เบอร์ลิน--6 ก.ย.--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์
แถลงการณ์จากคุณแมทเทียส วิสส์แมนน์ ประธานสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์เยอรมัน (VDA) ในระหว่างการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนผ่านทางเว็บ เมื่อเวลา 14.00 น. ของวันศุกร์ที่ 2 กันยายน 2559 ก่อนเปิดฉากมหกรรมยานยนต์ IAA
ยานยนต์และเทคโนโลยีมากกว่า 320 รายการเตรียมเปิดตัวเป็นครั้งแรกของโลก - ผู้จัดแสดง 2,000 ราย จาก 52 ประเทศ - ตลาดยุโรปแข็งแกร่งหนุนมหกรรม IAA
ในอีก 3 สัปดาห์ข้างหน้า มหกรรม "IAA Commercial Vehicles" ครั้งที่ 66 จะเปิดฉากขึ้นที่เมืองฮันโนเวอร์ ประเทศเยอรมนี
มหกรรม IAA ถูกจองเกือบเต็มพื้นที่แล้ว โดยเรามีความยินดีอย่างยิ่งที่มีผู้ให้ความสนใจจองพื้นที่มากเช่นนี้ ด้วยพื้นที่กว้างขวางถึง 270,000 ตารางเมตร มหกรรม IAA ปีนี้จึงเป็นงานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับต้นๆ นับตั้งแต่ที่มหกรรม IAA Commercial Vehicles ได้จัดแยกออกมา
มหกรรม IAA ถือเป็นงานที่สำคัญที่สุดของโลกสำหรับแวดวงการขนส่ง โลจิสติกส์ และการเคลื่อนย้าย โดยผู้จัดแสดงประมาณ 2,000 ราย จาก 52 ประเทศ จะมารวมตัวกันที่งานนี้เพื่อนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆของตน นอกจากนี้ งานในปีนี้มียังมีความเป็นสากลมากกว่าที่เคย เนื่องจากมีประเทศต่างๆ ร่วมงานเพิ่มขึ้นถึง 15%
สำหรับการเปิดตัวเป็นครั้งแรกของโลกนั้น ยังสรุปจำนวนแน่นอนไม่ได้จนกว่าจะใกล้ถึงวันเปิดมหกรรม IAA โดยเรายังคงได้รับเสียงตอบรับจากผู้จัดแสดงเพิ่มขึ้นทุกวัน และวันนี้ ผมสามารถเรียนให้ท่านทราบได้ว่า มหกรรม IAA ปีนี้มาพร้อมกับพลังขับเคลื่อนนวัตกรรมที่แข็งแกร่งยิ่งกว่าเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งจนถึงขณะนี้ บรรดาผู้จัดแสดงต่างแจ้งว่า พวกเขาจะจัดงานเปิดตัวครั้งแรกของโลกที่งานนี้มากกว่า 320 รายการ นอกจากนี้ ยังจะมีการเปิดตัวครั้งแรกของยุโรปกว่า 100 รายการด้วย
เมื่อมหกรรม IAA เปิดฉากขึ้น ภายในงานจะเต็มไปด้วยบรรยากาศความเป็นสากล โดยปีนี้มีผู้จัดแสดงจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 61% และนับจนถึงวันนี้ มีผู้สื่อข่าวกว่า 1,100 ราย จากประมาณ 50 ประเทศแล้ว ที่ได้รับการรับรองเพื่อร่วมทำข่าวในมหกรรม IAA
มหกรรม IAA เตรียมนำเสนอห่วงโซ่มูลค่าระดับโลกในแวดวงยานยนต์พาณิชย์ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้ผลิตรถบรรทุกงานหนัก รถตู้ และรถบัส ผู้ผลิตรถพ่วงและตัวถังรถ ตลอดจนบริษัทผู้จัดหาและผู้ให้บริการอีกมากมาย
งานในปีนี้มีสโลแกนว่า "ขับเคลื่อนด้วยแนวคิด" (Driven by Ideas) ดังนั้นอุตสาหกรรมยานยนต์จึงจะเน้นย้ำเมกะเทรนด์เหล่านี้ ขณะที่ภาคยานยนต์พาณิชย์จะนำเสนอโซลูชั่นต่างๆ ตามขอบเขตที่ว่า:
- เทรนด์เหล่านี้รวมถึงสิ่งสำคัญที่สุดประการแรก นั่นคือการขับขี่อัตโนมัติและมีการเชื่อมต่อถึงกัน ซึ่งในที่นี้เรากำลังพูดถึง "การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล" ของทั้งอุตสาหกรรม
