การขยายธุรกิจผ่านกลยุทธ์ M&A กำลังตีบตัน เพราะแนวคิดเกี่ยวกับกระบวนการ M&A ขาดความต่อเนื่อง

ข่าวต่างประเทศ Tuesday October 16, 2012 09:37 —ข่าวประชาสัมพันธ์พีอาร์นิวส์ไวร์

ลอนดอน--16 ต.ค.--พีอาร์นิวส์ไวร์ / อินโฟเควสท์ - การศึกษาระดับโลกครั้งใหม่โดยเอเวอร์เฉดส์เผยให้เห็นว่า การตรวจสอบสถานะของข้อตกลงยังให้ความสำคัญกับการรวมกิจการหลังทำข้อตกลงไม่มากพอ - เมื่อผ่านการทำข้อตกลงไปแล้ว มีการให้ความสำคัญกับเหตุการณ์หลังการรวมกิจการน้อยมากหรือแทบไม่มี ซึ่งเป็นผลเสียต่อผลประโยชน์และมูลค่าของการควบรวมและซื้อกิจการข้ามประเทศ - กระบวนการภายในองค์กรเป็นต้นเหตุของปัญหาพอๆกับปัจจัยต่างๆจากภายนอก ธุรกิจทั่วโลกยังไม่เข้าถึงศักยภาพที่แท้จริงของการขยายธุรกิจด้วยการควบรวมและซื้อกิจการ (M&A) ข้ามประเทศ เนื่องจากกระบวนการทำข้อตกลงยังมีจุดอ่อนหลายอย่าง การศึกษาระดับโลกครั้งใหม่ในหัวข้อ The M&A Blueprint: Inception to Integration ซึ่งเผยแพร่ในวันนี้โดยบริษัทกฎหมายระดับโลกนามเอเวอร์เฉดส์ (Eversheds) ระบุว่า คณะผู้ทำข้อตกลงต้องมีวิธีการทำงานที่สมบูรณ์กว่านี้ ขณะเดียวกันขั้นตอนการวางแผน การบรรลุเป้าหมาย และการรวมกิจการหลังทำข้อตกลง ต้องมีความต่อเนื่องและเชื่อมโยงกันอย่างแข็งแกร่งกว่านี้ การศึกษาครั้งนี้รวบรวมข้อมูลจากผู้ประกอบธุรกิจข้ามชาติ 400 ราย* ที่มีการทำข้อตกลงควบรวมและซื้อกิจการข้ามประเทศในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งผลปรากฏว่าผู้ประกอบธุรกิจเกือบครึ่งหนึ่ง (43%) เชื่อว่าเหตุผลสำคัญที่ทำให้การทำข้อตกลงไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้คือ ความล้มเหลวในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับการรวมกิจการหลังทำข้อตกลงตั้งแต่ช่วงแรกๆที่มีการตรวจสอบสถานะของข้อตกลง รายงานยังเผยด้วยว่า ผู้ประกอบธุรกิจให้ความสำคัญกับประเด็นความเสี่ยงด้านกฎหมายมากขึ้นในการพิจารณาข้อตกลง โดยในขั้นตอนนี้ที่ปรึกษาทางกฎหมายจะให้ข้อมูลที่จำเป็น ซึ่งผู้ตอบแบบสอบถามเกินครึ่ง (59%) เผยว่าพบปัญหาที่อาจสร้างความเสียหายได้ทัน และสามารถเตือนผู้บริหารถึงความเสี่ยงในการเดินหน้าทำข้อตกลงต่อไป รายงานฉบับนี้เน้นย้ำว่าผู้ซื้อที่มีประสบการณ์น้อยมักมองว่ากระบวนการนี้ยุ่งยาก แต่แท้จริงแล้วแม้แต่ผู้ที่มีความรู้เต็มเปี่ยมก็ยังเชื่อว่าต้องมีการพัฒนาความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้อีก โรบิน จอห์นสัน (Robin Johnson) หุ้นส่วนด้านการควบรวมและซื้อกิจการของเอเวอร์เฉดส์ กล่าวว่า “สภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันทำให้การทำข้อตกลงต่างๆยากยิ่งกว่าเดิม ดูได้จากผลวิจัยที่แสดงให้เห็นว่ามีความระมัดระวังมากขึ้นอย่างฉับพลันเรื่องความเสี่ยงในกระบวนการ อย่างไรก็ดี คณะกรรมการบริหารบริษัทถูกกดดันให้ต้องขยายธุรกิจ ซึ่งการควบรวมและซื้อกิจการก็เป็นเครื่องมือทางธุรกิจที่สำคัญสำหรับการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว โดยเฉพาะสำหรับองค์กรที่ต้องการรุกเข้าสู่หรือขยายธุรกิจในตลาดใหม่ๆทั่วโลก” “ผลวิจัยของเราแสดงให้เห็นว่า ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้การทำข้อตกลงข้ามประเทศประสบความสำเร็จคือ ทีมงานหลักซึ่งทำหน้าที่เป็น “เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน” ที่เชื่อมกระบวนการต่างๆทุกขั้นตอนเข้าด้วยกัน ตั้งแต่การเริ่มต้นทำข้อตกลงไปจนถึงหลังการรวมกิจการ ผู้ประกอบธุรกิจต้องเริ่มลากเส้นต่อจุดแต่ละจุดที่เชื่อมระหว่างขั้นตอนต่างๆในวงจรการทำข้อตกลง เพื่อปรับโฟกัสจาก “การทำข้อตกลง” เฉยๆ ไปเป็นการคิดถึงธุรกิจที่อยู่เหนือการทำข้อตกลง” “กว่า 3 ใน 4 ของข้อตกลงที่เอเวอร์เฉดส์ทำเป็นข้อตกลงข้ามประเทศ และเราแนะนำลูกค้าเสมอว่าให้ใช้วิธีบริหารวงจรชีวิตของข้อตกลง ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าสามารถมุ่งความสนใจไปที่การรวมกิจการหลังการทำข้อตกลงได้ และสามารถสร้างมูลค่าสูงสุดจากข้อตกลงได้ตั้งแต่เริ่มต้น” “ผลวิจัยของเรายังแสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบธุรกิจมากมายรู้ว่าตัวเองสามารถทำได้ดีกว่านี้ และต้องการเห็นการใช้แนวปฏิบัติที่ดีที่สุดในการทำธุรกิจแต่ละครั้งและทุกครั้ง ดังนั้นเราจึงนำเสนอปัจจัยสำคัญๆที่ผู้ประกอบธุรกิจระบุว่าเป็นแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดในกระบวนการทำข้อตกลงระหว่างประเทศ ผ่านการเผยแพร่รายงานฉบับนี้” รายงาน The M&A Blueprint: Inception to Integration กล่าวถึงพิมพ์เขียวที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการทำข้อตกลงข้ามประเทศ ตามคำบอกเล่าของบรรดาผู้ทำข้อตกลง ซึ่งประกอบไปด้วย 1. การเริ่มต้น - ตั้งแต่เริ่มต้น: 38% ของข้อตกลงที่คณะผู้ทำข้อตกลงปรึกษาหารือกันช้าเกินไปจะประสบปัญหาระหว่างการรวมกิจการ - สัญญาณเตือนล่วงหน้า: 59% ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดกล่าวว่า พบปัญหาที่อาจสร้างความเสียหายได้ทัน และสามารถแนะนำผู้บริหารว่าไม่ควรเดินหน้าทำข้อตกลงต่อไป 2. การวางแผนและการตรวจสอบสถานะ - ขั้นตอนสำคัญ: 43% ของผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ประสบความล้มเหลวในการสร้างมูลค่าจากการทำข้อตกลงทางธุรกิจคือ ความผิดพลาดที่หลีกเลี่ยงได้ในขั้นตอนการวางแผนและตรวจสอบสถานะ - การคิดแบบต่อเนื่อง: 70% ของผู้ตอบแบบสอบถามรู้สึกว่า การเชื่อมต่อขั้นตอนการตรวจสอบสถานะกับการวางแผนรวมกิจการเข้าด้วยกัน จะช่วยพัฒนากระบวนการทำข้อตกลงได้ 3. การทำข้อตกลง - สิ่งสำคัญที่สุด: สาเหตุสำคัญที่ทำให้ที่ปรึกษาทางกฎหมายต้องแนะนำไม่ให้เดินหน้าทำข้อตกลงต่อไป ได้แก่ ความไม่ชอบด้วยกฎหมาย/ระเบียบข้อบังคับ (45%) อาทิ การติดสินบน