ไนโรบี, เคนยา--7 มี.ค.--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์
ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (IDRC) แห่งแคนาดา และสำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (DFID) แห่งสหราชอาณาจักร ประกาศคัดเลือกโครงการวิจัยร่วมจำนวน 4 โครงการ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อจัดการกับผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในแอฟริกาและเอเชีย โดยโครงการเหล่านี้จะได้รับเงินทุนสนับสนุนภายใต้โครงการความร่วมมือเพื่องานวิจัยด้านการปรับตัวในแอฟริกาและเอเชีย (CARIAA) ซึ่งเป็นโครงการวิจัยมูลค่า 70 ล้านดอลลาร์และใช้เวลา 7 ปี เพื่อแสวงหาแนวทางใหม่ในการทำความเข้าใจต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการปรับตัวของผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ประสบปัญหาในแอฟริกาและเอเชีย
โครงการ CARIAA ซึ่งแบ่งเป็นกลุ่มวิจัยร่วมระหว่างภูมิภาค 4 กลุ่ม จะให้ความสนใจไปยัง “ฮอตสปอต” 3 จุดทั่วโลก ได้แก่ พื้นที่กึ่งแห้งแล้งในแอฟริกา เอเชียใต้ และเอเชียกลาง, พื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำในแอฟริกาและเอเชียใต้ และลุ่มน้ำหิมาลายัน เพื่อผลักดันให้เกิดนโยบายและการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพในพื้นที่จริง โครงการดังกล่าวครอบคลุมการดำเนินงานในหลายประเทศ ภูมิภาค และภาคส่วนต่างๆ โดยใช้จุดฮอตสปอตเป็นฐานการวิจัย ทั้งนี้ ในแอฟริกา โครงการ CARIAA จะช่วยแก้ไขปัญหาในฮอตสปอต 2 จุด ได้แก่ พื้นที่กึ่งแห้งแล้งในแอฟริกาตะวันออก ตะวันตก และตอนใต้ รวมถึงพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำวอลตาและแม่น้ำไนล์
“งานวิจัยนี้จะก่อให้เกิดข้อเสนอแนะที่ผู้ร่างนโยบายและผู้มีอำนาจตัดสินใจในท้องถิ่นสามารถนำไปใช้ได้จริง โดยจะช่วยให้บรรดานักธุรกิจ กระทรวงพัฒนาเศรษฐกิจ และชุมชนเศรษฐกิจท้องถิ่น สามารถพัฒนานโยบายและกลยุทธ์การลงทุนที่จะช่วยลดปัญหาความยากจนและช่วยให้ประชาชนปรับตัวได้ดีขึ้น” Jean Lebel ประธาน IDRC กล่าว “นอกจากนั้นยังชี้ให้ภาคธุรกิจเห็นถึงแนวทางการตอบสนองต่อโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ และภัยคุกคามที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงปัจจัยขับเคลื่อนหลักอื่นๆ ในพื้นที่กึ่งแห้งแล้ง ตลอดจนแนวทางการดำเนินงานของภาครัฐในการสนับสนุนภาคธุรกิจให้ปรับตัวเพื่อรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งส่งผลต่อการผลิตและห่วงโซ่คุณค่าของภาคธุรกิจ”
“ผมรู้สึกยินดีที่ CARIAA ให้ความสำคัญกับการพัฒนาฐานข้อมูลว่าด้วยแนวทางที่ได้ผลและไม่ได้ผลในการให้ความช่วยเหลือแก่ชุมชนที่ประสบปัญหามากที่สุดในโลก ทำให้ชุมชนเหล่านั้นสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศที่เลวร้ายและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้” Virinder Sharma ที่ปรึกษาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจาก DFID Kenya กล่าว “ผมรู้สึกมีกำลังใจที่ได้ทราบว่าโครงการดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อดำเนินงานในทุกระดับ และตั้งใจสร้างการมีส่วนร่วมในระดับท้องถิ่น ประเทศ ภูมิภาค และนานาชาติตั้งแต่เริ่มต้น นอกจากนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ โครงการนี้ตั้งใจนำผลงานการวิจัยไปใช้กำหนดนโยบายและใช้งานจริง กระบวนการพัฒนาร่วมกันในลักษณะนี้จะมีบทบาทสำคัญในการส่งต่อข้อมูลหลักฐานที่เป็นประโยชน์ให้แก่บรรดาผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ”
รายงานจากคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) [http://www.ipcc.ch/report/ar5/wg1/] ซึ่งมีกำหนดเผยแพร่ในเดือนมีนาคมนี้ ได้คาดการณ์ไว้ว่า ภูมิภาคแห้งแล้งทั่วโลกจะยิ่งแห้งแล้งขึ้นไปเพราะภาวะโลกร้อน โดยพื้นที่ที่แห้งแล้งอยู่แล้วจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นอีกและแหล่งน้ำก็จะลดลง ซึ่งจะสร้างแรงกดดันยิ่งขึ้นต่อผู้ที่ต้องพึ่งพาอาศัยทรัพยากรธรรมชาติในการดำรงชีวิต เช่น ในการทำเกษตร ประมง และป่าไม้
