เจนีวา--4 ก.พ.--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์
ข้อมูลใหม่คาดการณ์ว่าการระดมทุนเพิ่มอีกปีละ 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐทั่วโลก สามารถช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งได้ถึง 30% ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง ภายในปี 2573
เนื่องในวันมะเร็งโลกประจำปี 2558 เหล่าผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขทั่วโลกจากสมาพันธ์ควบคุมโรคมะเร็งสากล (UICC) ได้ประกาศว่า การระดมทุนเพิ่มเพื่อนำไปลงทุนด้านบริการมะเร็งทั่วโลกนั้น สามารถช่วยชีวิตผู้คนได้หลายล้านชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
- การระดมทุนเพิ่มจากทั่วโลกอีก 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี สามารถช่วยชีวิตผู้คนได้ถึงปีละ 3 ล้านคนภายในปี 2573 และจะเพิ่มจำนวนอย่างต่อเนื่องในอีกหลายทศวรรษข้างหน้า ผ่านการใช้มาตรการป้องกัน การตรวจโรคตั้งแต่เนิ่นๆ รวมถึงการยกระดับการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง
- การระดมทุนเพิ่มยังช่วยบรรเทาความเจ็บปวดของผู้ป่วยหลายล้านคนที่จะเสียชีวิตจากโรคมะเร็งในช่วงเวลานี้
- การขึ้นภาษียาสูบ 3 เท่าจะช่วยให้รัฐบาลสามารถจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นถึง 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี นอกจากนั้นผลสำรวจยังชี้ว่าการขึ้นภาษีจะกระตุ้นให้นักสูบมากถึง 1 ใน 3 เลิกสูบบุหรี่ด้วย
“ในแต่ละปีมีผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งมากกว่า 8 ล้านคน ซึ่งผู้เสียชีวิตกว่า 60% มาจากประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง โดยส่วนใหญ่เป็นประชาชนที่มีรายได้ปานกลาง” ศาสตราจารย์เทเซอร์ คุตลัค ประธานสมาพันธ์ควบคุมโรคมะเร็งสากล (UICC) กล่าว “จำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งในประเทศกำลังพัฒนามีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องด้วยการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรและสัดส่วนผู้สูงอายุ ดังนั้นเราต้องรับมือเสียตั้งแต่ตอนนี้ ทั้งนี้ การระดมทุน 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นไปได้สำหรับหลายๆประเทศ แต่ก็เป็นไปได้ยากสำหรับกลุ่มประเทศยากจนหากไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาคมโลก”
ข้อมูลสำคัญที่มีการนำเสนอในการประชุมมะเร็งโลก[1] เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งมาจากรายงาน DCP3, Cancer (รายงาน DCP ชุดที่ 3 ฉบับที่ 3 [2]) ได้เรียกร้องให้เหล่าประเทศที่มีรายได้ปานกลางจัดสรรงบสำหรับจัดการกับโรคมะเร็งเพิ่มอีก 2-5% ของงบประมาณด้านสาธารณสุขทั้งหมด และสำหรับประเทศที่มีรายได้ต่ำซึ่งด้อยพัฒนาด้านบริการสุขภาพ อีกทั้งยังขาดแคลนสิ่งอำนวยความสะดวกและผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งที่ผ่านการอบรมตามมาตรฐาน จำเป็นต้องขอรับการสนับสนุนจากประชาคมโลกเพื่อสร้างศักยภาพในการรับมือกับปัญหา ซึ่งน่าจะใช้เวลาอย่างน้อย 10 ปี
เมื่อปี 2554 องค์การอนามัยโลกได้เสนอแนะแนวทาง "best buys" เพื่อจัดการกับโรคไม่ติดต่อ (NCD) ซึ่งรวมถึงมาตรการป้องกันโรคมะเร็ง ดังนี้
- การเก็บภาษียาสูบ รวมถึงใช้มาตรการกำกับดูแลและควบคุม เพื่อลดอัตราการเกิดโรคมะเร็งที่เกี่ยวข้องกับยาสูบ
- การให้วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี เพื่อป้องกันมะเร็งตับ
- มาตรการคัดกรองและรักษารอยโรคก่อนเกิดมะเร็งปากมดลูก
ขณะเดียวกันรายงาน DCP3 Cancer ได้เพิ่มขั้นตอนการรักษาโรคและควบคุมความเจ็บปวดขั้นพื้นฐาน ซึ่งรวมกันเป็น "essential package" ดังนี้
- การให้วัคซีน HPV แก่เด็กสาวเพื่อป้องกันมะเร็งปากมดลูก
