ออร์แลนโด--26 มี.ค.--พีอาร์นิวส์ไวร์ / อินโฟเควสท์
ข้อมูลใหม่จากออสเตรเลียยืนยันประโยชน์ของการรักษาผู้ป่วยด้วยวิธีอุดเส้นเลือดด้วยรังสี (Radioembolisation)
ผลลัพธ์จากการศึกษาเปรียบเทียบในศูนย์หลายแห่งครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา ว่าด้วยการรักษาผู้ป่วยด้วยวิธีอุดเส้นเลือดด้วยรังสี พบว่า การอุดเส้นเลือดด้วยรังสีโดยใช้สาร SIR-Spheres microspheres ในผู้ป่วยโรคมะเร็งตับที่ลุกลามมาจากมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือมะเร็งอื่นๆ และไม่ตอบสนองต่อการรักษาแล้ว ช่วยให้ผู้ป่วยมีชีวิตรอดยาวนานขึ้นอย่างมาก ผลของการศึกษาได้รับการนำเสนอในวันนี้ที่การประชุมมะเร็งประจำปีครั้งที่ 65 ของสมาคมศัลยศาสตร์มะเร็งวิทยา (65th Annual Cancer Symposium of the Society of Surgical Oncology) โดยรองศาสตราจารย์ ลอเรนซ์ เบสเตอร์ (Associate Professor Lourens Bester) ผู้อำนวยการแผนกรังสีวิทยา โรงพยาบาลเซนต์วินเซนต์ ในนครซิดนีย์[1]
การอุดเส้นเลือดด้วยรังสี หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่าการบำบัดด้วยการนำรังสีบางชนิดเข้าสู่ร่างกาย (Selective Internal Radiation: SIRT) เป็นการรักษาโรคมะเร็งตับแบบใหม่โดยใช้ microspheres ที่ถูกฉลากด้วยสารกัมมันตรังสี yttrium-90 (90Y) แพทย์รังสีวิทยาจะนำ microspheres เข้าสู่ร่างกายไปยังจุดที่เกิดมะเร็งโดยตรง ซึ่งจะไม่ทำลายเนื้อเยื่อตับที่ดีที่ยังเหลืออยู่
ศจ.เบสเตอร์และทีมงานทำการประเมินผู้ป่วยโรคมะเร็งตับ 463 คนที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยเคมีบำบัด และพบว่า “วิธีอุดเส้นเลือดด้วยรังสีมีความเกี่ยวข้องกับอัตราการรอดชีวิตที่เพิ่มขึ้นอย่างมากและมีความหมายทางคลินิก อันที่จริงแล้วปัจจัยอื่นๆอาจมีผลบ้าง แต่การรักษาด้วยวิธีนี้อาจดีที่สุดสำหรับผู้ป่วย” เขากล่าว
ในบรรดาผู้ป่วย 251 คนที่เป็นโรคมะเร็งตับที่ลุกลามมาจากมะเร็งลำไส้ใหญ่นั้น พบว่าค่าเฉลี่ยการรอดชีวิตในผู้ป่วย 220 คนที่ได้รับการรักษาด้วย SIR-Spheres microspheres อยู่ที่ 11.6 เดือน เทียบกับ 6.6 เดือนในกลุ่มผู้ป่วย 31 คนที่ได้รับการรักษาตามมาตรฐานหรือได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด (p=0.021) ส่วนในผู้ป่วย 212 คนที่เป็นโรคมะเร็งตับที่ลุกลามมาจากมะเร็งอื่นๆ ซึ่งประกอบด้วย มะเร็งท่อน้ำดี (41), มะเร็งระบบประสาทและต?อมไร?ท?อ (40), มะเร็งเซลล์ตับ (27), มะเร็งตับอ่อน (13), มะเร็งเต้านม (11), มะเร็งกระเพาะอาหาร (9) และมะเร็งอื่นๆ (71) พบว่า ค่าเฉลี่ยการรอดชีวิตในผู้ป่วย 180 คนที่ได้รับการรักษาด้วย SIR-Spheres microspheres อยู่ที่ 9.5 เดือน เทียบกับ 2.6 เดือนในกลุ่มผู้ป่วย 32 คนที่ได้รับการรักษาตามมาตรฐานหรือได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด (p=0.013)
“อัตราการรอดชีวิตโดยรวมที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในการศึกษานี้ ยืนยันถึงผลลัพธ์เชิงบวกที่ได้จากการศึกษาเปรียบเทียบ 2 ครั้งก่อน ซึ่งเป็นการศึกษาขนาดเล็กกว่าในผู้ป่วยโรคมะเร็งตับที่ลุกลามมาจากมะเร็งลำไส้ใหญ่และไม่ตอบสนองต่อการรักษาแล้ว ได้แก่ การศึกษาแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุมขั้นที่ 3 ในศูนย์หลายแห่ง โดยเฮนด์ลิสซ์ (Hendlisz) และทีมงานในเบลเยียม และการวิเคราะห์แบบจับคู่โดยไซเดนสติกเกอร์ (Seidensticker) และทีมงานจากเมืองมักเดบูร์ก ประเทศเยอรมนี ซึ่งระบุว่าค่าเฉลี่ยการรอดชีวิตอยู่ที่ 10.0 และ 8.3 เดือนตามลำดับ” ศจ.เบสเตอร์ กล่าว[2,3]
ปัจจุบันกำลังมีการทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม 2 การทดลองใหญ่ระดับนานาชาติ เพื่อประเมินประสิทธิภาพของการรักษาด้วยวิธีอุดเส้นเลือดด้วยรังสีโดยใช้สาร SIR-Spheres Microspheres เพิ่มเติมจากการรักษาด้วยเคมีบำบัดซึ่งเป็นแนวทางการรักษาอันดับแรก เพื่อประเมินว่าควรใช้วิธีนี้เป็นวิธีแรกๆในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งตับที่ลุกลามมาจากมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือไม่ นอกจากนั้นยังมีการทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุมขนาดใหญ่อีก 3 การทดลอง เพื่อประเมินประสิทธิภาพของการรักษาด้วยวิธีอุดเส้นเลือดด้วยรังสีโดยใช้สาร SIR-Spheres Microspheres ในผู้ป่วยโรคมะเร็งเซลล์ตับ