รายงานระบุว่า เมื่อถึงกึ่งกลางศตวรรษนี้ อุณหภูมิโดยเฉลี่ยในช่วงฤดูร้อนในพื้นที่ส่วนใหญ่ของแอฟริกาอาจพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ซึ่งจะทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำและไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ ขณะเดียวกันฤดูเพาะปลูกอาจมีระยะเวลาลดลงถึง 20% ตามพื้นที่ต่างๆ ในภูมิภาคซาเฮลในแอฟริกาตะวันตก แอฟริกาตอนใต้ และแอฟริกาตะวันออก
นอกจากนั้นยังมีการคาดการณ์ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่บริเวณชายฝั่ง เช่น สามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนล์ ซึ่งเสี่ยงต่อการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลและภาวะเกลือสะสมในดิน ซึ่งอาจทำให้ประชากรราว 1.3 ล้านคนต้องอพยพย้ายถิ่นภายในปีพ.ศ.2593 และคาดว่าจะเกิดผลกระทบในรูปแบบเดียวกันกับสามเหลี่ยมปากแม่น้ำหลักๆ ในอินเดียและบังกลาเทศ โดยอาจสร้างความเดือนร้อนต่อประชากรกว่า 100 ล้านคน
ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังทวีความรุนแรงขึ้นเพราะแรงกดดันอื่นๆ ที่เพิ่มมากขึ้นในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เช่น พื้นที่ริฟท์วัลเลย์ในเคนยา ซึ่งฝนตกไม่สม่ำเสมอ ทำให้เกิดภาวะแห้งแล้งสลับกับน้ำท่วม ส่งผลกระทบต่อประชาชน ปศุสัตว์ ทุ่งหญ้า สัตว์ป่าและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงลักษณะการใช้ที่ดินอย่างไม่มีแบบแผน ประกอบกับรูปแบบการถือครองที่ดินที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ยังทำให้สภาพภูมิอากาศย่ำแย่กว่าเดิม แม้ว่าเกษตรกรและคนเลี้ยงปศุสัตว์ที่เข้าถึงเงินทุนได้น้อยจะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงสุด แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็ส่งผลกระทบต่อผู้คนทั้งในเมืองและชนบท ทั้งนี้ หากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไปในระดับสูงสุดเท่าที่มีการคาดการณ์ไว้ ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่กึ่งแห้งแล้งอาจต้องเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตทั้งหมดภายในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษนี้
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม รวมถึงรายชื่อสถาบันที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นส่วนหนึ่งของ 4 กลุ่มวิจัยร่วมระหว่างภูมิภาค สามารถรับชมได้ที่ CARIAA [http://www.idrc.ca/EN/Programs/Agriculture_and_the_Environment/CARIAA/Pages/default.aspx] และท่านที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลภูมิหลังได้
ร่วมพูดคุยกับเราได้ทางทวิตเตอร์ [https://twitter.com/CollabAdapt] และทางเฟซบุ๊ก [https://www.facebook.com/IDRC.CRDI]
เกี่ยวกับ IDRC
IDRC ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของนโยบายต่างประเทศของแคนาดา ได้ให้การสนับสนุนงานวิจัยในประเทศกำลังพัฒนา เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเติบโตและการพัฒนาประเทศ โดยกิจกรรมหลักของ IDRC คือ การแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผ่านงานวิจัย สามารถดูผลงานของเราได้ที่ http://www.idrc.ca/EN/Programs/Agriculture_and_the_Environment/Climate_Change_and_Water/Pages/default.aspx
เกี่ยวกับ DFID
สำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (DFID) แห่งสหราชอาณาจักร เป็นหัวหอกของรัฐบาลอังกฤษในการต่อสู้กับปัญหาความยากจนทั่วโลก
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
สื่อมวลชนติดต่อ
Gloria Lihemo | Kenya | +254 727 903 983 | glihemo@idrc.ca |@IDRC_ROSSA
Isabelle Bourgeault-Tasse | Canada | +1 613 696-2343 | ibourgeault-tasse@idrc.ca | @IDRC_CRDI