กรุงเทพฯ--5 ก.ย.--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์
- ภาคธุรกิจยุโรปยังคงมีความเชื่อมั่นเชิงบวกต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมองว่าอาเซียนมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกมากขึ้น
สภาธุรกิจสหภาพยุโรป-อาเซียน (EU-ASEAN Business Council) ซึ่งเป็นกระบอกเสียงสำคัญของภาคธุรกิจยุโรปในภูมิภาคอาเซียน เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจสหภาพยุโรป-อาเซียน ประจำปี 2560 (2017 EU-ASEAN Business Sentiment Survey) ในวันนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นตัวชี้วัดมุมมองและความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจยุโรปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประเทศไทยและอียูมีมูลค่าการค้าระหว่างกันรวม 3.3 หมื่นล้านยูโร (ประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท) โดยไทยรั้งอันดับสอง เมื่อพิจารณาจากการมีค่าจ้างแรงงานที่แข่งขันได้ การอำนวยความสะดวกในการจ้างแรงงานต่างชาติ พิธีการศุลกากรที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ โครงสร้างทางการคลัง และต้นทุนการบริหารธุรกิจและโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งอันดับเหล่านี้ปรับตัวดีขึ้นจากผลการสำรวจเมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา
ผลสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจอียู-อาเซียนประจำปีครั้งที่สาม ซึ่งได้จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารบริษัทยุโรปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กว่า 300 คน พบว่า ภาคธุรกิจยุโรปยังคงมีมุมมองที่เป็นบวกอย่างมากต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และคาดหวังที่จะได้เห็นผลกำไรของตนเพิ่มขึ้นในอาเซียน
ผลการค้นพบที่สำคัญประกอบด้วย
- สามในสี่ (75%) ของธุรกิจยุโรปคาดว่าผลกำไรจากการดำเนินธุรกิจในอาเซียนจะเพิ่มขึ้นในปี 2560 และเกือบสามในสี่ (71%) กล่าวว่าอาเซียนมีความสำคัญมากขึ้นในแง่ของรายได้ในช่วงสองปีที่ผ่านมา
- ผลสำรวจพบว่า 94% ของธุรกิจยุโรปมีแผนที่จะขยายหรือรักษาระดับการดำเนินงานและจำนวนพนักงานในภูมิภาคอาเซียน
- 86% ของธุรกิจยุโรปคาดว่าจะยกระดับการลงทุนทางการค้าในอาเซียนในช่วงห้าปีข้างหน้า
- ธุรกิจยุโรปในอาเซียนอยากเห็นอียูและอาเซียนมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นมากขึ้น โดยมากกว่าสี่ในห้า (88%) ของบริษัทจากยุโรปเห็นว่าอียูควรผลักดันให้มีการทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างภูมิภาคกับอาเซียน ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 66% ในการสำรวจปี 2559 นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสำรวจกว่าครึ่งหนึ่ง (55%) รู้สึกว่าพวกเขาเสียเปรียบในการทำธุรกิจในอาเซียน หากไม่มีข้อตกลงการค้าเสรีอียู-อาเซียน
- อย่างไรก็ตาม ความท้าทายทางธุรกิจยังคงเป็นอุปสรรคขัดขวางอาเซียนในการบรรลุศักยภาพทางเศรษฐกิจสูงสุด โดยเกือบสองในสาม (61%) ของธุรกิจยุโรปกล่าวว่า อุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่กำแพงภาษีกำลังเป็นตัวขัดขวางประสิทธิภาพของห่วงโซ่อุปทาน
ผลการสำรวจเผยด้วยว่า สภาธุรกิจสหภาพยุโรป-อาเซียน (EU-ABC) เรียกร้องให้มีการเร่งเจรจาข้อตกลง FTA ระหว่างสหภาพยุโรปและอาเซียน รวมทั้งผลักดันข้อตกลง FTA ระหว่างภูมิภาคกับอาเซียนให้สำเร็จลุล่วง ตลอดจนเรียกร้องให้รัฐบาลกับภาคเอกชนของอียูและอาเซียนมีปฏิสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอและบ่อยครั้งมากขึ้น และต้องการให้การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจภายในอาเซียนเดินหน้าต่อไป
คุณโดนัลด์ คานัก ประธาน EU-ABC แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับผลการสำรวจว่า
"อาเซียนกลายเป็นแรงขับเคลื่อนใหม่ของการเติบโตทางเศรษฐกิจโลก ซึ่งผลสำรวจนี้แสดงให้เห็นว่า ภาคธุรกิจยุโรปจะยังคงมีส่วนเกื้อหนุนอาเซียนผ่านทางการค้า การลงทุน และการจ้างงานที่เพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันผู้ตอบแบบสำรวจล้วนแล้วแต่สนับสนุนให้มีการทำข้อตกลง FTA ระหว่างภูมิภาคในเชิงลึกและครอบคลุม เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจยุโรปเข้ามาลงทุนในอาเซียนมากขึ้น และเพื่อความร่วมมืออย่างต่อเนื่องในการลดอุปสรรคและความขัดแย้งทางการค้า"
ในโอกาสนี้ ฯพณฯ ฟรานซิสโก ฟอนแทน เอกอัคราชทูตแห่งสหภาพยุโรปประจำอาเซียน ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับผลสำรวจครั้งนี้ โดยระบุว่า
"ผมขอขอบคุณและแสดงความยินดีอีกครั้งต่อ EU-ABC สำหรับผลสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจครั้งล่าสุด และสำหรับความสัมพันธ์ที่ดีเยี่ยมกับคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำอาเซียน ซึ่งการสนับสนุนอย่างเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมอย่างจริงจังของชุมชนธุรกิจอียูในภูมิภาคอาเซียนนี้เองที่อยู่เบื้องหลังความทุ่มเทพยายามของเราในด้านเศรษฐกิจ"
นอกจากนี้ คุณคริส ฮัมฟรีย์ กรรมการบริหาร EU-ABC ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับผลการสำรวจเช่นกัน
"สภาธุรกิจสหภาพยุโรป-อาเซียนยังคงมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับคณะกรรมาธิการยุโรปและรัฐบาลของประเทศอาเซียน เพื่อบรรลุข้อตกลง FTA ระหว่างภูมิภาคที่ครอบคลุมและมีคุณภาพ รวมทั้งเพื่อเร่งการเจรจาข้อตกลง FTA ระหว่างภูมิภาคอียูและอาเซียน นอกจากนี้ เราจะเดินหน้าทำงานร่วมกับอาเซียนและประเทศสมาชิกอย่างใกล้ชิดเพื่อส่งเสริมการพัฒนาประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนต่อไป"
ผลสำรวจอื่นๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่
- เกือบสามในสี่ (71%) ของผู้ตอบแบบสำรวจระบุว่า การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียนมีความสำคัญต่อความสำเร็จของธุรกิจยุโรปในภูมิภาคนี้ เมื่อเทียบกับ 66% ในการสำรวจเมื่อปี 2559
- การออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร หรือ เบร็กซิต (Brexit) ไม่น่าจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อแผนการค้าและการลงทุน โดยมีเพียง 12% ที่ระบุว่า เบร็กซิตอาจส่งผลกระทบต่อแผนการค้าและการลงทุนของพวกเขา
อ่านผลการสำรวจฉบับเต็มได้ที่ www.eu-asean.eu/publications
สื่อมวลชนติดต่อ:
Josiah Tan
EASTWEST PR for EU-ASEAN Business Council
อีเมล: eu-asean@eastwestpr.com
โทร: +65 6222 0306