เกี่ยวกับการศึกษา
การศึกษาที่จัดขึ้น ณ โรงพยาบาลเซนต์วินเซนต์ มีจุดมุ่งหมายเพื่อเปรียบเทียบผลลัพธ์ของการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งตับด้วยวิธีอุดเส้นเลือดด้วยรังสี กับผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาตามมาตรฐานหรือได้รับการดูแลอย่างดีที่สุดเพียงอย่างเดียว ในสภาวะที่ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาแล้ว
ผู้ป่วยทุกรายเป็นโรคมะเร็งตับที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยเคมีบำบัด และจากการใช้รังสีตรวจพบว่ามีการแพร่กระจายของโรค นอกจากนั้นผู้ป่วยยังไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นๆได้ ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด การเฉือนเนื้อร้าย หรือการฉีดยาเคมีบำบัดเพื่ออุดหลอดเลือด (chemoembolisation)
การศึกษาครั้งนี้ไม่รวมผู้ป่วยที่มะเร็งแพร่กระจายออกนอกตับ ผู้ป่วยที่มีอาการต่างๆที่ทำให้ต้องใช้เวลาเกินครึ่งหนึ่งขณะตื่นนอนซมอยู่บนเตียง (ECOG performance status >2) ผู้ป่วยที่ตับมีมะเร็งมากเกินไป (มากกว่า 75% ของเนื้อตับถูกแทนที่ด้วยมะเร็ง) และ/หรือ ผู้ป่วยที่ตับที่เหลืออยู่ทำงานบกพร่อง
จากผู้ป่วย 463 คนที่ได้รับการประเมินเบื้องต้นเพื่อเข้ารับการรักษาด้วยวิธีอุดเส้นเลือดด้วยรังสีนั้น มีผู้ป่วย 63 คนที่ขาดคุณสมบัติ ด้วยเหตุผลใดเหตุผลหนึ่งดังต่อไปนี้ (a) สภาพหลอดเลือดแดงที่ตับซึ่งไม่สามารถแก้ไขให้ดีขึ้นได้ และอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ (b) การที่ตับและปอดมีความเกี่ยวเนื่องกันมาก ซึ่งอาจทำให้ปอดทั้งสองข้างได้รับรังสีมากเกินไป (>30 Gy) หรือ (C) เหตุผลที่เกี่ยวกับการยินยอมของผู้ป่วย อาทิ การที่ผู้ป่วยต้องการรักษาด้วยวิธีอื่นมากกว่า เป็นต้น
“ผู้ป่วยที่ไม่เหมาะจะรักษาด้วยวิธีอุดเส้นเลือดด้วยรังสี จะถูกส่งตัวกลับไปรักษาด้วยวิธีปกติหรือได้รับการดูแลตามความเหมาะสมต่อไป” ศจ.เบสเตอร์ กล่าว “ผู้ป่วยกลุ่มนี้ไม่สามารถเป็นตัวแทนของผู้ป่วยที่เป็นโรคระยะลุกลามได้ แต่สามารถเป็นผู้ป่วยกลุ่มเปรียบเทียบที่ได้รับการรักษาตามมาตรฐาน”
เกี่ยวกับมะเร็งลำไส้ใหญ่
ในปี 2551 ผู้ป่วย 153,000 คนในสหรัฐอเมริกา และ 333,000 คนในสหภาพยุโรป ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่[4] ราวครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยเหล่านี้จะมีภาวะเซลล์มะเร็งแพร่กระจายจากจุดที่เกิดมะเร็งไปยังจุดอื่นๆ โดยเฉพาะตับ และผู้ป่วยราว 90% จะเสียชีวิตจากภาวะตับวาย อันเป็นผลมาจากการแพร่กระจายของมะเร็ง
อ้างอิง:
1. Saxena A, Chua TC, Meteling B et al. Radioembolization with yttrium-90 microspheres is associated with a significantly improved survival compared to conservative therapy after treatment of unresectable hepatic tumors: A large single center experience of 537 patients. 65th Annual Cancer Symposium of the Society of Surgical Oncology, Asia-Pacific Journal of Clinical Oncology 2012; 7 (Supplement s4): Abstract 212.
2. Hendlisz A, Van den Eynde M, Peeters M et al. Phase III trial comparing protracted intravenous fluorouracil infusion alone or with yttrium-90 resin microspheres radioembolization for liver-limited metastatic colorectal cancer refractory to standard chemotherapy. Journal of Clinical Oncology 2010; 28: 3687-3694.
3. Seidensticker R, Denecke T, Kraus P et al. Matched-pair comparison of radioembolization plus best supportive care versus best supportive care alone for chemotherapy refractory liver-dominant colorectal metastases. Cardiovascular and Interventional Radiology 2011; ePub doi: 10.1007/s00270-011-0234-7.
4. International Agency for Research on Cancer. GLOBOCAN 2008: Colorectal Cancer Incidence and Mortality Worldwide in 2008. http://globocan.iarc.fr/factsheets/cancers/colorectal.asp accessed 12/8/2011.
แหล่งข่าว: เซนต์วินเซนต์ ฮอสพิทอล ซิดนีย์ ลิมิเต็ด (St Vincent's Hospital Sydney Limited)