นิวยอร์ก และ ลอนดอน--13 ก.ย.--พีอาร์นิวส์ไวร์ — เอเชียเน็ท / อินโฟเควสท์
เรียกร้องให้ประเทศต่างๆ สนับสนุนการวินิจฉัยและการรักษาโรคตั้งแต่เนิ่นๆ
รายงานอัลไซเมอร์โลก 2554 ที่เผยแพร่ในวันนี้โดยสมาพันธ์อัลไซเมอร์สากล (Alzheimer's Disease International: ADI) เผยให้เห็นว่า มีการรักษาโรคอัลไซเมอร์ระยะเริ่มต้นที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งในบางกรณีอาจมีผลการรักษาที่ดีกว่าหากเริ่มดำเนินการอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังมีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าการตรวจวินิจฉัยโรคแต่เนิ่นๆและการรักษาในเวลาที่เหมาะสมยังส่งผลดีทางเศรษฐกิจด้วย
สำหรับการเตรียมรายงานในหัวข้อ “ประโยชน์ของการวินิจฉัยโรคและการรักษาโรคในระยะเริ่มต้น” นั้น ADI ได้แต่งตั้งทีมนักวิจัยที่นำโดยศาสตราจารย์มาร์ติน พรินซ์ (Prof. Martin Prince) จากสถาบันจิตเวชศาสตร์ (Institute of Psychiatry) ในเครือคิงส์ คอลเลจ ลอนดอน (King's College London) ให้ดำเนินการตรวจสอบหลักฐานทั้งหมดที่ครอบคลุมอย่างเป็นระบบเป็นครั้งแรกสำหรับการวินิจฉัยโรคระยะแรกเริ่มและการรักษาโรคสมองเสื่อมตั้งแต่เนิ่นๆ
ปัจจุบัน ผู้คนส่วนใหญ่ที่มีภาวะสมองเสื่อมเข้ารับการตรวจวินิจฉัยโรคล่าช้า ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ในผู้ป่วยทุกรายก็จะส่งผลให้มี “ผู้ที่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาแต่ไม่ได้รับการรักษา” อยู่เป็นจำนวนมหาศาล ภาวะเช่นนี้เป็นอุปสรรคที่กีดขวางการเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ การรักษา การดูแล และการช่วยเหลือและการรวบรวมปัญหาที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยในทุกๆด้าน ทั้งครอบครัว ผู้ให้การรักษา ชุมชน และระบบสุขภาพ
“ไม่มีวิธีการใดเพียงวิธีเดียวที่จะอุดช่องโหว่ระหว่างจำนวนผู้ป่วยที่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาแต่ไม่ได้รับการรักษาได้” ศาสตราจารย์พรินซ์ ผู้จัดทำรายงานคนสำคัญกล่าว “สิ่งที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนคือทุกประเทศจำเป็นต้องมีแผนการด้านสมองเสื่อมระดับชาติที่สนับสนุนการวินิจฉัยโรคในระยะแรกเริ่มและมีความต่อเนื่องในการดูแลรักษาหลังจากนั้น บริการด้านการดูแลสุขภาพเบื้องต้น การวินิจฉัยเฉพาะทาง และศูนย์การรักษา ตลอดจนการบริการในระดับชุมชนล้วนมีส่วนในการดำเนินบทบาทนี้ แต่ระดับความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับจำนวนทรัพยากร”
“ความล้มเหลวในการวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์ในแนวทางที่เหมาะสมนับว่าเป็นการพลาดโอกาสไปอย่างน่าเสียดายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนหลายล้านคน” ดร.เดซี่ อาคอสต้า (Dr. Daisy Acosta) ประธาน ADI กล่าว “ปัญหานี้ได้เพิ่มความท้าทายด้านสุขภาพ สังคม และภาวะการคลังที่หนักหน่วงมากอยู่แล้ว เราหวังว่าจะได้เห็นการนำปัญหานี้ถูกยกขึ้นมาเป็นประเด็นสำคัญในการประชุมสุดยอดขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยโรคไม่ติดต่อในสัปดาห์หน้า ”
รายงานฉบับใหม่ของ ADI เปิดเผยข้อมูลดังต่อไปนี้:
- มีผู้ป่วยมากถึง 75% ของประชากรประมาณ 36 ล้านคนทั่วโลกที่เป็นโรคสมองเสื่อมไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัย พวกเขาจึงไม่ได้รับประโยชน์จากการรักษา การรับทราบข้อมูล และการดูแลสุขภาพ ในประเทศที่มีรายได้สูงนั้น มีเพียง 20-50% ของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมที่รู้ว่าตนเป็นโรคนี้ และมีเอกสารยืนยันการรักษาเบื้องต้น ในประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางนั้น สัดส่วนนี้อาจอยู่ในระดับต่ำเพียง 10%
