มูลนิธิโรคกระดูกพรุนนานาชาติเผยคนส่วนใหญ่คาดไม่ถึงว่าผู้ชายก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคกระดูกพรุน

ข่าวต่างประเทศ Monday October 20, 2014 14:01 —ข่าวประชาสัมพันธ์พีอาร์นิวส์ไวร์

นีออน, สวิตเซอร์แลนด์--20 ต.ค.--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์ โรคกระดูกพรุนอาจนำไปสู่ภาวะกระดูกหักอันทุกข์ทรมาน ภาวะทุพพลภาพ และการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร แต่คนทั่วไปยังคงเพิกเฉยกับโรคนี้ ส่วนแพทย์ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญเมื่อตรวจสุขภาพคนไข้ มูลนิธิโรคกระดูกพรุนนานาชาติ (International Osteoporosis Foundation: IOF) เปิดเผยผลสำรวจล่าสุดเนื่องในวันสากลโรคกระดูกพรุน (World Osteoporosis Day) ซึ่งชี้ให้เห็นว่า 90% ของผู้ใหญ่ 13,258 คนที่ตอบแบบสำรวจ คาดไม่ถึงว่าผู้ชายจำนวนไม่น้อยก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะกระดูกแตกหักจากโรคกระดูกพรุน ซึ่งพบได้ใน 1 ใน 5 ของผู้ชายที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ผลสำรวจยืนยันว่า แม้โรคกระดุนพรุนจะพบได้บ่อย ส่งผลกระทบร้ายแรง และอาจเป็นภัยคุกคามต่อชีวิต แต่คนทั่วไปก็ไม่ได้ให้ความสำคัญและเมินเฉยต่อปัญหาสุขภาพนี้ ผลสำรวจใน 12 ประเทศยังแสดงให้เห็นว่า ผู้คนทั่วโลกเพิกเฉยต่อโรคกระดูกพรุนไม่ว่าจะเป็นเพศไหนหรือเชื้อชาติใดก็ตาม ศ.จอห์น คานิส ประธาน IOF กล่าวว่า “ความจริงที่น่าเศร้าก็คือ ผู้ชายไม่รู้ว่าตัวเองกำลังตกอยู่ในความเสี่ยง ในอนาคตจึงมีโอกาสที่จะต้องเผชิญกับความเจ็บปวด ภาวะทุพพลภาพ และการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ส่วนแพทย์ก็ทำให้ปัญหานี้แย่ลงด้วยการไม่พูดถึงสุขภาพกระดูกของคนไข้ระหว่างการตรวจสุขภาพ” ทั้งนี้ ผลสำรวจพบว่า กลุ่มผู้ชายอายุ 50 ปีขึ้นไปที่เข้ารับการตรวจสุขภาพจะได้รับการประเมินสุขภาพกระดูกน้อยกว่าผู้หญิงในวัยเดียวกัน 18% ซึ่งความเหลื่อมล้ำดังกล่าวพบมากขึ้นในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา (31%) บราซิล (30%) เบลเยียม (23%) และสเปน (22%) ผลสำรวจเปิดเผยว่า - 90% ของผู้ตอบแบบสำรวจคาดไม่ถึงว่าผู้ชายจำนวนไม่น้อยก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะกระดูกแตกหักจากโรคกระดูกพรุน โดย 73% ไม่คิดว่าผู้ชายจะมีความเสี่ยงมากขนาดนั้น และ 17% ไม่รู้เลยว่ามีความเสี่ยง - 71% ของผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป (กลุ่มประชากรที่เป็นโรคกระดูกพรุนมากที่สุด) ประเมินความเสี่ยงของโรคกระดูกพรุนในเพศชายต่ำเกินไป - ในกลุ่มผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป มีผู้ชายเพียง 8% และผู้หญิง 10% ที่คาคคะเนได้ถูกต้องว่า ผู้ชายราว 1 ใน 5 คนทั่วโลกประสบภาวะกระดูกแตกหักจากโรคกระดูกพรุน