นียง, สวิตเซอร์แลนด์--14 ต.ค.--พีอาร์นิวส์ไวร์ — เอเชียเน็ท / อินโฟเควสท์
เนื่องในวันโรคกระดูกพรุนโลกปีนี้ (20 ตุลาคม) ทางมูลนิธิโรคกระดูกพรุนนานาชาติ (IOF) ได้เผยแพร่รายงานความยาว 24 หน้า ซึ่งเสนอกลยุทธบันได 3 ขั้นเพื่อกระดูกและกล้ามเนื้อที่แข็งแรง
สามารถดูข่าวประชาสัมพันธ์ในรูปแบบมัลติมีเดียได้ที่ http://multivu.prnewswire.com/mnr/prne/iof/52143/
ศาสตราจารย์ไฮเก บิสชอฟฟ์-เฟอร์รารี (Professor Heike Bischoff-Ferrari) ผู้อำนวยการศูนย์ด้านสูงวัยและการเคลื่อนไหว โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยซูริค/เวด ซิตี และเป็นผู้เขียนรายงานดังกล่าว กล่าวว่า “พูดง่ายๆคือ ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ คุณก็สามารถทำให้กระดูกมีสุขภาพแข็งแรงได้ หากทำตาม 3 ขั้นตอนสำคัญต่อไปนี้”
“หนึ่ง คุณต้องได้รับวิตามินดีอย่างเพียงพอ สอง คุณต้องรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและโปรตีนเพียงพอ และสาม คุณต้องหมั่นออกกำลังกายแบบที่ต้องแบกรับน้ำหนักร่างกาย (weight bearing) และสร้างความแข็งแกร่งให้กับกล้ามเนื้อเป็นประจำทุกวัน”
เธอย้ำว่า ถ้าจะให้ได้ผลดีต้องทำทั้งสามอย่างร่วมกัน “การมีโภชนาการที่ดีและได้รับวิตามินดีอย่างเพียงพอจะช่วยให้การออกกำลังกายได้ประโยชน์มากขึ้น และการออกกำลังกายสม่ำเสมอก็จะเป็นประโยชน์ต่อโภชนาการเช่นกัน” ศจ.บิสชอฟฟ์-เฟอร์รารี กล่าว
รายงานดังกล่าวเปิดประเด็นสำคัญอย่างการล้มและภาวะกระดูกหักจากการล้มในผู้สูงอายุ นอกจากนั้นในรายงานยังระบุว่า
- การรับประทานอาหารที่มีคุณค่าจะทำให้ร่างกายได้รับแคลเซียมและโปรตีนเพียงพอ ซึ่งอาหารดังกล่าวประกอบด้วยผลิตภัณฑ์นม ถั่วต่างๆ ผักใบเขียวและผลไม้ที่มีแคลเซียมสูง รวมถึงน้ำแร่ โดยผลิตภัณฑ์นมให้แคลเซียมมากที่สุด ทั้งยังมีโปรตีนด้วย
- ผู้สูงอายุได้รับโปรตีนน้อยลงทำให้มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงและมวลกล้ามเนื้อลดลง ซึ่งอาจทำให้ผู้สูงอายุล้มและกระดูกหักได้
- ผิวหนังของคนเราจะผลิตวิตามินดีเมื่อถูกแสงแดด ส่วนอาหารที่เป็นแหล่งของวิตามินมีค่อนข้างจำกัด โดยพบปริมาณเล็กน้อยในไขมันปลาและไข่
- ภาวะการขาดวิตามินดีทั่วโลกอยู่ในอัตราสูงทำให้เข้าใจได้ว่า คนส่วนใหญ่ไม่ได้วิตามินดีมากพอจากการรับแสงแดด ซึ่งเป็นเพราะเหตุผลหลายประการ อาทิ ประเทศที่อยู่เหนือและต่ำกว่าเส้นรุ้ง 33 องศาจะได้รับแสงแดดน้อยในช่วงฤดูหนาว การที่ท้องฟ้ามีเมฆปกคลุมและมลพิษทางอากาศ การใช้ครีมกันแดด การสวมเสื้อผ้าคลุมแทบทุกส่วนของร่างกาย รวมถึงการที่คนหนุ่มสาวและผู้สูงวัยใช้ชีวิตในร่มมากขึ้น
- ผิวหนังผลิตวิตามินดีได้น้อยลงตามวัยที่สูงขึ้น ส่งผลให้ผู้สูงอายุผลิตวิตามินดีได้น้อยกว่าคนหนุ่มสาวถึง 4 เท่า
- สำหรับผู้สูงอายุนั้น การรับประทานวิตามินดีเสริมช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดการล้มและกระดูกหักราว 20% และ IOF แนะนำว่า ทุกคนที่มีความเสี่ยงและทุกคนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ควรได้รับวิตามินดี 800-1,000 IU/วัน
