้ยาลดอัตราการเต้นของหัวใจอาจส่งผลดีต่อผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจโคโรนารี่ โดยสามารถควบคุมอาการของโรคและมีผลการรักษาโรคที่ดีขึ้น” “ผู้ป่วยกว่า 90% ใช้ยาแอสไพรินและยาสเตติน ขณะที่ 75% ใช้ยากลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์ ซึ่งข้อมูลนี้ชี้ให้เห็นว่าผู้ป่วยใช้ยาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคซ้ำ สิ่งนี้กำลังกระตุ้นให้เห็นว่าผู้ป่วยโรคหลอดเลือดโคโรนารี่ส่วนใหญ่ได้รับการรักษาที่สอดคล้องกับแนวทางการรักษาโรค” ศาสตราจารย์สเตก กล่าว “ข้อมูลที่มีการนำเสนอในวันนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น โครงการ CLARIFY มีการติดตามผลการศึกษาระยะ 5 ปีตามแผนการที่วางไว้ และทุกๆ ปีพวกเราจะรวบรวมข้อมูลสำคัญมานำเสนอ” โครงการ CLARIFY ได้รับเงินสนับสนุนด้านการศึกษาจากเซอร์เวียร์ (Servier) ข้อมูลทั้งหมดได้รับการรวบรวมและวิเคราะห์ที่ศูนย์ชีวสถิติโรเบิร์ตสัน (Robertson Centre for Biostatistics) ในเมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร ภายใต้การนำของศาสตราจารย์เอียน ฟอร์ด (Ian Ford) และการศึกษาครั้งนี้จัดทำขึ้นภายใต้การนำของคณะกรรมการอำนวยการฝ่ายวิชาการที่มีศาสตราจารย์พี.จี. สเตกเป็นประธานโครงการ สำหรับบรรณาธิการ โรคหลอดเลือดหัวใจโคโรนารี่ โรคหลอดเลือดหัวใจโคโรนารี่ หรือที่รู้จักในชื่อโรคหัวใจขาดเลือด เป็นโรคหัวใจประเภทหนึ่งที่พบได้บ่อยที่สุด ทั้งนี้ โรคหลอดเลือดหัวใจโคโรนารี่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของประชากรทั่วโลก และคาดว่าจะยังคงเป็นเช่นนี้ไปอีก 20 ปีข้างหน้า [3] ในแต่ละปีมีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจโคโรนารี่เพศชายเสียชีวิตประมาณ 3.8 ล้านคนและผู้ป่วยเพศหญิงเสียชีวิตประมาณ 3.4 ล้านคน [4] และในปี 2563 มีการประมาณการว่า โรคนี้จะคร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกรวมทั้งสิ้น 11.1 ล้านคน [3] โรคหลอดเลือดหัวใจโคโรนารี่ยังคงเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้โดยไม่แสดงอาการเป็นเวลาหลายปี แต่สามารถทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลันได้ แม้ว่าโรคหลอดเลือดหัวใจโคโรนารี่จะดูเเป็นภัยเงียบ แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักแสดงอาการของโรคนี้ โดยผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกขณะออกกำลังกายและมีปัจจัยอื่นๆ และอาจนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลว ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อคุณภาพชีวิต แม้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินชีวิตและมีความก้าวหน้าด้านการรักษาทางการแพทย์ แต่โรคหลอดเลือดหัวใจตีบยังคงเป็นปัญหาด้านสุขภาพในระดับโลกและจำเป็นต้องมีการรักษาเชิงป้องกันด้วยวิธีการใหม่ๆที่มีประสิทธิภาพ โครงการเก็บข้อมูลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ การเก็บข้อมูล (ในแง่การรักษา รูปแบบการผ่าตัด หลักเกณฑ์การรักษา และผลการรักษาจากผู้ป่วยที่มีจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้) เป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการทำงานเพื่อกำหนดมาตรฐานสากลสำหรับการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจในอนาคต โครงการเก็บข้อมูลผู้ป่วย (การสำรวจข้อมูลสุขภาพแบบติดตามผลไปข้างหน้า) เป็นหนึ่งในแหล่งที่มาสำคัญของข้อมูลเหล่านี้ เอกสารอ้างอิง [1] Steg G. Heart rate, anginal symptoms, and the use of beta-blockers in stable coronary artery disease outpatients. The CLARIFY registry. ESC 2011, Abstract number 2092. [2] Fox K, Ford I, Steg PG, Tendera M, Robertson M, Ferrari R; BEAUTIFUL Investigators. Heart rate as a prognostic risk factor in patients with coronary artery disease and left-ventricular systolic dysfunction BEAUTIFUL): a subgroup analysis of a randomised controlled trial. Lancet. 2008;372:817-821. [3] Mathers CD, Loncar D. Projections of global mortality and burden of disease from 2002 to 2030. PLoS Med. 2006;3:e442. [4] WHO. The global burden of disease: 2004 update. Available at: http://www.who.int/healthinfo/global_burden_disease/2004_report_update/en/index.html แหล่งข่าว: เซอร์เวียร์ AsiaNet 45956 -- เผยแพร่โดย เอเชียเน็ท ( www.asianetnews.net ) --

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