- เทรนด์เหล่านี้รวมถึงระบบส่งกำลังทางเลือก ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในภาคส่วนยานยนต์พาณิชย์และรถบัส โดยการขับขี่ด้วยระบบไฟฟ้าและไฮบริด ตลอดจนก๊าซธรรมชาติ ถือเป็นคำสำคัญ ณ ที่นี้
- นอกจากนี้ เทรนด์เหล่านี้ยังรวมถึง "ระบบโลจิสติกส์ในเมือง" ซึ่งทำให้การขนส่งและโลจิสติกส์ในเมืองเล็ก เมืองใหญ่ มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น
เพื่อเน้นย้ำถึงประเด็นเหล่านี้ เราจึงได้กำหนดเป็นหัวข้อพิเศษสำหรับมหกรรม IAA Commercial Vehicles ภายใต้แผนริเริ่ม "New Mobility World logistics"
แผนริเริ่มใหม่นี้มีเป้าหมายเพื่อเน้นย้ำความสำคัญของการออกแบบแห่งอนาคต แนวคิดใหม่ด้านโลจิสติกส์ ข้อเสนอและบริการจากผู้จัดแสดง เพื่อกระตุ้นการรับรู้ของผู้เข้าร่วมงานต่อประเด็นเหล่านี้ และเพื่อดึงดูดความสนใจของบริษัทและผู้เข้าร่วมงานกลุ่มใหม่ๆ
นอกจากนี้ New Mobility World logistics ยังช่วยเน้นย้ำประเด็นด้านโลจิสติกส์และการขนส่งแห่งอนาคตให้ยิ่งเด่นชัดมากขึ้น
ด้วยเหตุนี้ เราจึงดำเนินการวางขอบข่ายงานใหม่ เพื่อเป็นช่องทางสนทนาของผู้ถือผลประโยชน์ร่วมทุกราย
เราได้เลือก 5 ขอบเขตที่สำคัญสำหรับแผนริเริ่ม New Mobolity World logistics ประกอบด้วย
- ยานพาหนะที่มีการเชื่อมต่อ
- การขับเคลื่อนอัตโนมัติ
- ระบบส่งกำลังรถยนต์ทางเลือก
- โลจิสติกส์ในเมือง
- บริการขนส่ง
เทรนด์นวัตกรรมเหล่านี้ไม่ได้ยึดติดกับผู้ให้บริการรายใดรายหนึ่งอีกต่อไป ซึ่งในงาน IAA ครั้งนี้ วงการอุตสาหกรรมจะแสดงให้เห็นถึงกระบวนการที่ครบถ้วน อีกทั้งจะแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นต่อขอบเขตนวัตกรรมเหล่านี้
ผู้เข้าชมงาน IAA ในปีนี้จะได้รับประสบการณ์หลากหลายจากบูธของผู้จัดแสดงและจากการประชุมจำนวนมาก รวมไปถึงส่วนจัดแสดงกลางแจ้ง "New Mobility World LIVE" ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ผู้เข้าชมงานได้เห็นการสาธิตการขับขี่ที่ปราดเปรียวและมีการตอบสนองกับผู้ชม นอกจากนี้ บรรดาผู้จัดแสดงจะนำเสนอนวัตกรรมของตนให้ผู้เยี่ยมชมได้สัมผัส ในระหว่างกิจกรรม Guided Tours ซึ่งการพาชมทั่วงานในแต่ละครั้งนั้นจะมุ่งเน้นไปที่ขอบเขตสำคัญ 1 ใน 5 ขอบเขต ขณะเดียวกันภายในงานยังจะมีการทดลองขับขี่รถยนต์ไฟฟ้าในพื้นที่จัดแสดง รวมทั้งการทดลองขับรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ขนาดใหญ่และขนาดเล็กบนถนนสาธารณะด้วย
การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลถือเป็นประเด็นที่บรรดาผู้ผลิตกำลังพยายามผลักดัน อย่างไรก็ดี สิ่งนี้ไม่อาจเกิดขึ้นได้หากขาดซัพพลายเออร์ที่ต่างก็แสดงความมุ่งมั่นต่อเรื่องนี้เช่นกัน
เป้าหมายมีความชัดเจน นั่นคือ การเชื่อมต่อจะทำให้การคมนาคมขนส่งเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
