ดูไบ, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์--26 ม.ค.--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์
- มีผู้สนใจส่งผลงานเข้าร่วมประกวดกว่า 800 ราย เพื่อคว้าโอกาสอันน่าตื่นเต้นในการใช้เทคโนโลยีโดรนเพื่อสาธารณประโยชน์
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จัดการแข่งขันระดับโลก ชิงเงินรางวัลมูลค่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับแนวคิดแปลกใหม่และสร้างสรรค์ในการใช้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ หรือโดรน เพื่อวัตถุประสงค์ด้านพลเรือน ซึ่งปรากฏว่ามีผู้สนใจส่งผลงานเข้าชิงรางวัลถึงกว่า 800 รายจาก 57 ประเทศทั่วโลก นับเป็นโอกาสอันน่าตื่นเต้นที่เทคโนโลยีโดรนจะได้เข้ามามีบทบาทในการตอบสนองความต้องการของประชาชน
รับชมข่าวในรูปแบบมัลติมีเดียได้ที่:
http://www.multivu.com/players/English/7427751-uae-drones-for-good-competition
การแข่งขัน 'Drones for Good' ได้รับการเปิดตัวที่การประชุม Government Summit ซึ่งจัดโดยสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2557 เพื่อเปิดมุมมองใหม่ๆในการใช้เทคโนโลยีโดรน นอกเหนือไปจากวัตถุประสงค์ทางทหาร โดยขณะนี้มีผลงานที่ผ่านเข้าสู่รอบรองชนะเลิศแล้ว 19 ผลงาน อาทิ โครงการที่ใช้โดรนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการค้นหาและกู้ภัย การส่งมอบบริการในชุมชนแออัด การฟื้นฟูสภาพป่า และการตรวจหากับระเบิด สำหรับการประกาศผู้ชนะจะมีขึ้นในการแข่งขัน Drones for Good รอบชิงชนะเลิศ ที่นครดูไบ ในระหว่างวันที่ 6-7 กุมภาพันธ์ 2558
ฯพณฯ โมฮัมเหม็ด อับดุลลาห์ อัล เจอร์กาวี รัฐมนตรีกระทรวงกิจการคณะรัฐมนตรี กล่าวชื่นชมต่อเสียงตอบรับจากทั่วโลก ซึ่งสอดคล้องกับความพยายามของรัฐบาลยูเออีในการปรับปรุงบริการต่างๆของภาครัฐให้ดีขึ้น
"การแข่งขันในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของเราในการใช้ประโยชน์จากความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และนวัตกรรมอันทันสมัยเพื่อมอบบริการที่ดีแก่ประชาชน” รัฐมนตรีกล่าว “ผลงานแต่ละชิ้นอาจช่วยเปลี่ยนแปลงโลกได้ และหวังว่าจะจุดประกายให้ผู้คนได้ขบคิดว่าเราสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ในรูปแบบใหม่ๆได้อย่างไรบ้าง"
สำหรับผลงานที่ส่งเข้าประกวดนั้นมาจากสเปนมากที่สุดถึง 62 ราย ตามด้วยสหรัฐอเมริกา (47) อินเดีย (34) ซาอุดิอาระเบีย (18) โคลัมเบียและโปแลนด์ (15) และสหราชอาณาจักร (11)
ผลงานจากรอบรองชนะเลิศประกอบด้วยการใช้โดรนเพื่อค้นหาคนจมน้ำและลากเข้าฝั่งได้อย่างปลอดภัย (โปแลนด์), การปลูกต้นไม้คืนผืนป่าที่ถูกทำลาย (อังกฤษ), การตรวจหากับระเบิดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น (สเปน), การสนับสนุนทางอากาศสำหรับภารกิจช่วยชีวิตของยามชายฝั่ง (นิวซีแลนด์), การทำแผนที่และติดตามพื้นที่ประสบภัยพิบัติเพื่อให้ความช่วยเหลือ (ซาอุดิอาระเบีย) และการใช้โดรนเพื่อเข้าถึงที่อับอากาศหรือที่ปิดล้อม โดยบินประชิดบุคคลหรือตามติดภารกิจกู้ภัยได้อย่างปลอดภัย (สวิตเซอร์แลนด์)
นอกจากนี้ ผลงานที่เข้าชิงรางวัลยังรวมไปถึงโครงการหว่านเมล็ดพืชและเก็บตัวอย่างพืช (ซูดาน), การกำจัดหมอกด้วยวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ยูเออี), การวางผังเมือง โดยเฉพาะในชุมชนแออัด ด้วยการทำแผนที่ การสำรวจ และการวางผังกายภาพ (เคนยา), การย้ายอวัยวะปลูกถ่ายจากศูนย์รับบริจาคได้รวดเร็วขึ้น (สเปน), การลาดตระเวนตามทุ่งหญ้าเพื่อป้องกันผู้บุกรุกล่าสัตว์ ควบคุมสัตว์ป่า และลดความเสี่ยงในการเกิดเพลิงไหม้ (สเปน) และการขนส่งอาหาร ยา น้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ อุปกรณ์ให้แสงสว่าง และที่พักพิงชั่วคราวแก่ผู้ที่ติดเกาะ (ออสเตรเลีย)
นอกจากเงินรางวัล 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับผู้ชนะแล้ว ผู้ผ่านเข้าสู่รอบรองชนะเลิศยังจะได้สาธิตโดรนของตนเองแก่บรรดานายทุนและนักลงทุน ซึ่งจะช่วยผลักดันไอเดียของพวกเขาออกสู่ตลาดพาณิชย์ต่อไป
แหล่งข่าว: กระทรวงกิจการคณะรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี