ดาร์มสตัดท์, เยอรมนี--15 มิ.ย.--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์
- สิทธิบัตรครอบคลุมความสำเร็จในการผนวกลำดับดีเอ็นเอภายนอกเข้าสู่โครโมโซมของเซลล์ยูคาริโอตด้วยเทคนิค CRISPR
- สิทธิบัตรอื่นๆที่คล้ายคลึงกันนั้นกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาในหลายประเทศ คาดผลการพิจารณาจะเป็นที่น่าพอใจ
เมอร์ค ( Merck ) บริษัทวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นนำ ประกาศในวันนี้ว่า สำนักงานสิทธิบัตรแห่งออสเตรเลีย ได้อนุมัติสิทธิในสิทธิบัตรให้กับบริษัท สำหรับการใช้เทคนิค CRISPR เพื่อแทรกจีโนมเข้าในเซลล์ยูคาริโอต
สิทธิบัตรนี้เป็นสิทธิบัตรฉบับแรกที่ เมอร์ค ในฐานะผู้นำด้านการตัดต่อจีโนม ได้รับสำหรับเทคโนโลยี CRISPR สิทธิบัตรดังกล่าวครอบคลุมการแทรกโครโมโซม หรือการตัดลำดับโครโมโซมของเซลล์ยูคาริโอต (เช่น เซลล์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และเซลล์พืช) รวมถึงการแทรกลำดับดีเอ็นเอภายนอกหรือดีเอ็นเอผู้ให้ เข้าสู่เซลล์เหล่านี้ด้วยเทคนิค CRISPR
"เมอร์คได้พัฒนาเครื่องมืออันน่าทึ่ง เพื่อให้นักวิทยาศาสตร์สามารถค้นพบวิธีการบำบัดและรักษาแบบใหม่ๆ สำหรับโรคที่ปัจจุบันยังมีตัวเลือกจำกัด ไม่ว่าจะเป็นโรคมะเร็ง โรคหายาก และโรคเรื้อรังอย่างโรคเบาหวาน" อูดิท บาทรา สมาชิกคณะกรรมการบริหารของเมอร์ค และซีอีโอกลุ่มธุรกิจชีววิทยาศาสตร์ ( Life Science ) กล่าว "การอนุมัติสิทธิบัตรครั้งนี้เป็นการแสดงถึงการยอมรับความเชี่ยวชาญของเราในเรื่องเทคโนโลยี CRISPR อันเป็นองค์ความรู้ที่เรามุ่งพัฒนาให้เติบโตต่อไป"
เมอร์ค ได้ยื่นขอสิทธิบัตรสำหรับเทคนิค CRISPR ในบราซิล แคนาดา จีน ยุโรป อินเดีย อิสราเอล ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา
เทคโนโลยีตัดต่อจีโนม CRISPR ซึ่งช่วยให้ตัดต่อโครโมโซมในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตได้อย่างแม่นยำนั้น กำลังจะเข้ามาช่วยเพิ่มทางเลือกในการรักษาโรคที่รักษาได้ยากที่สุดเป็นอันดับต้นๆในยุคนี้ เทคนิค CRISPR นี้นำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการระบุยีนที่มีความสัมพันธ์กับมะเร็งและโรคหายาก ไปจนถึงการคืนสภาพการกลายพันธุ์ที่เป็นสาเหตุให้ตาบอด
เมอร์ค สั่งสมประสบการณ์ในการปรับแต่งจีโนมมาเป็นระยะเวลา 14 ปี และยังเป็นบริษัทแรกที่นำเสนอบริการชีวโมเลกุลตามสั่งสำหรับการปรับแต่งจีโนม (อินทรอนกลุ่มที่ 2 ชนิด RNA-guided อย่าง TargeTron(TM) และนิวคลีเอสโปรตีนสังกะสีนิ้ว CompoZr(TM)) ซึ่งขับเคลื่อนการใช้เทคนิคเหล่านี้ในแวดวงการวิจัยทั่วโลก นอกจากนี้ เมอร์คยังเป็นบริษัทแรกที่ผลิตไลบรารี CRISPR แบบแถวลำดับ ครอบคลุมจีโนมมนุษย์ทั้งหมด เพื่อเร่งให้เกิดการรักษาโรคด้วยการเปิดโอกาสให้นักวิจัยตอบข้อสงสัยเรื่องสาเหตุของโรคได้มากขึ้น
เทคโนโลยีแทรกจีโนมด้วยเทคนิค CRISPR ของเมอร์ค ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถแทนที่การกลายพันธุ์ที่มีความเกี่ยวข้องกับโรค ด้วยลำดับที่เป็นประโยชน์หรือพร้อมทำหน้าที่ ซึ่งเป็นกลวิธีสำคัญในการสร้างโมเดลของโรคและการทำยีนบำบัด นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังสามารถใช้กลวิธีดังกล่าวในการแทรกทรานส์ยีนที่คอยติดฉลากโปรตีนภายในเพื่ออำนวยความสะดวกในการตรวจสอบภายในเซลล์ด้วยสายตา