รถยนต์พาณิชย์เริ่มมีความเป็นอัจฉริยะมากขึ้น โดยในอนาคตอาจมีกล้องแบบมัลติฟังก์ชั่น เรดาร์ และเซนเซอร์แบบอัลตราซาวด์ มาทำหน้าที่ "เป็นหู เป็นตา" เพื่อช่วยในการขับขี่อัตโนมัติ ขณะที่ข้อมูลแบบเรียลไทม์จะถูกนำมาใช้เพื่อแจ้งเตือนรถบรรทุกเกี่ยวกับการจราจรติดขัดข้างหน้า ซึ่งเป็นการต่อยอดจากในปัจจุบันที่ได้มีการนำระบบเบรคฉุกเฉินมาใช้แล้ว
และในอนาคต รถบรรทุกขนาดใหญ่จะสามารถขับขี่อัตโนมัติไปบนท้องถนนผ่านการเชื่อมต่อแบบดิจิทัล (หรือที่เรียกว่า "platooning") ซึ่งจะช่วยลดการใช้พลังงานและเพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนนไปพร้อมกัน
การขับขี่ระบบไฟฟ้าและระบบไฮบริดไม่เพียงถูกนำมาใช้กับรถตู้หรือรถบัสเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงรถบรรทุกขนาดใหญ่ด้วย ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจว่าการใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซ CO2 จะลดลงยิ่งขึ้นไปอีก โดยเชื้อเพลิงทางเลือกอื่น ๆ เช่น ก๊าซธรรมชาติ ก็ถือเป็นทางเลือกที่มีศักยภาพในการลดการปล่อยก๊าซ CO2 จากรถบรรทุก
การเชื่อมต่อและการเคลื่อนที่ด้วยไฟฟ้าจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นว่า ระบบโลจิสติกส์ในเมืองแห่งอนาคต หรือ "last mile" จะมีความรวดเร็วยิ่งขึ้น และมีการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์
งาน IAA ครั้งนี้จะแสดงให้เห็นว่า เราจะมีระบบขับเคลื่อนและส่งกำลังที่ผสมผสานกันอย่างกว้างขวางในอนาคต โดยเครื่องยนต์ดีเซลจะยังคงมีบทบาทสำคัญในการขนส่งระยะไกล (ด้วยรถบรรทุกขนาดใหญ่) ขณะที่เทคโนโลยีบำบัดไอเสีย (Euro VI, SCR และ AdBlue) ไม่เพียงมีประสิทธิภาพและราคาย่อมเยาเท่านั้น แต่ยังเป็นเทคโนโลยีสะอาดอีกด้วย ปัจจุบัน รถบรรทุกและรถบัสที่ใช้ระบบ Euro VI มีการปล่อยมลพิษต่ำมาก ทั้งในระหว่างการทดสอบและการขับจริงบนท้องถนน ซึ่งการปล่อยมลพิษที่ลดลงนี้ถือว่าประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดีกับยานยนต์พาณิชย์
ทั้งนี้ เห็นได้อย่างชัดเจนว่า แนวโน้มระบบโลจิสติกส์ในเมืองนั้นกำลังเปลี่ยนไปสู่การใช้ระบบส่งกำลังทางเลือก โดยยานพาหนะที่ใช้ระบบไฮบริดและระบบไฟฟ้าเริ่มที่จะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรถตู้และรถบัส และจะมีการนำระบบดังกล่าวไปปรับใช้กับรถบรรทุกหนักในการกระจายสินค้าในอนาคตอันใกล้นี้
นอกจากการจัดแสดงแล้ว IAA ยังถือเป็นเวทีการประชุมขนาดใหญ่ ซึ่งประกอบไปด้วยงานเฉพาะทาง 27 งาน ครอบคลุมทุกหัวข้อที่เกี่ยวข้อง
โดยงานเหล่านี้จะรวมถึงกิจกรรม "คลาสสิก" ของเราอย่าง Hazardous Goods Day บวกกับกิจกรรมที่ชูประเด็นทันต่อยุคสมัย ได้แก่ การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล การเชื่อมต่อ (ในกิจกรรม "Lab16" ซึ่งเป็นเวทีเสวนาสำหรับเหล่าสตาร์ทอัพ) และโลจิสติกส์ในเมือง ตลอดจนอีกหลายกิจกรรมที่มุ่งเน้นให้ความรู้และฝึกอบรมด้านการขนส่งและโลจิสติกส์
ในส่วนของตลาดนั้น
