กรุงเทพฯ, 8 ก.ค. -- พีอาร์นิวส์ไวร์
“ปฏิญาณเพื่อเข้าถึงการรักษาโรคเอดส์”
นอกจากจะร่วมเดินขบวนประท้วงระหว่างการประชุมนานาชาติเรื่องโรคเอดส์แล้ว กลุ่มผู้สนับสนุนการทำงานด้านโรคเอดส์ยังจะเรียกร้องบริษัทผู้ผลิตยา และผู้เกี่ยวข้อง ให้ร่วมลงนามในปฏิญาณ เพื่อยกเลิกการบังคับใช้ สิทธิบัตรยาในประเทศยากจนด้วย
ในการประชุมนานาชาติเรื่องโรคเอดส์ ครั้งที่ 15 ซึ่งจะเริ่มต้นขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 11 ก.ค. นี้ กลุ่มผู้สนับสนุนจากมูลนิธิดูแลสุขภาพเอดส์ (AIDS Healthcare Foundation -- AHF) องค์กรเกี่ยวกับโรคเอดส์ที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเปิดคลินิกให้บริการรักษาผู้ป่วยในสหรัฐอเมริกา แอฟริกา และอเมริกากลาง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ได้จัดงานแถลงข่าว ที่กรุงเทพฯ ในวันนี้ เพื่อเปิดเผยแผนการสนับสนุน การทำกิจกรรม และการประท้วง ตลอดสัปดาห์ที่มีการจัดงาน เพื่อย้ำให้เห็นถึงความจำเป็นในการใช้ยาต้านไวรัส (ARV) กับผู้ติดเชื้อทั่วโลก
ในงานแถลงข่าว AHF ประกาศว่า จะเดินขบวนประท้วงร่วมกับนักเคลื่อนไหวเกี่ยวกับโรคเอดส์ จากเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอดส์ของไทย (Thai Network of People Living with HIV/AIDS -- TNP+) และกลุ่มผู้สนับสนุนจากทั่วโลก ในช่วงบ่าย ของวันอาทิตย์ที่ 11 ก.ค. ก่อนพิธีเปิดการประชุมจะเริ่มขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเรียกร้องความรับผิดชอบ และการดำเนินการเพื่อเข้าถึงการรักษา ตามหัวข้อการประชุมที่ว่า “การเข้าถึงการรักษา การดูแล การป้องกันในเรื่องโรคเอดส์” (Access for All)
ทั้งนี้ ระหว่างการประชุมเอดส์โลก ที่กรุงบาร์เซโลนา เมื่อ 2 ปีก่อน AHF และ AIDS Therapeutic Treatment Now (ATTN) ซึ่งเป็นคณะทำงานเกี่ยวกับโรคเอดส์ในระดับนานาชาติ ร่วมกันเป็นหัวหอกสำคัญในการจัดการประชุมที่มีหัวข้อว่า “March for Life” โดยในครั้งนั้นได้มีการประกาศ “ปฏิญาณบาร์เซโลนา” ซึ่งเรียกร้องให้มีการระดมทุนและการเข้าถึงการักษา สำหรับผู้ติดเชื้อ 2 ล้านคน ในประเทศกำลังพัฒนา
สำหรับการประชุมที่กรุงเทพฯ ในครั้งนี้ กลุ่มผู้ทำงานด้านโรคเอดส์ ของ AHF และกลุ่มผู้สนับสนุนจาก ATTN จะร่วมกัน ประกาศ “ปฏิญญาเพื่อเข้าถึงการรักษาโรคเอดส์” (Treatment Access Pledge) อย่างเป็นทางการ
เทอร์รี่ ฟอร์ด (Terri Ford) ผู้อำนวยการของ AHF และหนึ่งในสมาชิกของ ATTN กล่าวว่า “ในปี พ.ศ. 2545 เราได้ประกาศ “ปฏิญญาบาร์เซโลนา” เพื่อเรียกร้องให้มีการระดมทุน และการเข้าถึงการใช้ยาต้านไวรัส ARV เพื่อรักษาชีวิตของผู้ติดเชื้อ 2 ล้านคน ในประเทศกำลังพัฒนา”
“ส่วนในการประชุมที่กรุงเทพฯ ปีนี้ เราจะประกาศ “ปฏิญญาเพื่อเข้าถึงการรักษาโรคเอดส์” เพื่อเรียกร้องผู้เข้าร่วมการประชุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ผลิตยารักษาโรคเอดส์ ให้ร่วมกันปฏิบัติตามหัวข้อ “Access for All” ซึ่งเป็นหัวข้อการประชุมในปีนี้”
“โดยตลอดการประชุม เราจะค้นหาบริษัทด้านเวชภัณฑ์ที่จะร่วมลงนาม และยอมรับ “Treatment Access Pledge” รวมถึงข้อเสนอให้ยกเลิกการบังคับใช้ สิทธิบัตรยาในประเทศยากจน เพื่อที่ผู้ติดเชื้อเหล่านั้นจะได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสได้”
สำหรับเนื้อหาของ “ปฏิญญาเพื่อการรักษาโรคเอดส์” ในการประชุมที่กรุงเทพฯ สามารถแบ่งเป็นหัวข้อได้ดังนี้
1.) ประเทศร่ำรวยทุกประเทศควรให้คำมั่นว่าจะช่วยเรื่องยารักษาโรคเอดส์แก่ประเทศยากจน
2.) ผู้ผลิตยาทุกบริษัทควรให้คำมั่นว่าจะยกเลิกการปกป้องสิทธิบัตรยาในประเทศกำลังพัฒนา
3.) ประเทศยากจนทุกประเทศควรให้คำมั่นว่าจะกำจัดอุปสรรคต่างๆ ในการรักษาโรคเอดส์
