อัมสเตอร์ดัม--21 ก.ย.--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์
Raffles City Hangzhou ตึกแฝดเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนซึ่งออกแบบโดย Ben van Berkel จาก UNStudio สร้างแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการแล้ว โดยตึกในเครือ Raffles City แห่งที่ 8 ในจีน ซึ่งได้บริษัท CapitaLand มาเป็นผู้พัฒนานี้ กลายเป็นแลนมาร์คแห่งสำคัญอันตั้งตระหง่านเหนือย่านธุรกิจสีเขียวแห่งใหม่ของเมืองหางโจว พร้อมทำหน้าที่เป็นจุดศูนย์รวมของการใช้ชีวิต การทำงาน และการพักผ่อนหย่อนใจ
(รูปภาพ: http://mma.prnewswire.com/media/558785/Raffles_City_Hangzhou_Inside.jpg )
(รูปภาพ: http://mma.prnewswire.com/media/558786/Raffles_City_Hangzhou_View.jpg )
(รูปภาพ: http://mma.prnewswire.com/media/558787/Raffles_City_Hangzhou.jpg )
ด้วยความที่เมืองหางโจวตั้งอยู่ห่างจากเมืองเซี่ยงไฮ้ไปเพียงแค่ 50 นาทีเมื่อเดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูง นครแห่งนี้จึงขึ้นแท่นเมืองเศรษฐกิจที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ โดยได้รับแรงหนุนจากภาคเทคโนโลยีอันแข็งแกร่ง และด้วยความมุ่งมั่นอันแรงกล้าที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนของเมืองหางโจว ทำให้ UNStudio ตั้งคำถามขึ้นมาว่า อาคารที่มีผู้คนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นและผสมปนเปกันเช่นนี้ จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้ชีวิตตามหลักความยั่งยืน ไปพร้อมๆกับการพัฒนาคุณภาพของวิถีคนเมืองได้อย่างไร
ตลอดทั้งตัวตึกซึ่งเชื่อมต่อกันเป็นหนึ่งเดียวนั้นสอดประสานกันอย่างราบรื่นไร้รอยต่อ โดยจุดที่อาคารทั้งสองมาบรรจบกันเริ่มที่บริเวณฐานรากซึ่งมีพื้นที่กว้างถึง 116,000 ตารางเมตร พร้อมฟังก์ชันการใช้งานอันหลากหลายจากรูปทรงเลข 8 สองตัวไขว้กัน ด้วยความที่ตึกแห่งนี้ตั้งอยู่ใจกลางย่านธุรกิจ ลานกลางอาคารอันโอ่อ่าจึงได้รับการออกแบบโดยคำนึงถึงความลงตัวด้านองค์ประกอบและการออกแบบภายในเป็นพิเศษ ซึ่งมัณฑนากรเลือกใช้ราวไม้ไผ่ลำเรียวยาวมาเป็นตัวเชื่อม ขณะที่ชั้นบนนั้นเป็นที่ตั้งของบริษัทต่างๆ ตลอดจนสำนักงานเล็กๆ โฮมออฟฟิศ และอพาร์ตเมนท์หลายชั้น รวมถึงโรงแรมคอนราดด้วย นับเป็นการมอบสภาพแวดล้อมทางสังคมแบบบูรณาการทั้งทางด้านการพบปะสังสรรค์และสุขภาพซึ่งพร้อมเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงไม่มีวันหยุด
ตึกแฝด Raffles City Hangzhou โดดเด่นด้วยการตกแต่งภายนอกด้วยแผงกันแดดแนวดิ่ง ซึ่งติดตั้งอยู่เหนือแผงกระจก หุ้มด้วยกระเบื้องอลูมิเนียมแบบบางระริบระยับยามต้องแสง สะดุดตาด้วยรูปทรงบิดเกลียวอันเป็นเอกลักษณ์ นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญต่อการออกแบบตกแต่งภายในตัวอาคารด้วย และเพื่อสะท้อนถึงความพลิ้วไหวของแม่น้ำเฉียนถัง การออกแบบตัวอาคารจึงมีลักษณะเหมือนเกลียวคลื่นที่ค่อยๆ เพิ่มขนาดระลอกขึ้นในแนวตั้ง ซึ่งการตั้งตระหง่านอยู่ริมแม่น้ำและพื้นที่สีเขียวยิ่งขับให้เกลียวคลื่นของตึก Raffles City Hangzhou ดูราวกับมีชีวิต
เพื่อจัดการกับประเด็นด้านความยั่งยืน Raffles City ได้ผนวกกลยุทธ์ต่างๆ เข้าด้วยกันจนได้รับการรับรองจาก Gold LEED ไม่ใช่เพียงแค่วัสดุก่อสร้างและโครงสร้างที่มีประสิทธิภาพของตัวอาคารซึ่งมีความสอดประสานกันเท่านั้น แต่การระบายอากาศแบบธรรมชาติ การได้รับพลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงการปรับแสงตามฤดูกาลให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม ยังช่วยลดการใช้พลังงานและวัสดุในตัวอาคารด้วย ซึ่ง Raffles City Hangzhou ถือเป็นห้างค้าปลีกแห่งแรกในประเทศจีนที่ใช้ระบบระบายอากาศตามธรรมชาติขนาดใหญ่ อีกทั้งยังวางทิศของตัวอาคารในแนวตะวันออก-ตะวันตก เพื่อลดการทอดเงาของตัวตึก ไปพร้อมๆกับการเพิ่มแสงระหว่างวันให้กับที่อยู่อาศัยและสำนักงานต่างๆ ในเวลาเดียวกัน
http://www.unstudio.com
ที่มา: UNStudio