- คนทุกวัยจำเป็นต้องออกกำลังกายเป็นประจำทุกวันเพื่อกระดูกและกล้ามเนื้อที่แข็งแรง
- การออกกำลังกายที่ได้ผลดีที่สุดคือ การออกกำลังกายแบบที่ต้องแบกรับน้ำหนักร่างกาย (weight bearing) อย่างการวิ่ง ขึ้นบันได กระโดด หรือเดินเร็ว รวมถึงการสร้างความแข็งแกร่งให้กับกล้ามเนื้อ อย่างการยกน้ำหนัก เป็นต้น
- การออกกำลังกายแบบที่ต้องแบกรับน้ำหนักร่างกาย ซึ่งช่วยเพิ่มความคล่องตัว ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และความสมดุลในผู้สูงอายุ จะช่วยให้โอกาสการล้มลดลง 25-50%
- การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป และน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ (ดัชนีมวลกายต่ำกว่า 19) เป็นผลเสียต่อสุขภาพกระดูก
ศาสตราจารย์ไซรัส คูเปอร์ ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของ IOF กล่าวว่า “สุขภาพกระดูกมีความสำคัญทุกช่วงชีวิต ผมขอให้ทุกคนทำตามคำแนะนำในรายงานนี้ เนื่องจากการได้รับแคลเซียมและโปรตีน รวมถึงวิตามินดีอย่างเพียงพอ และการออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน เป็นสามปัจจัยสำคัญที่ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของกระดูกในเด็กและวัยรุ่น”
“ส่วนในวัยผู้ใหญ่ ปัจจัยดังกล่าวช่วยรักษาและเพิ่มมวลกระดูกและความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อ สำหรับผู้สูงอายุควรเน้นออกกำลังกายแบบที่สร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อและสร้างสมดุล ร่วมกับการรับโปรตีนและวิตามินดีให้เพียงพอ ซึ่งจะช่วยลดการล้มและภาวะกระดูกหักได้เป็นอย่างดี”
สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวันโรคกระดูกพรุนโลก รวมถึงดาวน์โหลดรายงาน “Three Steps to Unbreakable Bones: Vitamin D, Calcium and Exercise” ได้ที่ http://www.worldosteoporosisday.org
เกี่ยวกับ IOF
มูลนิธิโรคกระดูกพรุนนานาชาติ (IOF) เป็นองค์กรนอกภาครัฐที่ไม่แสวงผลกำไร ซึ่งอุทิศตนเพื่อต่อสู้กับ “ภัยเงียบ” อย่างโรคกระดูกพรุนทั่วโลก สมาชิกของ IOF ซึ่งประกอบด้วยคณะนักวิจัยวิทยาศาสตร์ ผู้ป่วย ชุมชนการแพทย์และการวิจัย รวมถึงตัวแทนจากภาคอุตสาหกรรมจากทั่วโลก มีวิสัยทัศน์เดียวกันนั่นคือการสร้างโลกที่ปราศจากภาวะกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุน ปัจจุบัน IOF เป็นตัวแทนของสมาคม 199 แห่งใน 93 พื้นที่ทั่วโลก สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.iofbonehealth.org
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม:
คาเลบ สตาร์เรนเบิร์ก (Caleb Starrenburg)
ผู้ประสานงานการสื่อสาร
มูลนิธิโรคกระดูกพรุนนานาชาติ
อีเมล: cstarrenburg@iofbonehealth.org
โทร: +41-22-994-01-04
แหล่งข่าว: มูลนิธิโรคกระดูกพรุนนานาชาติ (IOF)
AsiaNet 46677
-- เผยแพร่โดย เอเชียเน็ท ( www.asianetnews.net ) --