บอนน์--4 ก.พ.--นิวส์ แอคทูเอลล์-เอเชียเน็ท
ผู้คนมากมายต่างคาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า กรุงบอนน์จะเป็นเหมือนเจ้าหญิงนิทราอีกครั้งหลังจากที่รัฐบาลกลางได้ย้ายออกไป แต่กรุงบอนน์กำลังมองไปสู่อนาคตด้วยการเป็น 1 ในสถานที่ประกอบธุรกิจที่น่าดึงดูดใจที่สุดในเยอรมนี โดยในและรอบกรุงบอนน์ซึ่งนสพ.แดร์ สปีเกล ซึ่งเป็นนสพ.รายสัปดาห์ของเยอรมนี ได้เรียกว่าเป็นเมืองแห่งความเฟื่องฟูนั้น ทั้งนักลงทุนของรัฐและเอกชนต่างก็เชื่อมั่นในการขยายตัว ในขณะที่เมืองโคโลญจ์ ซึ่งเป็นเมืองใกล้เคียง ได้มีบทบาทในฐานะศูนย์กลางด้านสื่อและมหานครทางการพาณิชย์ชั้นนำ โดยท่าอากาศยานโคโลญจ์/บอนน์ได้มีส่วนในการมีบทบาทที่สำคัญ และได้ต้อนรับสหัสวรรษใหม่ด้วยแนวคิดเกี่ยวกับการคมนาคมและการสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารแห่งใหม่
จากการที่ท่าอากาศยานโคโลญจ์/บอนน์มีสถานที่ตั้งที่เหมาะสม และเป็นประตูไปสู่ภูมิภาคที่เฟื่องฟู ท่าอากาศยานดังกล่าวจึงมีแนวโน้มว่าจะเป็นแนวทางไปสู่การเป็นประตูสำคัญสำหรับตลาดยุโรป โดยพื้นที่ของท่าอากาศยานได้ครอบคลุมพื้นที่ทางเศรษฐกิจแถบลุ่มแม่น้ำไรน์/รูห์, พื้นที่นอร์ธ ไรน์ เวสต์ฟาเลียทั้งหมด ซึ่งเป็นรัฐที่มีประชากรมากที่สุดของเยอรมนี โดยบริเวณดังกล่าวเป็นฐานสำหรับบริษัทส่งออกที่แข็งแกร่งที่สุดของเยอรมนีมากกว่า 30 % ซึ่งบริษัทเหล่านั้น ผลิตสินค้าสำหรับการส่งออกคิดเป็น 25 % ของการส่งออกทั้งหมด โดยจะมีผลโดยตรงต่อการขนส่งทางอากาศ ซึ่งแม้ว่ารัฐบาลได้ย้ายไปยังกรุงเบอร์ลินแล้วก็ตาม แต่จำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องได้ทำให้มีความจำเป็นในการขยายโคโลญจ์/บอนน์ออกไป ซึ่งในฤดูใบไม้ผลิปี 2000 อาคารผู้โดยสารแห่งใหม่จะแล้วเสร็จ ซึ่งจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้อีก 6 ล้านคน/ปี
นายไฮส์ กอมเบล กรรมการผู้จัดการได้รายงานว่า "ผู้ประกอบการท่าอากาศยานได้ลงทุนเป็นเงินทั้งหมด 600 ล้านมาร์คในอาคารผู้โดยสารทันสมัยปี 2000 ซึ่งออกแบบโดยนายเฮลมุท จาห์น สถาปนิกจากเมืองชิคาโก โดยรัฐบาลกลาง, รัฐนอร์ธ ไรน์-เวสต์ฟาเลีย และผู้ประกอบการท่าอากาศยาน ได้ให้เงินสนับสนุนอีกประมาณ 1 พันล้านมาร์ค เพื่อปรับปรุงโครงสร้างสาธารณูปโภค"
การเชื่อมต่อกับเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงไอซีอีในปี 2002 จะทำให้เมืองโคโลญจ์/บอนน์เป็น 1 ในศูนย์กลางการคมนาคมที่ทันสมัยที่สุดในยุโรป โดยการเชื่อมต่อความเร็วสูงในทุกทิศทาง หมายความว่า จะสามารถเดินทางไปถึงปารีส, อัมสเตอร์ดัม หรือแฟรงเฟิร์ตในเวลาที่สั้นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
นอกจากนี้ ปัจจัยดังต่อไปนี้ยังเป็นประโยชน์ต่อเมืองบอนน์ : การเป็นที่ตั้งในปัจจุบันขององค์กร 5 แห่งของสหประชาชาติ, กระทรวงของรัฐบาลกลาง 6 กระทรวง และสถาบันชั้นสูงหลายแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านวิทยาศาสตร์และการวิจัย ในขณะที่ธุรกิจของเอกชนได้ทำการลงทุนส่วนใหญ่ในภาคต่างๆแห่งอนาคต อาทิ เทคโนโลยีชีวภาพ, เทคโนโยลีระดับสูง และการสื่อสารโทรคมนาคม
ติดต่อ : ฟลูกฮาเฟน โคเอลน์-บอนน์ (ท่าอากาศยานโคโลญจ์-บอนน์) เจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าว นายวอลเตอร์ โรเอมเมอร์ โทรศัพท์ : +49-2203-404065 --จบ--
--แปลและเรียบเรียงจากข่าว # 21190 -สจ/กก--