ออกซ์ฟอร์ด, อังกฤษ--16 ก.ค.--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์
ทางเลือกใหม่ในการควบคุมแมลงศัตรูพืชโดยปราศจากการใช้สารฆ่าแมลงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ก้าวหน้าไปอีกขั้นวันนี้ หลังผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์พบว่า หนอนใยผักของ Oxitec ที่มี "ยีนจำกัดตัวเอง" (self-limiting gene) สามารถช่วยลดจำนวนหนอนใยผักลงได้อย่างมาก ทั้งนี้ หนอนใยผักเป็นศัตรูพืชที่มีพฤติกรรมรุกรานและสร้างความเสียหายต่อกะหล่ำปลี คะน้า คาโนลา และผักตระกูลกะหล่ำอื่นๆทั่วโลก
ผลวิจัยข้างต้นได้รับการเผยแพร่ในวารสาร BMC Biology และได้กลายเป็นเครื่องพิสูจน์ความสำเร็จของแนวคิดริเริ่มที่พัฒนาขึ้นโดยบริษัท Oxitec ซึ่งแยกตัวออกมาจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และเป็นผู้บุกเบิกเทคโนโลยีควบคุมปริมาณแมลงศัตรูพืชโดยไม่ใช้ยาฆ่าแมลง สำหรับเทคนิคยีนจำกัดตัวเองนั้นได้ถูกนำไปทดลองกับยุงที่เป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออกเป็นที่เรียบร้อย โดยสามารถลดจำนวนยุงได้มากกว่า 90% ในบราซิล ปานามา และหมู่เกาะเคย์แมน ซึ่งถือว่าสูงสุดเมื่อเทียบกับวิธีอื่นๆ และยังเป็นต้นกำเนิดของโครงการระดับท้องถิ่นมากมาย ภายหลังได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานด้านความปลอดภัยทางชีวภาพในบราซิลเพื่อนำไปใช้ทั่วประเทศ
วิธีนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก Sterile Insect Technique (SIT) ซึ่งมีการใช้ทั่วโลกมานานกว่า 50 ปี โดยเป็นการฉายรังสีทำหมันแมลงตัวผู้และปล่อยให้ออกไปผสมพันธุ์กับแมลงตัวเมีย เมื่อออกลูกออกหลานไม่ได้จำนวนแมลงก็จะลดลงไปโดยปริยาย ส่วนวิธีของ Oxitec นั้นใช้ประโยชน์จากสัญชาตญาณการสืบพันธุ์ตามธรรมชาติของแมลงตัวผู้ โดยไม่ฉายรังสีทำหมันแมลงเพราะอาจส่งผลกระทบต่อยีนและสมรรถภาพการผสมพันธุ์ แต่จะอาศัยยีนจำกัดตัวเองในตัวแมลงซึ่งในกรณีนี้คือหนอนใยผัก โดยหนอนใยผักตัวผู้ที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมจะถูกปล่อยออกไปผสมพันธุ์กับตัวเมีย และเนื่องจากหนอนรุ่นลูกหลานตัวเมียไม่สามารถอยู่รอดเพื่อสืบพันธุ์ได้ หนอนใยผักก็จะมีจำนวนลดลงไปทีละน้อย นอกจากนี้ หนอนใยผัก Oxitec ยังมีโปรตีนเรืองแสงสีแดงภายในร่างกาย ซึ่งสามารถใช้ติดตามความเคลื่อนไหวได้ด้วย
ในผลวิจัยล่าสุดที่ได้รับการเปิดเผยวันนี้ เหล่านักวิทยาศาสตร์จากสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และจีน ระบุว่าสามารถควบคุมจำนวนหนอนใยผักในเรือนกระจกได้ภายในเวลา 8 สัปดาห์
วิธีใหม่นี้มีกลไกการทำงานที่เฉพาะเจาะจงตามสายพันธุ์ของแมลง โดยส่งผลต่อแมลงเป้าหมายเท่านั้น ซึ่งต่างจากยาฆ่าแมลงทั่วไปที่อาจส่งผลกระทบต่อแมลงหลากหลายประเภท รวมถึงผึ้งและแมลงอื่นๆที่มีประโยชน์ นอกจากนี้ ยีนจำกัดตัวเองยังปราศจากสารพิษ นกหรือสัตว์อื่นๆจึงสามารถกินหนอนใยผักได้โดยไม่มีผลข้างเคียง
"ผลวิจัยนี้เปิดโลกใหม่ของการทำเกษตรกรรมแห่งอนาคต ด้วยวิธีควบคุมศัตรูพืชโดยปราศจากสารพิษและยาฆ่าแมลง" ดร.นีล มอร์ริสัน หัวหน้าคณะนักวิทยาศาสตร์ผู้วิจัยหนอนใยผักจาก Oxitec และผู้ร่วมจัดทำรายงาน กล่าว "เราทุกคนล้วนให้ความสนใจกับการควบคุมศัตรูพืชอย่างปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม วิธีนี้จึงน่าสนใจอย่างยิ่ง และเกษตรกรสามารถนำไปใช้ร่วมกับการจัดการศัตรูพืชด้วยวิธีผสมผสาน ในการทำเกษตรแบบปลอดภัยต่อสุขภาพและมีความยั่งยืน"
โทนี่ เชลตัน ศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชากีฏวิทยา มหาวิทยาลัยคอร์แนล ซึ่งเป็นผู้ร่วมจัดทำรายงานนี้ และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการศัตรูพืชด้วยวิธีผสมผสาน แสดงความหวังว่า เทคโนโลยีใหม่นี้จะสามารถนำไปใช้ร่วมกับระบบการเพาะปลูกแบบนิเวศเกษตร รวมถึงการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ โดยเขากล่าวว่า "สารฆ่าแมลงจากธรรมชาติและสารเคมีไม่สามารถควบคุมหนอนใยผักได้ ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่นักวิทยาศาสตร์และเกษตรกรต้องร่วมมือกันแสวงหาวิธีการใหม่ๆ"