เมื่อคำนวณจากค่าเฉลี่ยของทุกประเทศ โดยผู้ตอบแบบสำรวจจากสหราชอาณาจักรตอบถูกเพียง 3% ตามมาด้วยเบลเยียม (6%) จอร์แดน (6%) สหรัฐอเมริกา (7%) สเปน (8%) สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (8%) อินเดีย (9%) บราซิล (11%) ออสเตรเลีย (12%) แอฟริกาใต้ (14%) เม็กซิโก (18%) และจีน (20%) นอกจากนั้นยังเป็นที่น่าสังเกตว่า แม้ภาระในการรับมือกับโรคกระดูกพรุนจะหนักเบาแตกต่างกันไปตามประเทศและภูมิภาค แต่ผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่ก็ยังคงประเมินความเสี่ยงของโรคกระดูกพรุนต่ำเกินไป - ประมาณ 53% ของผู้ตอบแบบสำรวจเพศชายที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งเข้ารับการตรวจสุขภาพกับแพทย์เป็นประจำ ระบุว่าไม่เคยได้รับการประเมินสุขภาพกระดูกในระหว่างการตรวจสุขภาพ โดยแพทย์ไม่เคยพูดคุยสอบถามเกี่ยวกับสุขภาพกระดูก ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกพรุน ประสบการณ์กระดูกหัก หรือการทดสอบความหนาแน่นของมวลกระดูก (BMD) ขณะที่มีผู้หญิงเพียง 35% ที่ระบุว่าไม่เคยได้รับการประเมินสุขภาพกระดูกในระหว่างการตรวจสุขภาพ เกี่ยวกับการสำรวจ ข้อมูลตัวเลขทั้งหมดมาจาก YouGov Plc. (หากมิได้ระบุไว้เป็นอย่างอื่น) โดยรวบรวมจากการสำรวจออนไลน์เมื่อเดือนกรกฎาคม 2557* ในประเทศและกลุ่มตัวอย่างดังต่อไปนี้ ออสเตรเลีย (1,000 คน) เบลเยียม (1,000 คน) บราซิล (1,001 คน) จีน (1,031 คน) อินเดีย (1,045 คน) จอร์แดน (1,001 คน) เม็กซิโก (1,032 คน) แอฟริกาใต้ (502 คน) สเปน (1,029 คน) สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (1,026 คน) สหราชอาณาจักร (2,424 คน) และสหรัฐอเมริกา (1,167 คน) โดยมีการคำนวณน้ำหนักตัวเลขในฐานะตัวแทนของผู้ใหญ่ทั้งหมด (อายุ 18 ปีขึ้นไป) ของแต่ละประเทศ *ข้อมูการสำรวจ http://www.worldosteoporosisday.org/press-centre วันสากลโรคกระดูกพรุน (World Osteoporosis Day) ตรงกับวันที่ 20 ตุลาคมของทุกปี และมีการจัดแคมเปญตลอดหนึ่งปีเต็ม สามารถดูข้อมูลได้ที่ http://www.worldosteoporosisday.org วันสากลโรคกระดูกพรุนได้รับเงินสนับสนุนเพื่อการศึกษาไม่จำกัดจากบริษัท Amgen, UCB, Fonterra, Lilly, MSD, Pfizer Consumer Healthcare เกี่ยวกับมูลนิธิโรคกระดูกพรุนนานาชาติ (IOF) IOF เป็นองค์กรเอ็นจีโอขนาดใหญ่ที่สุดของโลกที่อุทิศตนให้กับการป้องกัน วินิจฉัย และรักษาโรคกระดูกพรุน รวมถึงโรคระบบกล้ามเนื้อและกระดูก กรุณาดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.iofbonehealth.org สื่อมวลชนติดต่อ ชารันจิต เค. จาเก็ท IOF โทร. +41-79-874-52-08 อีเมล: cjagait@iofbonehealth.org แหล่งข่าว: มูลนิธิโรคกระดูกพรุนนานาชาติ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