เซนได, ญี่ปุ่น--18 มี.ค.--เกียวโด เจบีเอ็น-เอเชียเน็ท/อินโฟเควสท์
เพื่อเป็นการสนับสนุนการประชุมสหประชาชาติระดับโลกว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ (WCDRR) ที่จะจัดขึ้นในเมืองเซนได ตั้งแต่วันที่ 14-18 มีนาคม โซคา งักไก อินเตอร์เนชั่นแนล (SGI) จึงเป็นเจ้าภาพร่วมจัดงานเสริมเมื่อวันที่ 16 มีนาคมที่ผ่านมา เพื่อตอกย้ำศักยภาพของการยกระดับความร่วมมือด้านการจัดการภัยพิบัติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ แม้ว่า จะเกิดสถานการณ์ความตึงเครียดทางการเมืองก็ตาม
การประชุมภายใต้หัวข้อ "เสริมสร้างความยืดหยุ่นในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือผ่านความร่วมมือเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ" ประกอบด้วยผู้บรรยายด้านสังคมพลเรือนทั้งจากจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น
นายเฉิน เฟิง (Chen Feng) รองเลขาธิการแห่งสำนักเลขาธิการความร่วมมือไตรภาคีระหว่างรัฐบาล (TCS) ได้กล่าวนำถึงความพยายามในการกระชับความสัมพันธ์ด้านการบริหารจัดการภัยพิบัติระหว่าง 3 ประเทศ โดยระบุว่า ในฐานะที่เป็นเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดกัน รัฐบาลทั้ง 3 ประเทศจึงร่วมแบ่งปันความคิดเห็นว่า หากเกิดภัยพิบัติกับประเทศใดประเทศหนึ่ง อีก 2 ประเทศก็จะรู้สึกเจ็บปวดไปด้วยเช่นกัน
นายยัง-จิน ปาร์ค (Young-Jin Park) เลขาธิการสมาคม Hope Bridge ในเกาหลีใต้ ออกมากล่าวถึงความคิดริเริ่มใหม่ๆ เพื่อยกระดับการรับมือกับภัยพิบัติ และย้ำถึงความสำคัญของการใช้เครือข่ายความร่วมมือที่มีอยู่ภายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกให้เกิดประโยชน์
นายหวง เหาหมิง (Huang Haoming) รองประธานสมาคมความร่วมมือเอ็นจีโอแห่งประเทศจีน (CANGO) กล่าวสรุปถึงความท้าทายของการร่วมมือเพื่อจัดการกับภัยพิบัติภายในจีน และเผยแนวคิดเรื่องการกระชับความร่วมมือภายในภูมิภาค ซึ่งประกอบด้วย การแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญ และอาสาสมัคร การจัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญพิเศษ และแม้กระทั่งการจัดตั้งองค์กรทางสังคมเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ
นายอาโออิ โฮริอุจิ (Aoi Horiuchi) ผู้แทนจากศูนย์เอ็นจีโอเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JANIC) และสมาพันธ์ CSO แห่งญี่ปุ่น เพื่อการประชุม 2015 WCDRR ระบุว่า การประชุมเสริมครั้งนี้เป็นเพียงการประชุมเดียวที่มุ่งเน้นไปที่เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ และได้นำเสนอแนวคิดต่างๆที่ได้รับการสนับสนุนจาก JANIC อาทิ การผลิตจุลสารเพื่อช่วยให้ประชาชนในประเทศจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่นได้บทเรียนจากอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ นายอาโออิยังได้ย้ำถึงความสำคัญของการแลกเปลี่ยนบุคลากรว่า เมื่อเรามีเพื่อนสนิทในต่างประเทศ เราก็จะรับรู้ถึงความทุกข์ของพวกเขาได้ง่ายขึ้นหลังจากที่ต้องเผชิญกับภัยพิบัติ
หลังจากนั้น นายไดซูเกะ นามากิ (Daisuke Namaki) ผู้แทนจากองค์กร Next Stage Tohoku ได้อธิบายถึงความพยายามในการคุ้มครองกลุ่มผู้ฝึกงานชาวจีนที่ปฏิบัติงานในอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าจากทะเล บริเวณชายฝั่งของจังหวัดมิยางิเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 ซึ่งเกิดเหตุแผ่นดินไหว สึนามิ และแนวคิดใหม่ๆที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสืบสานความร่วมมือระหว่างประเทศในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ
ฮิโรสึกุ เทราซากิ (Hirotsugu Terasaki) ผู้อำนวยการสำนักงาน Peace Affairs for SGI กล่าวสรุปงานว่า "ทั้ง 3 ประเทศต่างต้องเผชิญกับความท้าทายมากมายในแง่ของการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องการเมือง และด้วยเหตุนี้เอง องค์กรทางสังคมต่างๆจึงจำเป็นต้องร่วมพูดคุยกัน และพัฒนาความสัมพันธ์และความร่วมมือที่เชื่อมโยงกับชาวบ้านในระดับรากหญ้า"
ผู้ร่วมจัดการประชุมในครั้งนี้ ได้แก่ คณะกรรมการเอ็นจีโอเพื่อความร่วมมือด้านการพัฒนาในต่างประเทศของเกาหลีใต้ (KCOC), CANGO และ Next Stage Tohoku อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนจาก JANIC และ TCS ด้วย
ในเวลาต่อมา สมาคมพุทธศาสนาโซคา งักไก อินเตอร์เนชั่นแนลได้จัดพิธีเปิดนิทรรศการอย่างเป็นทางการ เพื่อแสดงเรื่องราว และรูปภาพที่บ่งบอกถึงความเข้มแข็ง และการฟื้นฟูในภูมิภาคที่ประสบภัยพิบัติเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 โดยใช้ชื่องานว่า "The Light of Humanity" ณ Event Hall Shoei ในเมืองเซนได โดยนิทรรศการจะจัดไปจนถึงวันที่ 18 มีนาคม 2558
สมาคมพุทธศาสนาโซคา งักไก อินเตอร์เนชั่นแนล (SGI) เป็นองค์กรพุทธสมาคมที่มีเกียรติประวัติในด้านการมีส่วนร่วมในกิจกรรมฟื้นฟูภายหลังจากที่เกิดเหตุภัยพิบัติมาอย่างยาวนานทั่วภูมิภาคเอเชีย โดยเครือข่ายสมาชิกของสมาคมในท้องถิ่น และศูนย์กลางชุมชนที่กว้างขวางในเขตโทโฮคุ ได้มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการฟื้นฟูภายหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวมหาภัยพิบัติสึนามิ (Great East Japan Earthquake) ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 ด้วย
แหล่งข่าว: โซคา งักไก อินเตอร์เนชั่นแนล
ติดต่อ:
โจแอน แอนเดอร์สัน (Joan Anderson)
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
โซคา งักไก อินเตอร์เนชั่นแนล
โทร. +81-80-5957-4711
โทรสาร: +81-3-5360-9885
อีเมล: janderson[at]sgi.gr.jp
AsiaNet 59855