เจนีวา--29 ก.ย.--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์
เนื่องในวันหัวใจโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 29 กันยายน 2559 ทางสมาพันธ์หัวใจโลก (WHF) ได้ออกมารณรงค์ให้ทั่วโลกใช้พลังของข้อมูลข่าวสารเพื่อช่วยชีวิตประชากร 1 ใน 10 ของโลกที่เสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคหัวใจและหลอดเลือด[1]
(โลโก้: http://photos.prnewswire.com/prnh/20160927/412404LOGO )
โรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตทั่วโลก โดยคร่าชีวิตผู้ป่วยกว่า 17 ล้านคนต่อปี อย่างไรก็ตาม กว่า 80% ของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถป้องกันได้[2]
ด้วยเหตุนี้ เว็บไซต์วันหัวใจโลก ( http://worldheartday.org ) จึงได้รวบรวมข้อมูลสำคัญๆ เพื่อให้ผู้คนตระหนักถึงสุขภาพหัวใจของตนเองมากขึ้น เช่น แบบทดสอบระดับ IQ ของหัวใจ ที่จะทำให้รู้ว่าเราดูแลหัวใจดีแค่ไหน นอกจากนี้ ทางสมาพันธ์หัวใจโลกยังได้เรียกร้องให้ ผู้กำหนดนโยบายและรัฐบาลประเทศต่างๆ ใช้ข้อมูลข่าวสารให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงใช้ระบบติดตามและเฝ้าระวังโรคหัวใจและหลอดเลือดที่เชื่อถือได้และมีประสิทธิภาพด้วย
การออกมา รณรงค์ ครั้งนี้อยู่บนพื้นฐานของข้อมูล สรุปนโยบาย ของทางสมาพันธ์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงเกี่ยวกับการเฝ้าระวังโรคหัวใจและหลอดเลือดของประเทศต่างๆทั่วโลกที่ไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ทั้งยังกล่าวถึงความท้าทายอีกหลายประการ เช่น การขาดแคลนทรัพยากร บุคลากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ไปจนถึงการขาดแรงผลักดันทางการเมือง นอกจากนั้นยังให้ข้อเสนอแนะต่างๆ ทั้งในด้านการเสริมความแข็งแกร่งของระบบจดทะเบียนชีพ การแบ่งปันแนวปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ ไปจนถึงการทำลายแรงเฉื่อยทางการเมือง
โจฮันนา ราลสตัน ประธานบริหารสมาพันธ์หัวใจโลก กล่าวว่า "โรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ในหลายกรณี เราจึงพยายามรณรงค์ให้ประชาชนเริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเองในวันหัวใจโลกนี้ การเปลี่ยนพฤติกรรมเล็กๆน้อยๆ เช่น การหันมารับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ลดการดื่มแอลกอฮอล์ และเลิกสูบบุหรี่ สามารถทำให้สุขภาพหัวใจดีขึ้นได้จริงๆ นอกจากนี้ เรายังต้องการระบบเฝ้าระวังที่มีประสิทธิภาพและมีความละเอียดมากกว่าเดิม เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้นว่าประเทศใดบ้างที่ต้องการความช่วยเหลือ และประเทศใดบ้างที่เราสามารถเอาเป็นแบบอย่างได้"
ปัจจุบัน คาดว่ามีเพียง 42 ประเทศที่มีระบบติดตามและเฝ้าระวังโรคไม่ติดต่อ ซึ่งนับว่าเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุเป้าหมายการลดจำนวนผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อขององค์การอนามัยโลก[3]
รับชมข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวันหัวใจโลกได้ที่ http://www.worldheartday.org
อ้างอิง
1. World Health Organization, 2012
2. http://www.world-heart-federation.org/what-we-do/world-heart-day/about-world-heart-day/
3. Kroll et al. Challenges to the surveillance of non-communicable diseases-a review of selected approaches BMC Public Health (2015) 15:1243 DOI 10.1186/s12889-015-2570-z
ที่มา: The World Heart Federation (WHF)