- ความล้มเหลวในการตรวจวินิจฉัยมักเป็นผลมาจากความเชื่อผิดๆที่ว่า ภาวะสมองเสื่อมถือเป็นเรื่องปกติของผู้สูงวัย และไม่มีวิธีใดที่สามารถช่วยได้ ในทางตรงกันข้าม รายงานฉบับใหม่พบว่า การรักษาสามารถให้ผลที่แตกต่าง แม้จะเป็นช่วงเริ่มต้นของโรคนี้ก็ตาม
- การรักษาด้วยยาและการบำบัดด้านจิตวิทยาสำหรับผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมในระยะเริ่มต้นช่วยกระตุ้นการรับรู้ การพึ่งพาตัวเอง และคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้ การช่วยเหลือและการให้คำปรึกษาของผู้ให้การรักษาสามารถปรับอารมณ์ที่ดีขึ้น ลดความตึงเครียด และชะลอเวลาการเข้ารักษาในสถานพยาบาลขอผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม
- รัฐบาลซึ่งมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นสำหรับการรักษาในระยะยาวที่เกี่ยวกับโรคสมองเสื่อมควร “ลงทุนตั้งแต่บัดนี้เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในภายหลัง” รายงานที่อิงข้อมูลการวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจประมาณการว่า การวินิจฉัยโรคในระยะแรกเริ่มจะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายสุทธิของผู้ป่วยได้สูงถึง 10,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนในประเทศที่มีรายได้สูง
“ในปีที่ผ่านมา ทีมวิจัยได้ทบทวนรายงานการศึกษาทางวิทยาศาสตร์หลายพันฉบับที่มีรายละเอียดเกี่ยวกับผลกระทบจากการวินิจฉัยและการรักษาโรคในระยะเริ่มต้น และเราได้พบหลักฐานที่บ่งชี้ถึงข้อดีที่แท้จริงสำหรับผู้ป่วยและผู้ให้การรักษา” มาร์ค วอร์ทแมนน์ (Marc Wortmann) ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารของ ADI กล่าว “การวินิจฉัยโรคตั้งแต่เนิ่นๆยังสามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบและกระบวนการด้านการทดลองทางคลินิคไปสู่การทดลองด้านการรักษารูปแบบใหม่ แต่ก่อนอื่นเราจำเป็นต้องสร้างความมั่นใจว่า ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพซึ่งได้รับการทดสอบมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งนั่นหมายความว่า ระบบการดูแลสุขภาพจำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อม ได้รับการฝึกอบรม และได้รับพัฒนาทักษะเพื่อให้มีการตรวจวินิจฉัยโรคที่แม่นยำและทันท่วงที มีการสื่อสารที่สามารถตอบสนองได้ไวภายใต้แนวทางการสนับสนุนที่เหมาะสม”
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น ADI แนะนำให้ทุกประเทศมีแนวทางเชิงกลยุทธ์เกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อมที่เป็นการสนับสนุนการวินิจฉัยและการรักษาโรคในระยะเริ่มต้น สำหรับแนวทางการดำเนินงานที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้นนั้น รัฐบาลต้องดำเนินการดังนี้:
- กระตุ้นความสามารถขั้นพื้นฐานในกลุ่มแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาสุขภาพในการตรวจหาภาวะสมองเสื่อมระยะแรกเริ่มสำหรับบริการด้านการรักษาในเบื้องต้น
- สร้างเครือข่ายศูนย์กลางด้านการวินิจฉัยโรคเฉพาะทางที่เป็นไปได้เพื่อยืนยันผลการตรวจวินิจฉัยโรคสมองเสื่อมในขั้นต้นและกำหนดแผนการบริหารจัดการด้านการดูแลรักษา
- ในประเทศที่ขาดแคลนทรัพยากรนั้น ควรดำเนินการตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ที่จัดทำขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้สำหรับการวินิจฉัยโรคและการบริหารจัดการเบื้องต้นโดยเจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ
