สิงคโปร์--18 ม.ค.--พีอาร์นิวส์ไวร์-เอเชีย-เอเชียเน็ท/อินโฟเควสท์
-- กระบวนการและการค้นพบทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับพืชเชื้อเพลิงชีวภาพได้รับการเผยแพร่ในรายงานที่นำเสนอต่อที่ประชุม INSULA (International Scientific Council for Island Development) / RSB (Roundtable for Sustainable Biofuels) ในยูเนสโก กรุงปารีส
บริษัท เจออยล์ จำกัด (JOil (S) Pte Ltd) ผู้พัฒนาพืชพลังงานชีวภาพจากสบู่ดำรุ่นใหม่ ได้อภิปรายเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ล้ำสมัยและกระบวนการทางเทคโนโลยีชีวภาพซึ่งจะสามารถเพิ่มผลิตภาพของสบู่ดำจากปัจจุบันผลิตน้ำมันได้ไม่ถึง 1 ตันต่อเฮกตาร์ เป็น 3 ตันต่อเฮกตาร์ โดยใช้การเพาะพันธุ์ เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ และกระบวนการพันธุวิศวกรรม
ดร.ฮอง ยาน (Dr.Hong Yan) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิทยาศาสตร์ ได้นำเสนอข้อมูลการพัฒนาและการค้นพบเหล่านี้ที่งาน INSULA/RSB หัวข้อ “สบู่ดำล้ำสมัย” (Jatropha: State of the Art) ณ สำนักงานใหญ่ยูเนสโก กรุงปารีส เมื่อวันที่ 14-15 ธันวาคม 2554
ศักยภาพใหม่สำหรับสบู่ดำรุ่นใหม่
ดร.ฮองนำเสนอรายงานซึ่งระบุว่า เทคโนโลยีชีวภาพเป็นวิทยาศาสตร์พื้นฐานที่มีความจำเป็นต่อการแก้ปัญหาสบู่ดำที่ให้ผลผลิตน้ำมันต่ำ เขาประเมินความเห็นที่มีต่อการใช้สบู่ดำมาทำเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพในปัจจุบันอย่างตรงไปตรงมาว่า “ในช่วงแรกเมื่อประมาณต้นทศวรรษ 2000 แนวความคิดเรื่องการใช้สบู่ดำและศักยภาพเชิงพาณิชย์ของสบู่ดำได้สร้างความตื่นเต้นอย่างมาก แต่หลังจากนั้นปริมาณผลผลิตที่ย่ำแย่ก็ได้ทำให้เกิดคลื่นความผิดหวังในอินเดีย อเมริกากลาง และแอฟริกา เนื่องจากต้นสบู่ดำที่ปลูกกันในช่วงแรกนั้นมาจากเมล็ดสบู่ดำที่ขึ้นตามป่า และมีความต้านทานต่อยาฆ่าแมลงต่ำเกินคาด”
“ในอนาคต เทคโนโลยีชีวภาพจะช่วยเพิ่มศักยภาพของสบู่ดำและช่วยให้สบู่ดำต้านทานยาฆ่าแมลงได้ดียิ่งขึ้น ที่เจออยล์ เรากำลังนำการเพาะพันธุ์ การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ และกระบวนการพันธุวิศวกรรมมาใช้เพื่อเดินหน้าพัฒนาสบู่ดำพันธุ์ดีที่หลากลายยิ่งขึ้นต่อไป เรายังได้รับข้อมูลที่ดีมากจากการทดลองภาคสนามของสบู่ดำพันธุ์ใหม่ๆ ซึ่งมีคุณสมบัติ อาทิ ความสม่ำเสมอ สามารถแตกกิ่งก้านเองได้ดีขึ้น ให้ดอกเร็ว และให้ผลผลิตสูงขึ้น โดยในการทดลองเพาะปลูกจริงปีแรกในที่ดินผืนเล็กๆที่กั้นไว้ในอินเดียใต้นั้น เราได้เมล็ดสบู่ดำกว่า 2 ตัน ซึ่งความพยายามในการพัฒนาสบู่ดำอย่างต่อเนื่องดังกล่าวจะเพิ่มผลิตภาพของสบู่ดำโดยเฉลี่ย จากที่ให้น้ำมัน 1 ตันต่อเฮกตาร์ เป็น 3 ตันต่อเฮกตาร์ในช่วงเวลา 7-8 ปีข้างหน้า”
นายศรีราม ศรีนิวะสัน (Sriram Srinivasan) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินกล่าวเสริมว่า “บรรดาสายการบินและผู้ประกอบการให้บริการยานพาหนะมีความต้องการน้ำมันดีเซลจากสบู่ดำอยู่แล้ว แต่เป็นเรื่องของอุปทานที่ทำให้อัตราการยอมรับและใช้งานเชื้อเพลิงชีวภาพหยุดชะงัก เราเชื่อว่าจุดเปลี่ยนจะเกิดขึ้นเมื่อพื้นที่เพาะปลูกสบู่ดำสามารถยืนหยัดทางการค้าได้ด้วยการปลูกสบู่ดำสายพันธุ์ต่างๆที่ได้รับการปรับปรุงแล้ว พร้อมวางแนวปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีขึ้น”
