คาร์ลสแบด, นิวเม็กซิโก--30 พ.ค.--พีอาร์นิวส์ไวร์ — ยูเอสนิวส์ไวร์ / อินโฟเควสท์
กฎหมายใหม่จะทำให้บราซิลปลอดภัยขึ้นและช่วยชีวิตผู้คนจำนวนมาก
จายานน์ เซพพิช ผู้ก่อตั้งสมาคม DNASaves (www.dnasaves.org) และเป็นแม่ของเคธี เซพพิช เหยื่อผู้ถูกฆาตกรรม กล่าวยกย่องประธานาธิบดีดิลมา รุสเซฟฟ์ และรัฐสภาบราซิล ที่ผ่านกฎหมายซึ่งบังคับให้ต้องเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอจากอาชญากรที่ถูกพิพากษาว่าผิดจริง เพื่อนำไปเก็บไว้ในฐานข้อมูลดีเอ็นเอแห่งชาติ โดยมิสเซพิคแสดงความยินดีที่บราซิลเป็นประเทศล่าสุดที่ผ่านกฎหมายดังกล่าว ฐานข้อมูลดีเอ็นเอจะช่วยจับคู่ข้อมูลอาชญากรกับหลักฐานจากอาชญากรรมรุนแรงที่ยังไขคดีไม่ได้ หลายประเทศที่มีโครงการฐานข้อมูลดีเอ็นเอสามารถคลี่คลายคดีและป้องกันการก่ออาชญากรรมได้มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้ ประธานาธิบดีดิลมา รุสเซฟฟ์ ลงนามกฎหมายประวัติศาสตร์นี้เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2555
“ประชาชนชาวบราซิลสมควรได้รับการคุ้มครองด้วยเครื่องมือระบุเอกลักษณ์บุคคลที่แม่นยำที่สุดและเป็นไปตามบังคับของกฎหมาย โครงการฐานข้อมูลดีเอ็นเอจะช่วยให้บราซิลสามารถคลี่คลายคดีอาชญากรรมได้เร็วขึ้น สามารถป้องกันอาชญากรรมที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และช่วยชีวิตผู้คนได้มากมาย” มิสเซพพิช กล่าว
ผู้หนึ่งที่สนับสนุนการออกกฎหมายดังกล่าวคือวุฒิสมาชิกไซโร โนกูเอรา ซึ่งปรารถนาที่จะผ่านกฎหมายดังกล่าว หลังได้รับรู้ว่ากฎหมายนี้มีพลังอำนาจในการป้องกันการก่ออาชญากรรมรุนแรงทั่วบราซิล ในเดือนสิงหาคมปี 2554 วุฒิสมาชิกโนกูเอราได้นำสมาชิกของครอบครัวที่รอดชีวิตจากเงื้อมมือของฆาตกรต่อเนื่องมาร์โค ตริกูเอโร มาเยี่ยมเยือนผู้นำรัฐสภาในกรุงบราซิเลียเพื่อสนับสนุนกฎหมายดังกล่าว ทั้งนี้ ในปี 2552 ตริกูเอโรทำให้เมืองเบโล ฮอริซอนเต้ ตกอยู่ภายใต้ความหวาดกลัว ด้วยการสังหารโหดหญิงสาวภึง 5 คน “การฆาตกรรมเกือบทุกครั้งในเบโล ฮอริซอนเต้ สามารถป้องกันได้ หากกฎหมายนี้มีการบังคับใช้ ผมภูมิใจที่ครอบครัวเหล่านี้เดินทางมายังกรุงบราซิเลียและบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นอย่างกล้าหาญ และผมภูมิใจในเพื่อนสมาชิกรัฐสภาที่โหวตผ่านกฎหมายนี้และทำให้บราซิลเป็นประเทศที่มีความปลอดภัยมากขึ้น” วุฒิสมาชิกโนกูเอรา กล่าว
บราซิลเป็นประเทศที่ 56 ที่ผ่านกฎหมายฐานข้อมูลดีเอ็นเอ และเป็นประเทศที่ 3 ใน อเมริกาใต้ (ชิลีผ่านกฎหมายปี 2550 และอุรุกวัยปี 2553) “ด้วยจำนวนประชากรเกือบ 200 ล้านคน และแล็บตรวจดีเอ็นเอจากอาชญากรรมที่แข็งแกร่ง บราซิลจะเป็นฐานข้อมูลดีเอ็นเอที่ใหญ่ที่สุดในละตินอเมริกา และใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก” ทิม เชลล์เบิร์ก ประธานบริษัท Gordon Thomas Honeywell Governmental Affairs ซึ่งให้คำปรึกษาด้านนโยบายและกฎหมายดีเอ็นเอทั่วโลก กล่าว ทั้งนี้ เชลล์เบิร์กคาดการณ์ว่ากฎหมายใหม่ของบราซิลจะทำให้ประเทศอื่นทั่วละตินอเมริกาตื่นตัวในเรื่องนี้ “บราซิลมีอิทธิพลอย่างมากในละตินอเมริกา ประเทศอื่นในละตินอเมริกาจับตาดูตลอดว่าบราซิลจะทำอะไร”