วันมะเร็งโลก: เจนีวา, สวิตเซอร์แลนด์--4 ก.พ.--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์
เนื่องในวันมะเร็งโลก UICC และ IARC ได้เปิดเผยว่าการบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้จะส่งผลต่อชีวิตจริงอย่างไร
สมาพันธ์ควบคุมโรคมะเร็งสากล (Union for International Cancer Control: UICC) และสำนักงานวิจัยโรคมะเร็งสากล (International Agency for Research on Cancer: IARC) ประกาศว่า เราสามารถรักษา 1.5 ล้านชีวิตต่อปีที่สูญเสียไปเพราะโรคมะเร็งได้ หากมีการใช้มาตรการที่เด็ดขาดเพื่อบรรลุเป้าหมาย “25 ภายใน 25” ขององค์การอนามัยโลก (WHO) นั่นคือการลดอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรด้วยโรคไม่ติดต่อให้ได้ 25% ภายในปีค.ศ.2025[i]
ปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง 7.6 ล้านคนทั่วโลกทุกปี โดย 4 ล้านคนจากทั้งหมดเสียชีวิตก่อนวัยอันควร (อายุระหว่าง 30-69 ปี)[i] ดังนั้นหากไม่มีการใช้มาตรการเร่งด่วนเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคและเพื่อพัฒนาแนวทางปฏิบัติสำหรับจัดการกับโรค ภายในปีค.ศ.2025 ผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรด้วยมะเร็งจะเพิ่มขึ้นเป็น 6 ล้านคนต่อปี
“ราว 1.5 ล้านชีวิตต่อปีที่สูญเสียไปเพราะมะเร็งทั้งที่สามารถป้องกันได้ จะเป็นแรงกระตุ้นให้เราพยายามบรรลุเป้าหมาย “25 ภายใน 25” ขององค์การอนามัยโลก” ดร.คริสโตเฟอร์ ไวลด์ (Dr Christopher Wild) ผู้อำนวยการ IARC กล่าว “ตอนนี้ทั่วโลกจำเป็นต้องช่วยกันผลักดันให้เกิดการพัฒนานโยบายและการใช้แผนควบคุมโรคมะเร็งแห่งชาติที่ครอบคลุม และเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว เรามีหน้าที่ร่วมกันสนับสนุนประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางซึ่งกำลังรับมือกับการระบาดของโรคมะเร็งด้วยทรัพยากรที่มีไม่เพียงพอ”
1.5 ล้านชีวิตต่อปีที่สูญเสียไป คิดเป็นสัดส่วน 25% ของผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรด้วยโรคมะเร็งที่คาดว่าจะมีประมาณ 6 ล้านคนภายในปีค.ศ.2025 ซึ่งตัวเลข 6 ล้านคนนี้คาดคะเนจากจำนวนผู้ป่วยในปัจจุบันและวัยที่เพิ่มมากขึ้น[1]
เนื่องในวันมะเร็งโลก UICC และสมาชิกได้ออกมาเรียกร้องให้สาธารณชนและภาครัฐร่วมกันขจัดความเชื่อผิดๆและความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคมะเร็งภายใต้หัวข้อ “มะเร็ง-คุณรู้หรือไม่?” โดยบุคคลและชุมชนจะได้รับรู้เกี่ยวกับ “ความเข้าใจผิด” เกี่ยวกับโรคมะเร็งที่สำคัญ 4 ประการ และได้รับทราบ “ความจริง” ผ่านทางแอพพลิเคชั่น UICC World Cancer Day App ท่านสามารถดาวน์โหลดแอพและมีส่วนช่วยในการลดภาระอันเกิดจากโรคมะเร็งได้ที่ https://apps.facebook.com/world_cancer_day
1. ความเชื่อผิดๆ: มะเร็งเป็นแค่ปัญหาสุขภาพ
- ความจริง: มะเร็งไม่ใช่แค่ปัญหาสุขภาพ แต่เป็นปัญหาทางสังคม เศรษฐกิจ การพัฒนา และสิทธิมนุษยชนด้วย