การแข่งขัน และการต่อต้านการผูกขาด และความกังวลในเชิงธุรกิจ (45%) อาทิ ราคาและการประเมินราคา ความเสี่ยงเกี่ยวกับการฟ้องร้องดำเนินคดี และต้นทุนการรวมกิจการ เป็นต้น 4. การรวมกิจการ - ประหยัดแบบผิดวิธี?: 83% ของผู้ตอบแบบสอบถามไม่ว่าจ้างนักกฎหมายจากภายนอกองค์กรระหว่างการรวมกิจการ แม้ทราบดีว่าจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม เหตุผลหลักเป็นเพราะต้นทุน - หลีกเลี่ยงการจับคู่ที่ไม่เหมาะสม: 26% ของผู้ตอบแบบสอบถามรู้สึกว่า ในระยะหลังประสบความล้มเหลวในการสร้างมูลค่าจากการซื้อและควบรวมกิจการข้ามประเทศเพราะจับคู่ผู้ทำข้อตกลงทางกฎหมายกับทีมบริหารธุรกิจวันต่อวันได้ไม่เหมาะสม นอกจากนั้นรายงานยังระบุว่า บริษัทต่างๆมีแนวโน้มว่าจะเผชิญปัญหาการรวมกิจการมากกว่าปกติ 2 เท่าครึ่ง หากคณะที่ปรึกษาทางกฎหมายในองค์กรเข้ามามีส่วนในกระบวนการช้าเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ไม่ค่อยมีประสบการณ์ในกระบวนการทำข้อตกลง โดยรายงานระบุว่า บริษัทที่คณะที่ปรึกษาทางกฎหมายในองค์กรมีประสบการณ์ทำข้อตกลงข้ามประเทศไม่ถึง 10 ครั้งภายในระยะเวลา 2 ปี มีแนวโน้มสูงกว่าที่จะเผชิญปัญหาในขั้นการรวมกิจการ นอกจากนั้นรายงานฉบับนี้ยังเปิดเผยว่า ปัจจุบันคำแนะนำทางกฎหมายทั้งจากภายในและภายนอกองค์กรมักมาช้าเกินไปและไม่ได้อยู่ในระดับกำหนดกลยุทธ์ ทั้งนี้ คำแนะนำทางกฎหมายที่เหมาะสมในทุกขั้นของวงจรการทำข้อตกลง เป็นสิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการควบรวมและซื้อกิจการ สามารถขอรับรายงานฉบับเต็มได้ทางอีเมล imogenlee@eversheds.com หมายเหตุถึงบรรณาธิการ * การวิจัยจัดทำขึ้นระหว่างเดือนพฤษภาคม 2555 ถึงเดือนกรกฎาคม 2555 กลุ่มตัวอย่างที่ตอบแบบสอบถามประกอบด้วยผู้มีหน้าที่ทำข้อตกลงในองค์กร 400 คนจาก 41 ประเทศ ซึ่งคนเหล่านี้รับผิดชอบเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการควบรวมและซื้อกิจการข้ามประเทศ และต้องเคยทำข้อตกลงควบรวมและซื้อกิจการข้ามประเทศมูลค่าเกิน 100 ล้านดอลลาร์อย่างน้อย 1 ครั้งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เกี่ยวกับ เอเวอร์เฉดส์ แอลแอลพี เอเวอร์เฉดส์ แอลแอลพี และสำนักงานในเครือที่ตั้งอยู่ทั่วโลก มีที่ปรึกษาด้านกฎหมายและธุรกิจกว่า 4,500 คน ที่คอยให้บริการทางกฎหมายที่มีคุณภาพสูงแก่ภาครัฐและเอกชนรวมถึงชุมชนทางธุรกิจและการเงิน บริษัทให้บริการทั้งหมดผ่านทางฐานการดำเนินงานที่ตั้งอยู่ทั่วโลก ทั้งนี้ เอเวอร์เฉดส์เกิดจากการผสมผสานความรู้และการเข้าถึงตลาดระดับท้องถิ่น กับความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง แหล่งทรัพยากร และความสามารถของบริษัทกฎหมายที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.eversheds.com แหล่งข่าว: เอเวอร์เฉดส์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