4.) องค์การอนามัยโลก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้คำมั่นว่าจะดำรงมาตรฐานการรักษาโรคเอดส์ทั่วโลก
AHF จะให้การสนับสนุนนักเคลื่อนไหวชาวไทย ว่าด้วยข้อตกลงเสรีทางการค้าระหว่างไทยและสหรัฐฯ
โดยในวันนี้ AHF ยังได้ประกาศคัดค้านประเด็นสิทธิบัตรยา ซึ่งรวมอยู่ในข้อตกลงการเปิดเสรีทางการค้า ระหว่างไทยและสหรัฐฯ ที่ยังอยู่ในขั้นตอนการเจรจาด้วย
ฟอร์ด กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “อุตสาหกรรมเวชภัณฑ์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่สามารถสร้างกำไรได้มากที่สุดในโลก ไม่จำเป็นต้องได้รับการปกป้องสิทธิบัตรเพิ่มเติม นอกจากนี้ การปกป้องสิทธิบัตรจะเป็นตัวขัดขวางและจำกัดไม่ให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาด้วยยาได้”
AHF และผู้สนับสนุนการทำงานด้านเอดส์ จะกดดันสหรัฐฯ ให้เพิ่มรายชื่อประเทศในเอเชียที่มีสิทธิได้รับประโยชน์จากกองทุน PEPFAR
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (เพียงหนึ่งสัปดาห์ ก่อนที่สื่อทั่วโลกจะหันมาให้ความสนใจกับการประชุมนานาชาติเรื่องโรคเอดส์ ครั้งที่ 15 ในกรุงเทพฯ) เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลสหรัฐฯ เพิ่งประกาศให้ เวียดนาม เป็นประเทศที่ 15 และเป็นประเทศแรกในเอเชีย ที่ได้รับสิทธิให้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของกองทุนแผนเร่งด่วนของประธานาธิบดีในการบรรเทาโรคเอดส์ (President Emergency Plan for AIDS Relief -- PEPFAR) ของประธานาธิบดีบุช ที่มีมูลค่า 1.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ยังคงห่างไกลจากเป้าหมายของโครงการที่จะทำให้ผู้ติดเชื้อ 500,000 คน ในประเทศกำลังพัฒนา ได้รับการยาต้านไวรัส ARV ก่อนเดือนกันยายน 2547 ทั้งนี้ จากการเปิดเผยของมูลนิธิตระกูลไคเซอร์ (Kaiser Family Foundation) พบว่า จนถึงขณะนี้ มีประชากรน้อยกว่า 1,300 คนทั่วโลก ที่ได้รับการรักษาด้วย ARV ผ่านทางกองทุน PEPFAR
ในขณะที่ AHF ซึ่งเป็นผู้ให้บริการทางการแพทย์โดยไม่หวังผลกำไร ด้วยการเปิดคลินิกในแอฟริกาใต้ อูกันดา และฮอนดูรัส ได้รักษาผู้ป่วยในประเทศกำลังพัฒนาไปแล้ว 2,000 ราย จนถึงขณะนี้ โดยกระทำผ่านโครงการ AHF Global Immunity ซึ่งไม่ได้รับการช่วยเหลือจาก PEPFAR แม้แต่น้อย
ไมเคิล ไวน์สไตน์ (Michael Weinstein) ประธานมูลนิธิ AHF กล่าวในแถลงการณ์ที่ลอสแอเจลิส ก่อนที่จะเดินทางมาร่วมการประชุม ว่า “เราไม่สามารถยอมรับได้ที่มีประเทศเอเชียเพียงประเทศเดียวที่ได้รับความช่วยเหลือจาก กองทุน PEPFAR”
“โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อประเทศต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น ไทย ต้องการความช่วยเหลือดังกล่าวอย่างมาก เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 312,000 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีน้อยกว่า 50,000 คน ที่ได้รับการรักษา นอกจากนี้ไทยยังมีโครงสร้างพื้นฐานและการตัดสินใจที่จะเพิ่มระดับความช่วยเหลือด้านการรักษาที่รวดเร็ว ทั้งนี้ กองทุนอเมริกันที่มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาโรคเอดส์ อาทิ PEPFAR ต้องพิจารณาประเทศอื่นๆ นอกเหนือไปจากแค่ 15 ประเทศ เพื่อที่จะได้บรรลุเป้าหมาย “ACCESS for ALL” อย่างแท้จริง”
ที่มา: Aids Healthcare Foundation
ติดต่อ: Ged Kenslea
ผู้อำนายการฝ่ายการสื่อสารประชาสัมพันธ์มูลนิธิ AHF
โทร. +1-323-860-5225 หรือ (มือถือ) +1-323-721-5526
หรือ ที่กรุงเทพฯ โทร. +66 (0) 1.250.0551
ภาพข่าวนิวส์คอม: http://www.newscom.com/cgi-bin/prnh/20030429/AHFLOGO
ภาพข่าวเอพี: http://photoarchive.ap.org
ภาพข่าวพีอาร์เอ็น: photodesk@prnewswire.com
--เผยแพร่โดย เอเชียเน็ท (www.asianetnews.net)--
--อินโฟเควสท์ (ปป)--