ผลการศึกษาใหม่เผยแนวทางจัดการกับโรคไม่ติดต่อในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง

ข่าวต่างประเทศ Monday February 4, 2013 15:01 —ข่าวประชาสัมพันธ์พีอาร์นิวส์ไวร์

เจนีวา--4 ก.พ.--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์ - รายงานของมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ระบุถึงช่องว่างในระบบการวิจัย นโยบาย และวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับโรคไม่ติดต่อ - ในการเสนอวิธีปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมและทางออกที่ยั่งยืนนั้น บรรดาผู้เชี่ยวชาญระบุว่าความร่วมมือระหว่างหลายภาคส่วนเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง - โครงการวิจัยอิสระหลายโครงการที่เกิดจากกรอบปฏิบัติการว่าด้วยโรคไม่ติดต่อของ IFPMA มุ่งเน้นไปที่การพัฒนานวัตกรรม การเข้าถึงและจ่ายค่ารักษาได้ การป้องกันและให้ความรู้ด้านสุขภาพ รวมถึงการสร้างความร่วมมือ วันนี้ สถาบันเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ สุขภาพโลก และองค์กรธุรกิจศึกษา (Institute for Applied Economics, Global Health and the Study of Business Enterprise) แห่งมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ได้เผยแพร่ชุดนโยบายซึ่งแนะนำวิธีปฏิบัติเพื่อยกระดับนโยบาย การวิจัย และที่สำคัญที่สุดคือการรักษาโรคไม่ติดต่อ การศึกษาครั้งนี้กำกับดูแลโดยสมาพันธ์นานาชาติของสมาคมและผู้ผลิตเภสัชภัณฑ์ (IFPMA) โรคไม่ติดต่อ 4 ประเภทหลัก ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคปอดเรื้อรัง และโรคเบาหวาน คร่าชีวิตประชากร 3 ใน 5 ของประชากรทั้งหมดทั่วโลก และเกือบ 80% ของการเสียชีวิตเพราะโรคไม่ติดต่อเกิดขึ้นในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง ด้วยอิทธิพลจากการประชุมระดับสูงขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อในปี 2554 คณะทำงานที่ประกอบด้วยนักวิชาการชั้นนำหลายท่าน[1] ได้สรุปแนวทางในหัวข้อ “การจัดการกับช่องว่างในนโยบายและการวิจัยโรคไม่ติดต่อทั่วโลก” ซึ่งเสนอแนวปฏิบัติที่สำคัญ 5 ประการให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจได้พิจารณา ดังนี้ 1) การเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับห่วงโซ่อุปทาน 2) การเร่งสร้างความสอดคล้องด้านกฎระเบียบ 3) การให้ความรู้เรื่องเอชไอวี/เอดส์ เพื่อยกระดับการเข้าถึงการรักษา 4) การปรับโครงสร้างการรักษาขั้นพื้นฐาน และ 5) การส่งเสริมการทำงานร่วมกันในหลายภาคส่วน “เราใช้แนวทางในปฏิญญาทางการเมืองว่าด้วยโรคไม่ติดต่อที่เสนอโดยประเทศสมาชิกยูเอ็นเป็นจุดเริ่มต้นของการลงมือปฏิบัติ” Sir George Alleyne อดีตผู้อำนวยการองค์การอนามัยภูมิภาคอเมริกา (PAHO) และหนึ่งในผู้เขียนแนวทางข้างต้น กล่าว “งานของเราซึ่งอ้างอิงจากแนวทางนี้จะช่วยปูทางสู่ผลลัพธ์ทางสุขภาพที่ดีขึ้น ผ่านการสร้างความร่วมมือในหลายภาคส่วนและระหว่างภาคส่วนต่างๆ” Eduardo Pisani ผู้อำนวยการทั่วไปของ IFPMA กล่าวว่า “อุตสาหกรรมเภสัชกรรมที่ใช้การวิจัยเป็นฐานกำหนดแนวทางนี้เพื่อสร้างแนวคิดต่างๆ ซึ่งเราหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการหารือขององค์การอนามัยโลก (WHO) และจะเป็นการเปิดทางให้อุตสาหกรรมของเราพร้อมที่สุดสำหรับการรับบทบาทร่วมกับผู้อื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้อง” สามารถดูนโยบายของจอห์น ฮอปกินส์ ได้ที่ http://www.ifpma.org/fileadmin/content/Publication/2013/Johns_Hopkins_Addressing_the_Gaps_in_Global_Policy_and_Research_for_NCDs.pdf หมายเหตุ 1. ผู้เขียนประกอบด้วย Brian White-Guay, Lisa Smith, PrashantYadav, SoerenMattke, Margaret Kruk, Felicia Knaul, Gustavo Nigenda, Sir George Alleyne และ SaniaNishtar โดยมี Jeffrey L.Sturchio และ Louis Galambos เป็นบรรณาธิการ เกี่ยวกับ IFPMA IFPMA เป็นตัวแทนของสมาคมและบริษัทเภสัชกรรมที่ใช้การวิจัยเป็นฐานทั่วโลก อุตสาหกรรมเภสัชกรรมที่ใช้การวิจัยเป็นฐานมีพนักงานรวม 1.3 ล้านคนซึ่งทำหน้าที่วิจัย พัฒนา รวมถึงจัดหายาและวัคซีนที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยทั่วโลก IFPMA ซึ่งอยู่ในนครเจนีวา มีความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับองค์การสหประชาชาติ และนำเสนอความรู้ความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมเพื่อช่วยให้ชุมชนสุขภาพทั่วโลกได้พบทางออกที่จะช่วยยกระดับสุขภาพทั่วโลก แหล่งข่าว: สมาพันธ์นานาชาติของสมาคมและผู้ผลิตเภสัชภัณฑ์ (IFPMA)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