ASIANET: อีริคสันถอนฟ้องควอลคอมม์ข้อหาละเมิดสิทธิบัตร

ข่าวต่างประเทศ Wednesday October 21, 1998 14:09 —Asianet Press Release

ซานดิเอโก--21 ต.ค.--สำนักข่าวพีอาร์นิวส์ไวร์-เอเชียเน็ท
บริษัทควอลคอมม์ อินคอร์ปอเรเต็ด ได้ประกาศเมื่อวานนี้ว่า บริษัทอีริคสัน อิงค์ และบริษัท Telefonaktiebolaget LM Ericsson ซึ่งเป็นบริษัทแม่ในสวีเดน ได้ยกเลิกข้อกล่าวหาทุกข้อที่มีต่อบริษัทควอลคอมม์ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิบัตร 3 ฉบับตามที่ได้ฟ้องร้องไว้กับศาลเมืองมาร์แชลล์ รัฐเท็กซัส นอกจากนี้ ในเอกสารที่ยื่นต่อสำนักงานเครื่องหมายการค้าและสิทธิบัตรแห่งสหรัฐ บริษัทอีริคสันได้ยอมรับว่าข้อกล่าวหาต่อบริษัทควอลคอมม์เกี่ยวกับสิทธิบัตรอีก 2 ฉบับนั้นเป็นโมฆะ และยอมยกเลิกสิทธิบัตร 2 ฉบับนั้น ทั้งนี้ สิทธิบัตรทั้ง 5 ฉบับนี้เป็นส่วนหนึ่งของสิทธิบัตร 8 ฉบับที่บริษัทอีริคสันได้ประกาศต่อวงการสื่อสารโทรคมนาคมมาหลายครั้งหลายหนนับตั้งแต่เดือนธ.ค.ปี 1995 ว่าเป็นสิทธิบัตร "blocking"หรือเป็นสิทธิบัตรที่จำเป็น ("essential") ในการผลิตหรือใช้ผลิตภัณฑ์เซลลูลาร์ตามแบบ IS-95 หรือตามมาตรฐาน cdmaOne (TM) อื่นๆ
ในเดือนธ.ค.ปี 1995 บริษัทอีริคสันได้แจ้งต่อสมาคมอุตสาหกรรมสื่อสารโทรคมนาคมและหน่วยงานอื่นๆ ว่า ทางบริษัทครอบครองสิทธิบัตรสำคัญ 8 ฉบับสำหรับ IS-95 ทางด้านบริษัทควอลคอมม์ได้ท้าทายการประกาศของทางอีริคสัน และทางอีริคสันได้ยื่นฟ้องบริษัทควอลคอมม์ในข้อหาละเมิดสิทธิบัตรที่ศาลเมืองมาร์แชลล์ รัฐเท็กซัสในเดือนก.ย.ปี 1996 ซึ่งส่งผลให้มีสิทธิบัตรถึง 11 ฉบับที่เข้ามาเกี่ยวข้องในคดีนี้
ทั้งนี้ บริษัทควอลคอมม์ได้ฟ้องกลับบริษัทอีริคสันในข้อหาด้านความไม่เป็นธรรมทางการแข่งขัน โดยได้ระบุในคำร้องที่ยื่นต่อศาลว่า "บริษัทอีริคสันจงใจยื่นฟ้องในข้อหาที่เป็นเท็จและไม่มีมูลความจริง ซึ่งรวมถึงการกล่าวอ้างว่าอีริคสันครอบครองหรือควบคุมสิทธิบัตรที่จำเป็นสำหรับการผลิต, การใช้ หรือการขายผลิตภัณฑ์ที่ใช้มาตรฐาน IS-95 ด้วยความตั้งใจว่าข้อกล่าวหาเท็จนี้จะลดความสามารถทางการแข่งขันของบริษัทควอลคอมม์และสร้างความเสียหายให้กับธุรกิจของบริษัทควอลคอมม์" การถอนฟ้องและการยกเลิกสิทธิบัตรที่จำเป็นส่วนใหญ่ของอีริคสันเป็นการยืนยันข้อกล่าวหาของควอลคอมม์ที่ว่า อีริคสันจงใจสร้างความเข้าใจผิดในแวดวงอุตสาหกรรม