- ประชาสัมพันธ์ข้อมูลการรักษาตามอาการที่ปรากฎซึ่งมีประสิทธิภาพในการพัฒนาความสามารถด้านการรับรู้ บำบัดภาวะซึมเศร้า เสริมสร้างอารมณ์ที่ดีขึ้นของผู้ให้การรักษา และชะลอเวลาการเข้ารักษาที่สถานพยาบาล
- เพิ่มการลงทุนด้านการทดลองแบบสุ่มทดลองที่เน้นด้านการวิจัยเพื่อทดสอบตัวยาในระยะเริ่มต้นและดำเนินการทดลองในช่วงเวลาที่ยาวนานขึ้น และเพื่อทดสอบประสิทธิภาพด้านการรักษาด้วยโรคที่มีความสัมพันธ์เฉพาะเจาะจงกับโรคสมองเสื่อมในเบื้องต้น
เกี่ยวกับโรคสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์
โรคสมองเสื่อมเป็นอาการที่สาเหตุมาจากความผิดปกติหลายประการซึ่งส่งผลกระทบต่อความจำ ความนึกคิด พฤติกรรม และความสามารถในการทำกิจกรรมประจำวัน โรคอัลไซเมอร์เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของการเกิดโรคสมองเสื่อม http://www.alz.co.uk/about-dementia
รายงานอัลไซเมอร์โลก 2552 ได้คาดการณ์ว่า จำนวนผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมจะเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าในทุกๆ 20 ปี จากจำนวน 36 ล้านคนในปี 2553 เป็น 115 ล้านคนในปี 2593 รายงานอัลไซเมอร์โลก 2553 ระบุว่า ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับโรคสมองเสื่อมมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 6.04 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ทั่วโลก
เดือนกันยายน 2554 เป็นเดือนแห่งโรคอัลไซเมอร์ครั้งแรก
http://www.alz.org/wam/wam.asp
เกี่ยวกับรายงานอัลไซเมอร์โลก 2554
สามารถชมรายงานอัลไซเมอร์โลก 2554 รวมถึงรายงานของปีก่อนๆได้ที่
http://www.alz.co.uk/worldreport2011
สมาพันธ์อัลไซเมอร์สากลเป็นองค์กรระดับนานาชาติซึ่งเป็นตัวแทนของสมาคมโรคอัลไซเมอร์ 76 สมาคมจากทั่วโลก ที่ให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมและครอบครัวในประเทศของตน สมาพันธ์ก่อตั้งขึ้นในปีพ.ศ.2527 ในฐานะเครือข่ายที่เปิดโอกาสให้สมาคมโรคอัลไซเมอร์จากทั่วโลกได้แบ่งปันและแลกเปลี่ยนข้อมูล ทรัพยากรบุคคล และทักษะต่างๆ วัตถุประสงค์หลักของ ADI คือ “การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมและครอบครัว” ทั้งนี้ ADI มีสำนักงานใหญ่ในลอนดอน และจดทะเบียนในฐานะองค์กรไม่แสวงผลกำไรในรัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.alz.co.uk
สถาบันจิตเวช เป็นโรงเรียนในเครือคิงส์ คอลเลจ ลอนดอน และเป็นศูนย์วิจัยและศูนย์การเรียนการสอนด้านจิตเวช จิตวิทยา สาขาวิชาในกลุ่มเดียวกันนี้ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งรวมถึงการสาขาวิชาด้านประสาทวิทยาพื้นฐานและประสาทวิทยาทางคลินิก สถาบันแห่งนี้มีชื่อเสียงโด่งดังในระดับโลกในแง่ของคุณภาพการวิจัยทางจิตเวชและจิตวิทยา สถาบันเป็นศูนย์การด้านการวิจัยที่ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุดนอกสหรัฐอเมริกา และได้รับการกล่าวถึงมากเป็นอันดับสองของโลกจากการจัดอันดับโดย Thomson ISI Essential Science Indicators การเรียนการสอนที่มุ่งเน้นด้านการวิจัยในระดับโลกได้ดึงดูดนักเรียนที่มีความสามารถจากทั่วโลก สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาเข้าชมที่ http://www.kcl.ac.uk/iop/index.aspx
คิงส์ คอลเลจ ลอนดอนเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์ King's Health Partners Academic Health Sciences Centre (AHSC) ซึ่งให้บริการด้านการดูแลสุขภาพแก่ผู้ป่วยและดำเนินงานด้านวิทยาศาสตร์และการวิจัยด้านสุขภาพ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเข้าชมที่ http://www.kingshealthpartners.org
แหล่งข่าว: สมาพันธ์อัลไซเมอร์สากล
AsiaNet 46265
-- เผยแพร่โดย เอเชียเน็ท ( www.asianetnews.net ) --