เบอร์ลิน--8 ก.ย.--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์
อ้างอิง: รับชมภาพประกอบได้ที่ AP Images ( http://www.apimages.com ) และ http://www.presseportal.de/nr/7977/
ประเทศอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ในกลุ่ม OECD ยังไม่พร้อมปฏิบัติตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ซึ่งประชาคมโลกร่วมกันกำหนดขึ้นใหม่ โดยหลายประเทศยังไม่เฉียดเข้าใกล้การบรรลุเป้าหมายด้านนโยบายที่บรรดาผู้นำประเทศหรือรัฐบาลเตรียมประกาศใช้ในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนในเดือนนี้ อันที่จริงแล้ว มีความเสี่ยงสูงมากที่หลายประเทศจะไม่บรรลุเป้าหมายทั้งหมดทุกประการ ทั้งนี้ การขาดดุลอย่างมหาศาลของประเทศอุตสาหกรรมเป็นผลพวงมาจากพฤติกรรมการบริโภคและการผลิตที่ไม่ยั่งยืน และในหลายกรณีก็พบว่าระบบเศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมทวีความรุนแรงขึ้น
ข้อมูลข้างต้นได้มาจากการศึกษาเปรียบเทียบ 34 ประเทศในกลุ่ม OECD ซึ่งจัดทำโดยมูลนิธิ Bertelsmann Foundation ของเยอรมนี โดยอ้างอิงปัจจัยชี้วัด 34 ประการในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ข้อภายในปี 2573 ซึ่งนับเป็นงานวิจัยชิ้นแรกของโลกที่มีการศึกษาสถานะปัจจุบันของประเทศเหล่านี้อย่างเป็นระบบ ทั้งแบบประเทศเดียวและนำไปเปรียบเทียบกับประเทศอื่น โดยสามารถบอกได้ว่าประเทศใดบ้างที่เป็นต้นแบบในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ขณะเดียวกันก็ชี้ให้เห็นว่าประเทศใดยังมีการขาดดุลมหาศาลอยู่ งานวิจัยชิ้นนี้จึงเป็นเสมือนพิมพ์เขียวสำหรับการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภายใน 15 ปีข้างหน้า
จากการวิจัยพบว่า ประเทศที่มีแนวโน้มสูงสุดในการบรรลุเป้าหมายใหม่ของยูเอ็นคือประเทศในสแกนดิเนเวีย 4 ประเทศ ได้แก่ สวีเดน นอร์เวย์ เดนมาร์ก และฟินแลนด์ โดยมีสวิตเซอร์แลนด์ตามมาเป็นอันดับ 5 ส่วนประเทศที่มีแนวโน้มต่ำสุดในการบรรลุเป้าหมายคือสหรัฐอเมริกา กรีซ ชิลี ฮังการี ตุรกี และเม็กซิโก
Aart De Geus ประธานของ Bertelsmann Foundation อธิบายว่า "การวิจัยของเราถือเป็นการทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Test) ครั้งแรกสำหรับกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม ผลการวิเคราะห์บ่งชี้ว่าเราต้องทำการบ้านในส่วนไหนบ้าง นอกจากนั้นยังแสดงให้เห็นว่าประเทศอุตสาหกรรมกำลังเสี่ยงที่จะพลาดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน"
ยิ่งไปกว่านั้น ผลวิจัยยังเผยถึงความแตกต่างอย่างชัดเจนของแต่ละประเทศในการบรรลุเป้าหมายแต่ละข้อ โดยเฉพาะเรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคม ซึ่งขณะนี้กำลังพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ในประเทศอุตสาหกรรม และยังคงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยใน 23 ประเทศในกลุ่ม OECD นั้น ประชากร 10% ที่มีฐานะร่ำรวยที่สุด มีรายได้อย่างต่ำเท่ากับประชากร 40% ที่มีฐานะยากจนที่สุด ส่วนในสหรัฐอเมริกานั้น ประชากร 10% ที่ร่ำรวยที่สุด มีรายได้สูงกว่าประชากร 40% ที่ยากจนที่สุดถึง 1.7 เท่า และในชิลีส่วนต่างดังกล่าวสูงถึง 3.3 เท่า แต่ในประเทศอื่นๆ อย่างสโลวาเกีย สโลวีเนีย นอร์เวย์ สาธารณรัฐเช็ก และเดนมาร์กนั้น รายได้ของประชากรมีการกระจุกตัวน้อยกว่ามาก ซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าความเหลื่อมล้ำไม่ใช่สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
ความแตกต่างอย่างมากยังปรากฏให้เห็นในอีกหลายด้าน เช่น มลพิษทางสิ่งแวดล้อม โดยประเทศต่างๆ อย่างออสเตรเลีย แคนาดา โปแลนด์ และเม็กซิโก มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วยการผลิตเศรษฐกิจมากกว่า 6 เท่าเมื่อเทียบกับสวีเดนหรือนอร์เวย์ นอกจากนี้ สัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนของแต่ละประเทศก็ยังแตกต่างกันมาก เช่น เกาหลีใต้ สหราชอาณาจักร และเนเธอร์แลนด์ ใช้พลังงานทดแทนไม่ถึง 4% ในทางกลับกัน ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ และสวีเดน มีสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนมากกว่า 47% และกำลังขยายสัดส่วนอย่างต่อเนื่องโดยไม่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจแต่อย่างใด
โคฟี อันนัน ผู้ตั้งเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (MDG) เรียกร้องให้ประเทศที่มีความมั่งคั่งมีส่วนร่วมมากขึ้น โดยกล่าวว่า "ผมต้องขอขอบคุณ Bertelsmann Foundation ที่ได้เน้นย้ำและลงรายละเอียดในประเด็นนี้ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการศึกษาในครั้งนี้จะจุดประกายให้เกิดการอภิปรายว่าด้วยเรื่องความยั่งยืนและความเป็นธรรมในสังคมในกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูง เรามีหน้าที่รับผิดชอบต่อโลกใบนี้และประชาชนทุกคน"
รับชมข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.bertelsmann-stiftung.org
ติดต่อผู้เชี่ยวชาญของเรา
ดร. คริสเตียน โครลล์
โทร. +49/5241-81-81471
มือถือ: +49/173-6601646
อีเมล์: christian.kroll@bertelsmann-stiftung.de
แหล่งข่าว: Bertelsmann Stiftung