นายหลุยส์ ลูแปง รองประธานระดับสูงและที่ปรึกษาด้านลิขสิทธิ์ของบริษัทควอลคอมม์กล่าวว่า "มาตรฐาน IS-95 ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงและสิทธิบัตรของอีริคสันยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงนับตั้งแต่อีริคสันประกาศต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกว่า สิทธิบัตรทั้ง 5 ฉบับนี้มีความจำเป็นต่อ IS-95 และเมื่อพิจารณาจากความจริงดังกล่าวแล้ว การกระทำและการยอมรับของอีริคสันในช่วงที่ผ่านมาสามารถยืนยันข้อกล่าวหาของบริษัทควอลคอมม์ที่ว่า อีริคสันได้อ้างสิทธิ์เหนือสิทธิบัตรจำเป็นดังกล่าวอย่างผิดพลาดและอย่างไม่เป็นความจริง"นอกจากนี้ นายลูแปงได้กล่าวเสริมว่า "การที่อีริคสันใช้เวลารอถึงกว่า 2 ปีกว่าจะถอนฟ้องข้อกล่าวนี้ เป็นการแสดงให้เห็นถึงแรงจูงใจของอีริคสัน เหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นว่าแถลงการณ์ของอีริคสันที่มีต่อแวดวงอุตสาหกรรมในเรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิบัตร CDMA นั้นเชื่อถือไม่ได้"
ในขณะที่สิทธิบัตร CDMA ของบริษัทควอลคอมม์ได้รับการยอมรับจากบริษัทโทรคมนาคมขนาดใหญ่กว่า 55 แห่งซึ่งได้จ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้กับบริษัทควอลคอมม์เพื่อซื้อใบอนุญาต ทางด้านบริษัทอีริคสันกลับยังไม่เคยประกาศว่าได้ขายลิขสิทธิ์ตามใบอนุญาตภายใต้สิทธิบัตรมาตรฐาน CDMA ไปให้บริษัทแห่งใดเลย นอกจากนี้ บริษัทอีริคสันยังไม่เคยระบุถึงสิทธิบัตรจำเป็นที่ทางบริษัทอ้างว่าครอบครองไว้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐาน CDMA รุ่นที่ 3 ด้วย ซึ่งรวมถึงข้อเสนอ W-CDMA ที่ทางบริษัทโฆษณาไว้ในยุโรป, ญี่ปุ่น และที่อื่น ๆ ถึงแม้ว่าสำนักงานกำหนดมาตรฐานบางแห่งได้ขอให้อีริคสันทำเช่นนั้นก็ตาม ดังนั้น จึงไม่เป็นที่น่าประหลาดใจแต่อย่างใดที่ข้อกล่าวอ้างของอีริคสันที่ว่าทางบริษัทครอบครองสิทธิบัตรจำเป็นของ CDMA เอาไว้ จึงไม่ได้รับการยอมรับถึงแม้ว่าอีริคสันได้ทำการข่มขู่และฟ้องร้องบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ CDMA ไว้ก็ตาม
ก่อนหน้านี้บริษัทอีริคสันได้ระบุไว้ในคำยื่นฟ้องต่อศาลเท็กซัสว่า สิทธิบัตร 3 ฉบับซึ่งได้แก่ U.S. Pat. Nos. 5,148,485, 5,239,557 และ 5,430,760 ที่เพิ่งถอนฟ้องไปนั้น ครอบคลุมลักษณะบางประการของผลิตภัณฑ์บริษัทควอลคอมม์ที่สอดคล้องกับ IS-95 และได้ระบุว่า สิทธิบัตรอีก 2 ฉบับ ซึ่งได้แก่ U.S. Pat. Nos. 5,109,528 และ 5,327,577 ที่เพิ่งยกเลิกไปนั้น ครอบคลุม "soft hand off" ที่สอดคล้องกับ IS-95 ทั้งนี้ อีริคสันได้ถอนสิทธิบัตร 3 ฉบับออกจากคดีก่อนที่ทางบริษัทจำต้องเปิดเผยในระหว่างกระบวนการชั้นศาลเกี่ยวการตีความของทางบริษัทในเรื่องความหมายและขอบเขตของข้อกล่าวหาละเมิดสิทธิบัตร และการถอนสิทธิบัตร 3 ฉบับนี้เกิดขึ้นในเวลาเพียงไม่กี่เดือนก่อนหน้าการพิจารณาคดีจะเริ่มต้นขึ้นในเดือนก.พ.