- การควบคุมความเจ็บปวดสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะลุกลาม
- การรักษาโรคมะเร็งในเด็กเฉพาะกลุ่ม
- การวินิจฉัยและรักษาโรคมะเร็งเต้านมและมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะเริ่มแรก
มาตรการเหล่านี้ครอบคลุมถึงโรคมะเร็งที่มีปัญหามาก (มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม และมะเร็งสำไส้ใหญ่) โรคมะเร็งที่มีโอกาสรักษาหายสูง และโรคมะเร็งในเด็ก (เฉพาะกลุ่ม) ซึ่งมาตรการที่กล่าวถึงทั้งหมดนี้มีต้นทุนไม่สูงมากและเหมาะสมสำหรับประเทศที่มีรายได้ปานกลาง (ประเทศรายได้ต่ำสามารถดำเนินการได้ด้วยความช่วยเหลือจากนานาประเทศ) อีกทั้งยังเป็นไปตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ภายในปี 2573
“การป้องกันการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคมะเร็งนั้นไม่ได้เหนือไปกว่าความสามารถของเรา ดังนั้น เราไม่ควรนั่งรอและปล่อยให้ภาระอันหนักหน่วงนี้เพิ่มขึ้นทั่วโลก เนื่องในวันมะเร็งโลกปี 2558 เราขอเรียกร้องให้ประชาคมโลกเดินหน้าไปด้วยกันในการระดมทุนเพื่อยกระดับการควบคุมโรคมะเร็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง” แครี อดัมส์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของสมาพันธ์ควบคุมโรคมะเร็งสากล (UICC) กล่าว “แนวทางที่เหมาะสมและมีต้นทุนต่ำซึ่งถูกคิดค้นขึ้นเพื่อรับมือกับภัยมะเร็ง เช่น การยกระดับการควบคุมยาสูบ การตรวจโรคและรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ตลอดจนการเข้าถึงวัคซีนช่วยชีวิตนั้น หากมีการดำเนินการจริงก็จะสามารถช่วยลดความยากจนที่มีสาเหตุจากโรคภัยไข้เจ็บได้อย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งยังช่วยชีวิตผู้คนได้อีกหลายล้านชีวิต”
เกี่ยวกับวันมะเร็งโรคและธีมประจำปี 2558
วันมะเร็งโลกตรงกับวันที่ 4 กุมภาพันธ์ของทุกปี และเป็นงานเดียวที่สมาพันธ์ควบคุมโรคมะเร็งสากล (UICC) รวมถึงสมาชิก พันธมิตร และประชาคมโลก ได้มารวมตัวกันเพื่อต่อสู้กับโรคมะเร็งที่ระบาดไปทั่วโลก ทั้งนี้ วันมะเร็งโลกประจำปี 2558 ภายใต้ธีม “Not beyond us” จะใช้แนวทางเชิงรุกอย่างสร้างสรรค์ในการต่อสู้กับภัยมะเร็ง เพื่อเน้นย้ำว่าแนวทางในการจัดการกับโรคมะเร็งนั้นเกิดขึ้นได้จริงและไม่เกินความสามารถของเรา
สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรม สามารถรับชมข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.worldcancerday.org
เกี่ยวกับสมาพันธ์ควบคุมโรคมะเร็งสากล (UICC)
UICC รวมตัวกับชุมชนมะเร็งเพื่อช่วยกันลดภาระที่เกิดจากโรคมะเร็งทั่วโลก สนับสนุนให้เกิดความเท่าเทียมกัน ตลอดจนผลักดันแผนควบคุมโรคมะเร็งเข้าสู่วาระการพัฒนาและวาระสุขภาพในระดับโลก UICC คือองค์กรต่อสู้กับโรคมะเร็งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเมื่อเทียบกับองค์กรประเภทเดียวกัน โดยมีองค์กรสมาชิกกว่า 800 แห่งใน 155 ประเทศ และทำหน้าที่เป็นตัวแทนของสมาคมโรคมะเร็งระดับโลกหลายแห่ง กระทรวงสาธารณสุขหลายประเทศ สถาบันวิจัยต่างๆ ศูนย์รักษาผู้ป่วย ตลอดจนกลุ่มผู้ป่วย
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม สามารถรับชมได้ที่ http://www.uicc.org
อ้างอิง
1. การประชุมมะเร็งโลก 3-6 ธันวาคม 2557
http://www.worldcancercongress.org/sessions/DCP-reducing-premature-deaths-cancer
2. DCP3: Disease Control Priorities, Third Edition, Volume 6 Cancer. Chapter 1: Summary and Recommendations
http://www.dcp-3.org/volume/cancer/chapter/1/overview-and-burden
สื่อมวลชนติดต่อ
ลีอาห์ เพย์ตัน
อีเมล: lpeyton@reddoorunlimited.com
โทร. +44-208-392-8041 / +44-778-819-1434
ปีเตอร์ ดันแลน
อีเมล: pdonelan@reddoorunlimited.com
โทร: +44-208-392-8057
แหล่งข่าว: สมาพันธ์ควบคุมโรคมะเร็งสากล