ตลาดรถยนต์พาณิชย์ในยุโรปตะวันตกมีความเฟื่องฟู โดยยอดการจดทะเบียนรถบรรทุกงานหนัก (มากกว่า 6 t) ได้เพิ่มขึ้น 14% แตะที่ระดับ 259,000 คันในปีที่แล้ว
สำหรับในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ ตัวเลขดังกล่าวปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก 12% ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในหลายประเทศของยุโรปตะวันตก เมื่อเศรษฐกิจไปด้วยดี ยอดขายรถยนต์พาณิชย์ก็จะเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย โดยในยุโรปตะวันตก เราทำสถิติยอดขายยานยนต์พาณิชย์ขนาดใหญ่ได้สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2551 แต่ตัวเลขดังกล่าวก็ยังนับว่าห่างไกลจากช่วงก่อนเกิดวิกฤต
สำหรับทั้งปี เราคาดว่าจะเติบโต 8% ในยุโรปตะวันตก แตะที่ระดับ 280,000 คัน
ยิ่งไปกว่านั้น รถยนต์พาณิชย์มากกว่าครึ่งหนึ่ง (มากกว่า 6 t) ที่จดทะเบียนในยุโรปตะวันตกนั้นเป็นแบรนด์เยอรมัน
ตลาดรถตู้ในยุโรปตะวันตกก็กำลังเฟื่องฟูเช่นกัน โดยเรามีอัตราการเติบโตในระดับตัวเลขสองหลักในช่วงสองปีที่ผ่านมา และตั้งแต่ต้นปีจนถึงขณะนี้ ตลาดรถตู้ขยายตัวแล้ว 12%
ในทางตรงกันข้าม ตลาดรถบรรทุกสหรัฐจะชะลอตัวในปีนี้ ซึ่งถือเป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติ หลังจากที่ขยายตัวมา 6 ปีติดต่อกัน
สำหรับตลาดจีนนั้น ตลาดรถยนต์บรรทุกหนักจะกลับมาขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งอีกครั้งในปี 2559 หลังจากอ่อนแรงมา 2 ปี
ขณะที่สถานการณ์ในรัสเซียและบราซิลยังคงน่ากังวล เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศเหล่านี้ตกต่ำมาก และยังไม่มีทีท่าว่าจะปรับตัวดีขึ้นในเร็วๆ นี้
โดยสรุปแล้ว ตลาดรถยนต์พาณิชย์ทั่วโลก (มากกว่า 6 t) จะเติบโตในปีนี้ เช่นเดียวกับตลาดรถบรรทุก ซึ่งได้รับแรงขับเคลื่อนจากยอดสั่งซื้อออนไลน์ของภาคครัวเรือนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เราตั้งตารอการเปิดงาน IAA ครั้งที่ 66 โดยมหกรรมจัดแสดงชั้นนำของโลกปีนี้จะมุ่งเน้นไปที่หัวข้อที่กำลังเป็นที่สนใจอย่างการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล การเชื่อมต่อ และการขับขี่อัตโนมัติ ตลอดจนระบบส่งกำลังทางเลือก IAA จึงถือเป็นงานที่ "ขับเคลื่อนด้วยแนวคิด" อย่างแท้จริง
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา อุตสาหกรรมยานยนต์พาณิชย์ถือเป็นผู้ให้บริการด้านการเคลื่อนย้ายและโลจิสติกส์ และในอนาคตนั้น การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลและระบบส่งกำลังทางเลือกจะนำเสนอโอกาสอันยิ่งใหญ่ในการเพิ่มปริมาณการขนส่งทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับประสิทธิภาพและความเป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศต่อไป
ติดต่อ:
Eckehart Rotter
German Association of the Automotive Industry (VDA)
Press Department
โทร.: +49-30-897842-120
อีเมล: rotter@vda.de
ที่มา: German Association of the Automotive Industry (VDA)