ปีหน้า ทั้งนี้ บริษัทอีริคสันได้ยกเลิกสิทธิบัตรอีก 2 ฉบับและยอมรับความเป็นโมฆะในระหว่างการดำเนินกระบวนการของสำนักงานสิทธิบัตรสหรัฐ แต่ทางอีริคสันได้ยื่นเรื่องใหม่อีกครั้งต่อทางสำนักงานแห่งนี้พร้อมกับประกาศว่าข้อกล่าวหาใหม่นี้สามารถหลีกเลี่ยงปัญหาความเป็นโมฆะของข้อกล่าวหาที่ยกเลิกไปแล้ว นอกจากนี้ จนกระทั่งปัจจุบันบริษัทอีริคสันยังไม่ได้ถอนฟ้องข้อกล่าวหาที่มีต่อบริษัทควอลคอมม์ภายใต้สิทธิบัตรที่ยกเลิกไปแล้วในการดำเนินคดีของรัฐเท็กซัส
ทั้งนี้ ที่สำนักงานใหญ่ของบริษัทควอลคอมม์ในเมืองซานดิเอโก้นั้น ทางบริษัทควอลคอมม์ได้พัฒนา, ผลิต, จำหน่าย, ให้ใบอนุญาต และดำเนินการระบบการสื่อสารและผลิตภัณฑ์ที่ก้าวล้ำบนพื้นฐานของเทคโนโลยีไร้สายระบบดิจิตอลที่เป็นกรรมสิทธิ์ของทางบริษัท
สำหรับขอบเขตผลิตภัณฑ์หลักๆของบริษัทได้แก่ ระบบ OmniTRACS (R) ซึ่งเป็นระบบการสื่อสารเคลื่อนที่ผ่านดาวเทียมตามภูมิศาสตร์ซึ่งให้ข้อมูล 2 ทางและบริการรายงานตำแหน่ง, ระบบและผลิตภัณฑ์สื่อสารแบบไร้สายในระบบ CDMA, พัฒนาระบบ Globalstar (TM) ซึ่งเป็นระบบสื่อสารผ่านดาวเทียมแบบวงโคจรระดับต่ำ นอกเหนือจากนี้ ผลิตภัณฑ์ประเภทอื่นๆของบริษัทยังรวมถึง Eudora Pro (R) ซึ่งเป็นซอฟท์แวร์อิเล็คทรอนิค เมล์, ผลิตภัณฑ์ ASIC, และอุปกรณ์รวมทั้งระบบสื่อสารสำหรับรัฐบาลและลูกค้าพาณิชย์ทั่วโลก
สำหรับผู้ที่ต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีของควอลคอมม์นั้นสามารถเปิดดูได้ที่เว็บไซต์ของบริษัทที่ http://www.qualcomm.com
นอกเหนือจากจะประกอบไปด้วยข้อมูลทางด้านประวัติความเป็นมาของบริษัทแล้ว ข่าวประชาสัมพันธ์นี้ยังประกอบไปด้วยคาดการณ์แนวโน้ม ซึ่งจะขึ้นอยู่กับความเสี่ยงและความไม่แน่นอนต่างๆ ที่รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามระยะเวลา, ความสามารถของบริษัทที่จะผลิต CDMA หรืออุปกรณ์อื่นๆจำนวนมากได้ประสบผลสำเร็จตามระยะเวลาและได้รับผลกำไร รวมถึงความเสี่ยงและความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการรับประกันผลการดำเนินงาน, การเปลี่ยนแปลงภาวะเศรษฐกิจของตลาดต่างๆที่บริษัทให้บริการอยู่ รวมถึงความเสี่ยงอื่นๆ ที่ได้มีการระบุรายละเอียดในบางครั้งในรายงาน SEC ของทางบริษัท ซึ่งรวมถึงรายงานเกี่ยวกับ Form 10-K สำหรับปีงบการเงินที่สิ้นสุดลงในวันที่ 28 ก.ย.ปีที่ผ่านมา และรายงาน Form 10-Q ฉบับล่าสุดด้วย
ทั้งนี้ ควอลคอมม์, OmniTRACS และ Eudora Pro ต่างก็เป็นเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของควอลคอมม์ อินคอร์ปอเรเต็ด ส่วน Globalstar เป็นเครื่องหมายการค้าของบริษัทลอรัล ควอลคอมม์ แซทเทิลไลท์ เซอร์วิสเซส อินคอร์ปอเรเต็ด--จบ--
--บิสนิวส์แปลและเรียบเรียง-จพ/กช--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