ในรายงานฉบับนี้ นายศรีนิวะสันยังได้นำเสนอความหลากหลายของสบู่ดำในการทดลองต่างๆ พร้อมแสดงให้เห็นว่า พันธุศาสตร์ที่เหมาะสมและแนวทางการดูแลล้วนมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการยอมรับและใช้งานสบู่ดำตามหลักเศรษฐศาสตร์ หากวัสดุปลูกมีคุณภาพต่ำ ขาดการดูแลที่ดี อัตราผลตอบแทนภายใน (IRR) อาจจะต่ำกว่า 10% หากใช้วัสดุปลูกคุณภาพดีและมีการดูแลอย่างดี อัตราผลตอบแทนภายในอาจจะสูงกว่า 25% ก็เป็นได้ เขายังกล่าวด้วยว่า เมื่อพิจารณารายได้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นผลพลอยได้จากการนำสบู่ดำไปใช้ในอุตสาหกรรมชั้นสูง อาทิ อาหารสัตว์ ก็จะยิ่งทำให้อัตราผลตอบแทนภายในดีขึ้นมาก
ความจำเป็นในการจัดการประชุมสบู่ดำโลก
ผู้ร่วมการประชุมจากนานาชาติประกอบด้วยคณะผู้แทนจาก UNESCO, RSB (Roundtable for Sustainable Biofuels), INSULA (International Scientific Council for Island Development), Lufthansa, Neste Oil, Eco Carbone, TERI (The Energy Research Institute), Cosmo Biofuels,
University of Bern, ADECIA และ Empa โดยคณะผู้แทนเหล่านี้ได้พูดคุยถึงรายละเอียดเกี่ยวกับความจำเป็นของการประชุมระดับโลกเพื่อแก้ปัญหาเรื่องสบู่ดำโดยเฉพาะ อย่างเช่นเรื่องเกษตรกร การใช้พื้นที่เพาะปลูก การสกัด การใช้ และการกำหนดมาตรฐาน
นายปิเอร์ โจวานนี ดายาลา (Mr. Pier Giovanni d'Ayala) เลขาธิการ INSULA ซึ่งเป็นประธานการทำเวิร์กช็อป กล่าวว่า เขาดีใจมากที่มีการปฏิสัมพันธ์ในระดับสูงระหว่างการทำเวิร์กช็อป และหวังว่าจะได้เห็นความสำเร็จของพืชสบู่ดำ แม้ปัจจุบันจะยังมีปัญหาหลายอย่างก็ตาม
นายเฮย์ เซบาสเตียน (Mr. Haye Sebastian) ผู้จัดการฝ่ายกิจการสิ่งแวดล้อมของ RSB ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการประสานความร่วมมือระหว่างการทำเวิร์กช็อป กล่าวว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจากทั่วโลกต้องพูดคุยกันให้มากกว่านี้ในเรื่องปัญหาที่ถูกกล่าวถึงในการทำเวิร์กช็อป ซึ่งรวมถึงเรื่องสิทธิในพื้นที่เพาะปลูกและการเพาะปลูกอย่างยั่งยืน
เกี่ยวกับสบู่ดำ
สบู่ดำ (Jatropha curcas หรือ physic nut) เป็นพืชทนแล้ง ใช้ปลูกเป็นแนวรั้วป้องกันสัตว์เข้ามาทำลายพืชผล เมล็ดสบู่ดำสามารถนำมาสกัดน้ำมันเพื่อนำไปผลิตเป็นไบโอดีเซลคุณภาพสูงได้ โดยสามารถนำไปใช้ได้กับเครื่องบิน รถยนต์ดีเซล และเครื่องจักรที่ติดตั้งอยู่กับที่อย่างเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เป็นต้น เนื่องจากสบู่ดำสามารถปลูกได้ในพื้นที่แห้งแล้งและปลูกเป็นรั้วป้องกันสวนและพื้นที่เพาะปลูกที่มีอยู่เดิม สบู่ดำจึงไม่แย่งพื้นที่ปลูกพืชผลอื่นๆ ไม่เหมือนพืชให้น้ำมันและพืชที่ใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นอย่างถั่วเหลืองและปาล์มน้ำมัน ทั้งนี้ สบู่ดำเป็นพืชพื้นเมืองแถบแอฟริกา อเมริกาเหนือ และแคริบเบียน
เกี่ยวกับ JOIL (S) PTE LTD
JOil (S) Pte Ltd ซึ่งตั้งอยู่ในสิงคโปร์ เป็นบริษัทที่เกิดจากการร่วมทุนระหว่าง Temasek Life Sciences Laboratory, Tata Chemicals (ผ่านบริษัท Tata Chemicals Asia Pacific Pte Ltd ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ) และบริษัทอื่นๆ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2551 ธุรกิจหลักของบริษัทประกอบด้วยการพัฒนา แพร่พันธุ์ และจัดจำหน่ายต้นอ่อนสบู่ดำคุณภาพสูง และพัฒนาต้นอ่อนตัดต่อพันธุกรรมสำหรับการเพาะปลูกเชิงพาณิชย์ รวมถึงทำการวิจัยและให้คำปรึกษาด้านปฐพีศาสตร์ ทั้งนี้ JOil เป็นบริษัทที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม เห็นได้จากการนำเสนอโซลูชั่นที่ยั่งยืน (ทั้งทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม) ในการใช้พืชเป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ
แหล่งข่าว: JOil (S) Pte Ltd
AsiaNet 48060
-- เผยแพร่โดย เอเชียเน็ท ( www.asianetnews.net ) --