2. ความเชื่อผิดๆ: มะเร็งเป็นโรคของคนมีอันจะกิน คนสูงอายุ และคนในประเทศพัฒนาแล้ว
- ความจริง: มะเร็งเป็นโรคระบาดทั่วโลก ส่งผลต่อคนทุกวัยและทุกสภาพสังคม-เศรษฐกิจ โดยประเทศกำลังพัฒนาต้องแบกรับภาระอย่างหนักเกินกว่าที่ควรจะเป็น
3. ความเชื่อผิดๆ: เป็นมะเร็งแล้วต้องตายสถานเดียว
- ความจริง: ปัจจุบันโรคมะเร็งหลายชนิดสามารถรักษาให้หายขาดได้ และอีกหลายชนิดสามารถเยียวยาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4. ความเชื่อผิดๆ: มะเร็งเป็นเรื่องของโชคชะตา
- ความจริง: หากใช้วิธีที่ถูกต้อง กรณีการเกิดมะเร็งอย่างน้อย 30% สามารถป้องกันได้โดยใช้องค์ความรู้ในปัจจุบัน
แครี่ อดัมส์ (Cary Adams) ซีอีโอของ UICC กล่าวว่า “เนื่องในวันมะเร็งโลกปีนี้ UICC รวมถึงสมาชิกและพันธมิตร ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายทั้งบุคคลและภาครัฐร่วมกันยืนหยัดต่อสู้กับความเชื่อผิดๆเกี่ยวกับโรคมะเร็ง หากมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้เกี่ยวกับโรคร้ายนี้ ภาครัฐสามารถพัฒนาแนวทางที่เหมาะสมในการลดอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรและบรรลุเป้าหมาย “25 ภายใน 25” ของ WHO ทั้งนี้ การบรรลุเป้าหมายตัวเลขตามที่ IARC และ UICC เปิดเผยในวันนี้ถือว่ามีค่าอย่างมาก เพราะตัวเลขผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรด้วยโรคมะเร็ง 1.5 ล้านคนต่อปีที่อาจรักษาไว้ได้นั้น เทียบเท่ากับประชากรในฟิลาเดลเฟีย โอ๊คแลนด์ บาร์เซโลนา หรือมาปูโต”
สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมต่อต้านโรคมะเร็งได้ที่ worldcancerday.org
เกี่ยวกับวันมะเร็งโลก
วันมะเร็งโลกตรงกับวันที่ 4 กุมภาพันธ์ของทุกปี และเป็นงานเดียวที่สมาพันธ์ UICC รวมถึงสมาชิก พันธมิตร และทั่วโลก จะได้มารวมตัวกันเพื่อต่อสู้กับโรคมะเร็งที่ระบาดไปทั่วโลก
ติดตามความเคลื่อนไหวของงานต่างๆได้ทางทวิตเตอร์ที่ http://twitter.com/UICC, #WorldCancerDay หรือทางเฟซบุ๊กที่ http://www.facebook.com/worldcancerday
เกี่ยวกับสมาพันธ์ควบคุมโรคมะเร็งสากล
สมาพันธ์ควบคุมโรคมะเร็งสากล (UICC) เป็นองค์กร NGO ที่อุทิศตนให้กับการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งทั่วโลก สามารถดูข้อมูลได้ที่ http://www.uicc.org
หมายเหตุ
1. การลดอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรให้ได้ 25% เป็นค่าเฉลี่ยจากการแบ่งสัดส่วนเท่าๆกันของของโรคไม่ติดต่อหลักๆทั้งหมด (โรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคปอดเรื้อรัง และโรคเบาหวาน) และไม่จำเป็นต้องบรรลุเป้าหมาย “25 ภายใน 25” เนื่องจากโรคหัวใจและหลอดเลือดอาจมีความก้าวหน้ามากกว่าโรคมะเร็ง เป็นต้น
i. GLOBOCAN - online resource. IARC. 2013.
แหล่งข่าว: สมาพันธ์ควบคุมโรคมะเร็งสากล (UICC) และสำนักงานวิจัยโรคมะเร็งสากล (IARC)