สต็อกโฮล์ม--3 ก.ย.--พีอาร์นิวส์ไวร์/ อินโฟเควสท์
การประชุมสัปดาห์น้ำโลกประจำปี 2555 (2012 World Water Week) ณ กรุงสต็อกโฮล์มสิ้นสุดลงแล้วในวันนี้ด้วย “วิสัยทัศน์”จากมุมมองของนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำ เกี่ยวกับเรื่องสิ่งสำคัญที่ต้องเตรียมการตั้งแต่ ณ ขณะนี้ เพื่อบรรลุเป้าหมายความมั่นคงด้านอาหารและน้ำภายในปี 2593
การประชุมสัปดาห์น้ำโลกที่จัดขึ้นในกรุงสต็อกโฮล์ม เป็นการประชุมประจำปีระดับชั้นนำว่าด้วยประเด็นร้อนระดับโลกซึ่งเกี่ยวข้องกับน้ำ ในปีนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 2,500 คนได้หารือกันภายใต้หัวข้อหลัก “ความมั่นคงด้านอาหารและน้ำ” วิสัยทัศน์ของคนรุ่นใหม่ได้รับการพัฒนาขึ้นโดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญวัยหนุ่มสาว ผู้ได้ทำการสัมภาษณ์บรรดาผู้เข้าร่วมการประชุมสัปดาห์น้ำโลก และผ่านการรวบรวมข้อมูลบนสื่อทางสังคมจากผู้ที่ติดตามการประชุมจากทางไกล
คณะทำงานเก็บข้อมูลนี้มีหน้าที่รวบรวม “วิสัยทัศน์ของผู้เชี่ยวชาญรุ่นใหม่” จากการสำรวจความคิดเห็น, คำแนะนำ และมุมมองต่าง ๆ มีต่อแนวทางการรับมือความท้าทายด้านอาหาร, น้ำ และพลังงานในปัจจุบันของผู้เข้าร่วมประชุมในกว่า 100 วาระการประชุมที่จัดขึ้นในช่วงสัปดาห์ของการประชุมดังกล่าว
ข้อมูลต่อไปนี้ คือ ข้อมูลที่รวบรวมได้จาก “วิสัยทัศน์ของผู้เชี่ยวชาญรุ่นใหม่”
โลกในปี 2593 เป็นโลกที่
- เราทุกคนสามารถเข้าถึงสุขอนามัยที่ดี, อาหารและน้ำที่ปลอดภัย, สุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่ที่สมบูรณ์แข็งแรงได้อย่างเท่าเทียมกัน
- เรามีระบบนิเวศน์ที่สมบูรณ์
- มีความร่วมมือกันในการตัดสินใจระหว่างกลุ่มผู้ถือผลประโยชน์ เช่น ภาครัฐและภาคธุรกิจ รวมไปถึงกลุ่มคนที่ถูกละเลย เช่น ผู้หญิง, เยาวชน และชนพื้นเมือง
- เรามองการณ์ไกลกว่าปัจจุบัน
- เรามีพลเมืองเชิงรุกที่มีความเชี่ยวชาญและความตระหนักรู้ถึงคุณค่าของอาหารและน้ำ และรู้จักใช้ทรัพยากรต่าง ๆ อย่างชาญฉลาด
- มีความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้
- เรามีความร่วมมือที่ตั้งอยู่บนกลุ่มผู้ถือผลประโยชน์ที่เชื่อถือได้และเห็นความสำคัญของการพึ่งพาอาศัยกัน
อย่างไรก็ตาม เรายังคงอาศัยอยู่บนโลกที่
- ผู้คน 2.6 พันล้านคนขาดสุขอนามัยที่ดี
- ผู้คนประมาณ 800 ล้านคนขาดแคลนน้ำดื่มที่ปลอดภัย
- ผู้คน 1 พันล้านคนเข้านอนด้วยความหิวโหย
- ผู้คน 3 พันล้านคนขาดสารอาหาร
- 60% ของบริการด้านระบบนิเวศน์กำลังเสื่อมสภาพลงเรื่อย ๆ
- ผู้คน 1 พันล้านคนป่วยเป็นโรคอ้วน
- ประมาณ 30%-50% ของปริมาณอาหารที่ผลิตขึ้นนั้น ถูกเหลือทิ้ง
เส้นทางสู่เป้าหมายนั้น ควรจะได้รับแรงสนับสนุนจาก
- การเพิ่มการลงทุนในเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน
- โภชนาการที่ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่ามากยิ่งขึ้น
- การส่งเสริมความยั่งยืนมากขึ้น
- การลดปริมาณอาหารเหลือทิ้ง
- การส่งเสริมมาตรการต่าง ๆ เช่น กลไกการจูงใจ, เอกภาพเชิงนโยบายและเป้าหมายของสถาบัน และการเสริมสร้างความแข็งแกร่ง
- การปรับตัว ดัดแปลงให้เหมาะสม
- การเข้าใจความเชื่อมโยงระหว่างน้ำ พลังงาน และอาหาร
- การปรับใช้มุมมองต้นแบบธุรกิจในโครงการการพัฒนาต่าง ๆ
- การพัฒนาการฟื้นฟูทรัพยากร และการนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่
- การสร้างชุมชนต่าง ๆให้แข็งแกร่ง
- การส่งเสริมตลาดการค้าที่ยุติธรรมมากขึ้น
- การเรียนรู้จากข้อผิดพลาดและความสำเร็จของเรา
เว็บไซต์ http://www.worldwaterweek.org/media
แหล่งข่าว: สถาบันน้ำสากลแห่งสต็อกโฮล์ม