เมื่อเดือนพฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา เมอร์คประกาศว่า ทางบริษัทได้พัฒนากลวิธีการตัดต่อจีโนมด้วยเทคนิค CRISPR ในรูปแบบใหม่ โดยมีชื่อว่า proxy-CRISPR เทคนิคใหม่นี้ไม่เหมือนระบบอื่นๆ เพราะ proxy-CRISPR ของเมอร์ค สามารถตัดต่อเซลล์ในส่วนที่แต่เดิมเข้าถึงไม่ได้ ส่งผลให้ CRISPR มีประสิทธิภาพมากขึ้น ยืดหยุ่นขึ้น และเจาะจงยิ่งขึ้น ทั้งยังเปิดโอกาสให้นักวิจัยมีตัวเลือกทางการทดลองมากขึ้นด้วย เมอร์คได้ยื่นเรื่องจดสิทธิบัตรเทคโนโลยี proxy-CRISPR มาแล้วหลายฉบับ โดยการยื่นจดสิทธิบัตรที่เจาะจงเทคโนโลยี proxy-CRISPR โดยตรงนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสิทธิบัตรด้าน CRISPR ที่ทางบริษัทได้ดำเนินการยื่นขอตั้งแต่ปี 2555
นอกเหนือจากการวิจัยด้านการตัดต่อยีนระดับพื้นฐานแล้ว เมอร์คสนับสนุนการพัฒนากลวิธีรักษาโรคด้วยยีนและเซลล์ โดยเป็นผู้ผลิตพาหะไวรัส (viral vector) ด้วยเช่นกัน ล่าสุดในปี 2559 ทางบริษัทได้เปิดตัวโครงการริเริ่มด้านการปรับแต่งจีโนม ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อยกระดับการวิจัยในขอบข่ายใหม่นี้ ไม่ว่าจะเป็นการตัดต่อจีโนมไปจนถึงการผลิตยาจากยีน ด้วยทีมงานที่มีความทุ่มเท รวมถึงทรัพยากรที่ได้รับการยกระดับ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งตามพันธสัญญาของบริษัทในสาขานี้
ข่าวประชาสัมพันธ์ของเมอร์คทั้งหมดได้รับการเผยแพร่ผ่านทางอีเมลในช่วงเวลาเดียวกับที่มีการเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ของเมอร์ค กรุณาเข้าไปที่ www.merckgroup.com/subscribe เพื่อลงทะเบียนออนไลน์ เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกบริการนี้
เกี่ยวกับเมอร์ค
เมอร์ค คือบริษัทวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นนำในด้านการดูแลสุขภาพ ชีววิทยาศาสตร์ และเพอร์ฟอร์แม้นซ์ แมททิเรียล พนักงานราว 50,000 คนของบริษัทได้ร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆที่ช่วยปรับปรุงและยกระดับคุณภาพชีวิต ตั้งแต่ยาชีวภาพเพื่อรักษาโรคมะเร็งหรือโรคปลอกประสาทอักเสบ ระบบที่ทันสมัยสำหรับการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และการผลิต ไปจนถึง liquid crystal ที่ใช้กับสมาร์ทโฟนและโทรทัศน์ LCD ทั้งนี้ ในปี 2559 เมอร์คทำยอดขายได้ 1.5 หมื่นล้านยูโร ใน 66 ประเทศ
เมอร์ค เป็นบริษัทเภสัชภัณฑ์และเคมีที่เก่าแก่ที่สุดในโลก โดยก่อตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2211 และปัจจุบันครอบครัวผู้ก่อตั้งยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของกลุ่มบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เมอร์คครอบครองสิทธิ์ในชื่อและแบรนด์ "เมอร์ค" ทั่วโลก ยกเว้นในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ซึ่งบริษัทดำเนินธุรกิจในชื่อ อีเอ็มดี โซโรโน่, มิลลิพอร์ซิกม่า และอีเอ็มดี เพอร์ฟอร์แม้นซ์ แมททิเรียล
รูปภาพ - https://mma.prnewswire.com/media/522938/Merck_CRISPR_Patent.jpg