ปัญหาหนอนใยผักทำลายพืชผักตระกูลกะหล่ำนั้นส่งผลให้เกษตรกรทั่วโลกต้องสูญเงินมากถึง 5 พันล้านดอลลาร์ในแต่ละปี เนื่องจากวิธีเดิมๆไม่สามารถควบคุมหนอนใยผักได้ ขณะที่หนอนใยผักก็ดื้อยาฆ่าแมลงมากขึ้น
ศาสตราจารย์เชลตัน ซึ่งกำลังวางแผนทำการศึกษาติดตามผล เพื่อทดสอบหนอนใยผัก Oxitec ภายใต้สภาพแวดล้อมกลางแจ้งที่รุนแรงกว่าเดิมทางตอนบนของนิวยอร์ก กล่าวเสริมว่า "หนอนใยผักเป็นปัญหาอันหนักหน่วงสำหรับเกษตรกรในรัฐนิวยอร์กและทั่วโลกที่ปลูกพืชตระกูลกะหล่ำและพืชไร่อื่นๆ โดยหนอนใยผักจะรุกรานและสร้างความเสียหายให้กับพืช นอกจากนั้นยังดื้อยาฆ่าแมลงมากขึ้น ดังนั้น เราจำเป็นต้องเร่งหาวิธีการใหม่ๆที่สามารถควบคุมหนอนใยผักได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น"
การวิจัยข้างต้นประกอบด้วยการทดลองแบบ field cage ในช่วงฤดูร้อนนี้ และมีแผนทำการทดลองในสวนขนาดเล็กในอนาคต สำหรับการทดลองขั้นต่อไปได้รับการอนุมัติจากกระทรวงเกษตรสหรัฐแล้ว หลังจากที่ได้ผ่านการตรวจสอบอย่างละเอียดจากบรรดาผู้เชี่ยวชาญอิสระและที่ปรึกษาสาธารณะเมื่อปีที่ผ่านมา
ดร.มอร์ริสันจาก Oxitec กล่าวสรุปว่า "ปัญหาทางการเกษตรมากมายได้ส่งผลให้การจัดการศัตรูพืชด้วยวิธีผสมผสานทวีความสำคัญมากขึ้น ดังนั้น เกษตรกรจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ภาคสาธารณะ และวงการวิทยาศาสตร์ เพื่อช่วยให้พวกเขามีเครื่องมือที่จำเป็นในการผลิตอาหารป้อนให้กับทุกคน"
สามารถรับชมรายงานในหัวข้อ "Pest control and resistance management through release of insects carrying a male-selecting transgene" ซึ่งได้รับการเผยแพร่ทางวารสาร BMC Biology ได้ที่ http://dx.doi.org/10.1186/s12915-015-0161-1
เกี่ยวกับ Oxitec
Oxitec คือผู้บุกเบิกการนำความรู้ทางพันธุวิศวกรรมมาใช้ควบคุมแมลงศัตรูพืช ซึ่งเป็นพาหะนำโรคและสร้างความเสียหายให้กับพืชผล ทั้งนี้ Oxitec ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2545 โดยแยกตัวออกมาจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (สหราชอาณาจักร)
เกี่ยวกับหนอนใยผัก
หนอนใยผัก (diamondback moth) เป็นแมลงศัตรูพืชที่ร้ายกาจที่สุดในโลกสำหรับพืชตระกูลกะหล่ำ เช่น กะหล่ำปลี คาโนลา บรอคโคลี กะหล่ำดอก และคะน้า เป็นต้น ศัตรูตามธรรมชาติหรือวิธีจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสานที่มีอยู่ในปัจจุบันก็ไม่สามารถจัดการกับหนอนใยผักได้ เกษตรกรทั่วโลกจึงใช้วิธีพ่นยาฆ่าแมลงใส่พืชผลซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อกำจัดแมลงร้ายเหล่านี้ ส่งผลให้หนอนใยผักดื้อยาฆ่าแมลงแทบทุกประเภท นอกจากนั้นยังก่อให้เกิดความวิตกกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับสารฆ่าแมลงตกค้างที่อาจส่งผลกระทบต่อพืชผล ความปลอดภัยของคนงาน และอาจเกิดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องแสวงหาวิธีใหม่ๆเพื่อรับมือกับปัญหานี้
รับชมวิดีโอและข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับหนอนใยผักได้ที่ http://www.oxitec.com/dbm
รับชมข้อมูลเกี่ยวกับหนอนใยผักบนเพจของศาสตราจารย์เชลตัน จากมหาวิทยาลัยคอร์แนล ได้ที่ http://bit.ly/1Cd9CYZ
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม:
เว็บไซต์: http://www.oxitec.com/dbm
เฟซบุ๊ก: http://www.facebook.com/oxitec
ทวิตเตอร์: http://www.twitter.com/oxitec
สื่อมวลชนติดต่อ:
Chris Creese
info@oxitec.com
+44(0)1235-832393
แหล่งข่าว: Oxitec