เรนเมทิกซ์ และ ไวเรนท์ เจ้าของรางวัล ICIS Innovation Award ร่วมกันพัฒนาบรรจุภัณฑ์ชีวภาพ

ข่าวต่างประเทศ Wednesday December 11, 2013 09:09 —ข่าวประชาสัมพันธ์พีอาร์นิวส์ไวร์

ลอนดอน--11 ธ.ค.--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์ - สร้างสรรค์สารเคมีที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ เพื่อทำให้พลาสติกชีวภาพมีราคาถูกลง บริษัท เรนเมทิกซ์ (Renmatix) และบริษัท ไวเรนท์ (Virent) เจ้าของรางวัล ICIS Innovation Award ซึ่งมีการมอบรางวัลที่กรุงลอนดอน ได้ประกาศความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ เพื่อเปลี่ยนแปลงน้ำตาลเซลลูโลสราคาถูกให้กลายเป็นสารเคมีและบรรจุภัณฑ์ชีวภาพที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เงื่อนไขของโครงการพัฒนาที่มีหลายขั้นนั้น ระบุว่า กรรมวิธี Plantrose(TM) ของเรนเมทิกซ์ จะถูกประเมินและพัฒนาอย่างเต็มประสิทธิภาพเพื่อผลิตน้ำตาลราคาถูกสำหรับนำไปใช้ในกระบวนการ Bioforming(R) ของไวเรนท์ เพื่อผลิตพาราไซลีนชีวภาพจำนวนมาก พาราไซลีนคือวัตถุดิบพื้นฐานที่ใช้ในการผลิตกรด PTA ซึ่งเป็นสารเคมีสำคัญที่ใช้ในการผลิตไฟเบอร์และขวดพลาสติก PET การผสมผสานกระบวนการแปรรูปวัตถุดิบกับการผลิตเชิงพาณิชย์ จะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มคุณภาพการใช้สารเคมีที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ เพื่อผลิตพลาสติกและบรรจุภัณฑ์ชีวภาพสำหรับสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าอุปโภคบริโภค กรรมวิธี Plantrose ของเรนเมทิกซ์ ได้รับรางวัลสุดยอดนวัตกรรมขององค์กรขนาดเล็กและขนาดกลางจาก ICIS กรรมวิธีนี้สามารถผลิตน้ำตาลเซลลูโลสราคาถูกซึ่งเป็นตัวกลางระหว่างชีวมูลต้นน้ำกับสารเคมีจากพืชพรรณปลายน้ำ น้ำตาล Plantro(R) C5 (ไซโลส) และ C6 (กลูโคส) ของเรนเมทิกซ์ ซึ่งเป็นทรัพยากรทดแทนวัสดุที่ผลิตจากน้ำมัน ได้ผลิตขึ้นโดยวิธีอันทันสมัยที่เรียกว่า supercritical hydrolysis โดยกรรมวิธี Plantrose ใช้วิธี supercritical hydrolysis ในการแทนที่สารเคมีและเอนไซม์ที่มีราคาแพงด้วยน้ำตาลเซลลูโลส ซึ่งจะช่วยแปลงวัตถุดิบทั่วโลกที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ให้กลายเป็นโครงสร้างทางชีวภาพที่สามารถนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์ประจำวันได้ ไม่ว่าจะเป็นสีทาบ้าน ผ้าอ้อมเด็ก ผงซักฟอก หรือขวด ตลอดจนบรรจุภัณฑ์พลาสติกอื่นๆ “ผลิตภัณฑ์จากทรัพยากรที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้กำลังเป็นที่ต้องการอย่างมาก และความต้องการนี้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากทั่วห่วงโซ่มูลค่า การได้รับรางวัลจาก ICIS ตอกย้ำว่า เทคโนโลยีที่ยั่งยืนซึ่งเคยเป็นเพียงเมล็ดพันธุ์ของการเปลี่ยนแปลง บัดนี้ได้เติบโตจนกลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในอุตสาหกรรมไปแล้ว” ไมค์ แฮมิลตัน ซีอีโอของเรนเมทิกซ์ กล่าว “การทำงานร่วมกับพันธมิตรที่มีความเหมาะสมอย่างไวเรนท์ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเดียวกันในการสร้างสรรค์โซลูชั่นที่มีความยืดหยุ่นสูงและราคาถูก ทำให้เราสามารถบุกเบิกห่วงโซ่มูลค่าทางชีวภาพที่จะตอบสนองความต้องการของตลาดได้” ผลิตภัณฑ์พาราไซลีนชีวภาพของไวเรนท์ ซึ่งใช้เครื่องหมายการค้า BioFormPX(TM) ได้รับรางวัลสุดยอดนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนจาก ICIS ในปีนี้ BioFormPX คือสารเคมีที่เหมือนกับพาราไซลีนที่ผลิตจากปิโตรเลียม ช่วยให้ผู้ผลิตสามารถผลิตฟิล์ม ไฟเบอร์ และบรรจุภัณฑ์พลาสติก PET ที่ทำจากวัสดุชีวภาพ 100% ได้ โดยไวเรนท์และโคคา-โคลา คอมพานี ได้พัฒนาความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ในปี 2554 เพื่อเร่งวางตลาดบรรจุภัณฑ์ PlantBottle(R) ซึ่งนำมารีไซเคิลและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ 100% “เราต้องการช่วยพัฒนาเทคโนโลยีพลาสติกชีวภาพ ซึ่งเราเชื่อว่ามีประโยชน์อย่างมหาศาลและมีความยั่งยืน” สก็อต วิทเทอร์ส ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายพัฒนานวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ PlantBottle ของโคคา-โคลา คอมพานี กล่าว “ศักยภาพที่เกิดจากการผสมผสานเทคโนโลยีผลิตน้ำตาลเซลลูโลสของเรนเมทิกซ์กับกระบวนการผลิตพาราไซลีนชีวภาพของไวเรนท์ เป็นหนทางอันสดใสที่จะทำให้เราบรรลุเป้าหมายในการผลิตบรรจุภัณฑ์ PlantBottle” “เทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งร่วมกันพัฒนาโดยแบรนด์ชั้นนำระดับโลก จะช่วยตอบสนองการเติบโตของตลาดผลิตภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้” ลี เอ็ดเวิร์ดส์ ซีอีโอของไวเรนท์ กล่าว “การประกาศความร่วมมือระหว่างไวเรนท์และเรนเมทิกซ์ เพื่อสนับสนุนแผนการผลิต PlantBottle ของโคคา-โคลา แสดงให้เห็นถึงอนาคตอันสดใสของวิสัยทัศน์นี้ เราจะร่วมกันเร่งผลิตสารเคมีที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ในปริมาณมากเพื่อการพาณิชย์ ด้วยการผสมผสานเทคโนโลยีระดับโลกของเราเข้าด้วยกัน เพื่อบรรลุเป้าหมายในการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพด้วยวัตถุดิบชีวมวลที่มีความยั่งยืน เรามีความยินดีและภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้รับรางวัลจาก ICIS พร้อมกับเรนเมทิกซ์ ในการประกาศรางวัลประจำปีนี้” เกี่ยวกับ เรนเมทิกซ์ เรนเมทิกซ์ เป็นบริษัทชั้นนำผู้ออกใบอนุญาตด้านเทคโนโลยีสำหรับการแปลงชีวมวลเป็นน้ำตาลเซลลูโลส ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ใช้สำหรับเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางเลือกที่ใช้ในตลาดเชื้อเพลิงชีวภาพและชีวเคมีทั่วโลก กรรมวิธี Plantrose(TM) ซึ่งเป็นลิขสิทธิ์ของบริษัทนั้น สร้างความท้าทายให้แก่ตลาดน้ำตาลด้วยการแปลงมวลชีวภาพที่มีเนื้อเยื่อที่ได้มาจากเศษไม้ไปจนถึงกากวัตถุดิบจากการเกษตรมาเป็นน้ำตาลราคาถูกและมีประสิทธิภาพด้วยกระบวนการที่มีต้นทุนต่ำ เทคโนโลยีการแยกสารสกัดด้วยของเหลวยิ่งยวดของเรนเมทิกซ์ช่วยแยกชีวมวลที่ไม่ใช่อาหารได้รวดเร็วกว่ากระบวนการอื่นๆเป็นอย่างมาก และยกระดับความได้เปรียบด้านต้นทุนด้วยการไม่ใช้วัสดุสิ้นเปลืองจำนวนมาก เรนเมทิกซ์เป็นบริษัทเอกชนที่ดำเนินกิจการในจอร์เจีย (สหรัฐ) ซึ่งปัจจุบันสามารถแปลงมวลชีวภาพที่มีเนื้อเยื่อแบบกากแห้งเป็นน้ำตาล Plantro(R) ได้ถึง 3 ตันต่อวัน และมีศูนย์เทคนิคระดับโลกที่เพนซิลวาเนีย (สหรัฐ) สามารถข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.renmatix.com เกี่ยวกับ ไวเรนท์ ไวเรนท์ กำลังพยายามหาพลังงานประเภทอื่นมาทดแทนน้ำมันดิบ ด้วยการสร้างสรรค์เชื้อเพลิงและสารเคมีที่โลกต้องการโดยใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติต่างๆ ซึ่งเป็นทรัพยากรที่นำกลับมาใช้ได้อีก บริษัทมีเทคโนโลยีเคมีเร่งปฏิกิริยาซึ่งสามารถเปลี่ยนวัสดุพืชพรรณให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เหมือนกับผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียม ซึ่งรวมถึงน้ำมันเบนซิน ดีเซล เชื้อเพลิงเครื่องบินเจ็ท รวมถึงสารเคมีต่างๆสำหรับผลิตพลาสติกและไฟเบอร์ ผลิตภัณฑ์เหล่านี้สามารถใช้แทนกันได้ ทำให้ขนส่งได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องกังวลว่าผลิตภัณฑ์จะผสมกัน การพัฒนาเทคโนโลยี BioForming(R) ของไวเรนท์ได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรหลายราย ได้แก่ คาร์กิลล์, โคคา-โคลา คัมพานี, ฮอนด้า และเชลล์ รวมถึงพนักงาน 80 คนในแมดิสัน รัฐวิสคอนซิน นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับเงินอุดหนุนจากกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงพลังงาน และกระทรวงเกษตรสหรัฐ รวมถึงได้รับรางวัลมาแล้วมากมาย เช่น รางวัล World Economic Forum Technology Pioneer award และรางวัล EPA's Presidential Green Chemistry Challenge Award กรุณาดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ www.Virent.com ติดต่อ เรนเมทิกซ์ ดันแคน ครอส กรรมการฝ่ายการตลาด โทร. +484 751 4006 อีเมล: Duncan.Cross@renmatix.com ฝ่ายสื่อมวลชนสัมพันธ์ แคโรไลน์ เวนซ่า MissionCTRL โทร. +415 601 9645 อีเมล: Caroline@missionCTRLcommunications.com ไวเรนท์ เดวิด ฮิทช์ค็อก รองประธานฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ โทร. +202 507 1316 อีเมล: David_Hitchcock@virent.com ฝ่ายสื่อมวลชนสัมพันธ์ เมแกน เวเบอร์ ผู้ช่วยผู้ประสานงานการตลาด โทร. +608-210-3368 อีเมล: Megan_Weber@virent.com แหล่งข่าว: เรนเมทิกซ์ และ ไวเรนท์
แท็ก พลาสติก   เคมี  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