หางโจว, จีน--7 ก.ค.--ซินหัว-เอเชียเน็ท/อินโฟเควสท์
เมื่อวันที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา คณะกรรมการส่งเสริมความร่วมมือระดับท้องถิ่นของโครงการเส้นทางสายไหมทางบกและทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 (BRLC) ภายใต้สหพันธ์เมืองและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (UCLG Asia Pacific Region) ได้ตั้งสำนักงานใหญ่อย่างเป็นทางการบริเวณริมทะเลสาบซีหู และกลายมาเป็นสมาชิกถาวรของนครหางโจว ซึ่งเป็นเมืองเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ปี 2016 และเตรียมก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางทางยุทธศาสตร์ของโครงการ "เส้นทางสายไหมออนไลน์" (Online Silk Road)
"Belt and Road เป็นหนึ่งในโครงการที่สำคัญที่สุดเท่าที่ดิฉันเคยเห็นมาตลอดชีวิต" เจนนี ชิปลีย์ อดีตนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ และกรรมการบอร์ด International Finance Forum กล่าวในที่ประชุม Silk Road International Association Inaugural Meeting 2017 เมื่อวันที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมา
จ้าว อี้เต๋อ เลขาธิการคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำนครหางโจว กล่าวว่า นครหางโจวจะเดินหน้าสร้างเขตทดลองอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนแบบครบวงจร รวมถึงเร่งจัดตั้งศูนย์นวัตกรรม บริการ และบิ๊กดาต้าที่มีความสามารถในการแข่งขันในระดับนานาชาติสำหรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ดีที่สุดสำหรับอีคอมเมิร์ซ และผลักดันให้นครหางโจวก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางทางยุทธศาสตร์ของโครงการ "เส้นทางสายไหมออนไลน์"
นครหางโจวเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางครั้งใหม่มาโดยตลอด รวมถึงการเปิดเส้นทางสายไหมทางบกและทางทะเลเพื่อสำรวจโลกตะวันตกเมื่อหลายพันปีมาแล้ว ทั้งนี้ ในไตรมาสแรกของปีนี้ อีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนของหางโจวมีมูลค่าการซื้อขายสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 1.82 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นยอดส่งออก 1.35 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 21.78% เมื่อเทียบรายปี และในช่วงเวลาดังกล่าวมีบริษัทอีคอมเมิร์ซ 106 แห่งที่ย้ายเข้าไปดำเนินงานในเขตทดลองดังกล่าว จนกลายเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญของการค้าระหว่างประเทศของนครหางโจว
ปัจจุบัน หางโจวเป็นเมืองหนึ่งที่มีเศรษฐกิจใหม่คึกคักมากที่สุดในประเทศจีน ทั้งยังรับบทบาทสำคัญในโครงการปฏิรูปนำร่องต่างๆ เช่น โครงการเขตสาธิตนวัตกรรมแห่งชาติ และเขตสาธิตเศรษฐกิจท่าอากาศยานของหางโจว โดยมีข้อมูลบ่งชี้ว่า หลังการประชุมสุดยอด G20 ผ่านพ้นไป นครหางโจวก็มีอิทธิพลมากขึ้นในระดับนานาชาติ
นอกเหนือจากแผนปฏิรูประดับชาติแล้ว บางโครงการจากภาคประชาสังคมก็เป็นที่รู้จักในระดับสากลด้วย โดยในระหว่างการประชุมสุดยอด G20 ที่หางโจวเมื่อปีที่แล้ว แจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารบริษัทอาลีบาบา ได้นำเสนอแนวคิด "แพลตฟอร์มการค้าอิเล็กทรอนิกส์โลก" (Electronic World Trade Platform: eWTP) เป็นครั้งแรก และแนวคิดดังกล่าวก็ได้รับการบันทึกลงในแถลงการณ์ร่วมของผู้นำ G20 ด้วย
แนวคิดนี้กลายเป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็ว โดยเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กลุ่มบริษัทอาลีบาบาได้ร่วมมือกับรัฐบาลมาเลเซียในการสร้าง "ศูนย์ดิจิทัล" eWTP นอกประเทศจีนขึ้นเป็นแห่งแรก เพื่อช่วยสนับสนุนคนรุ่นใหม่และธุรกิจขนาดย่อมในมาเลเซีย รวมถึงทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการค้าระดับโลก
หวง ว่านปิง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการประจำศูนย์ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลแห่งมาเลเซีย (MDEC) กล่าวว่า "เราสามารถพึ่งพาอาลีบาบาในการส่งออกสินค้าคุณภาพสูงของมาเลเซียไปยังประเทศต่างๆ ขณะเดียวกันก็สามารถนำเข้าสินค้าคุณภาพสูงมาจำหน่ายให้กับชาวมาเลเซียได้ด้วย"
ปัจจุบัน สินค้าจากนครหางโจวเป็นที่รู้จักมากขึ้นทั่วโลก อย่างในนครแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี มีถนนสายหนึ่งที่ตั้งชื่อตามบริษัทสัญชาติจีน "Chint" ซึ่งมีเพียงไม่กี่บริษัทที่ได้รับเกียรติเช่นนี้ (อาทิ Siemens และ Bosch) สืบเนื่องมาจากเมื่อสองปีที่แล้ว Chint Group ได้เปลี่ยนโรงงานแห่งหนึ่งของบริษัท Conergy ซึ่งเป็นผู้ผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ชื่อดังของเยอรมนี ให้กลายเป็นธุรกิจเซลล์แสงอาทิตย์ท้องถิ่นที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ผ่านการดำเนินงานด้านเงินทุนและการปรับโครงสร้างสินทรัพย์ ก่อให้เกิดการจ้างงานกว่า 200 ตำแหน่ง
ข้อมูลระบุว่า ขณะนี้มีโครงการลงทุน 93 โครงการจากนครหางโจวที่ดำเนินการอยู่ในประเทศต่างๆตามแนวเส้นทางสายไหม โดยมีมูลค่า 3.563 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 37.86% ของมูลค่าการลงทุนในต่างประเทศทั้งหมดที่นครหางโจวตั้งเป้าไว้
ที่มา: คณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำนครหางโจว
ลิงค์ภาพประกอบข่าว:
http://asianetnews.net/view-attachment?attach-id=292617
AsiaNet 69221