บาร์เซโลนา, สเปน--31 ต.ค.--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์
ผลวิจัยใหม่ล่าสุดที่ได้รับการเปิดเผยในการประชุม UEG Week ครั้งที่ 25 แสดงให้เห็นว่า การใช้ยาแอสไพรินในระยะยาวสามารถลดการเกิดมะเร็งในระบบทางเดินอาหารได้อย่างมีนัยสำคัญ [1]
คณะนักวิจัยได้ทำการศึกษาผู้ป่วยกว่า 600,000 คน โดยเปรียบเทียบกลุ่มผู้ป่วยที่แพทย์สั่งให้กินยาแอสไพรินในระยะยาว (อย่างน้อย 6 เดือน, ค่าเฉลี่ย 7.7 ปี) กับกลุ่มที่ไม่ได้ใช้ยาแอสไพริน เพื่อประเมินการเกิดโรคมะเร็งชนิดต่างๆ ซึ่งผลปรากฏว่า กลุ่มที่ใช้ยาแอสไพรินมีอัตราการเกิดมะเร็งตับและมะเร็งหลอดอาหารลดลง 47%, การเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารลดลง 38%, การเกิดมะเร็งตับอ่อนลดลง 34% และการเกิดมะเร็งลำไส้ลดลง 24%
มะเร็งในระบบทางเดินอาหารคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 1 ใน 4 ของมะเร็งทั้งหมดที่เกิดขึ้นในยุโรป [2] โดยมะเร็งลำไส้ มะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งตับอ่อน ติดท็อป 5 มะเร็งที่คร่าชีวิตผู้ป่วยมากที่สุดในยุโรป ขณะที่มะเร็งในระบบทางเดินอาหารทั้งหมดคร่าชีวิตผู้ป่วยคิดเป็นสัดส่วนถึง 30.1%
แอสไพรินถูกนำไปใช้ทั่วโลกเพื่อรักษาอาการต่างๆ ตั้งแต่บรรเทาอาการปวดในระยะสั้นไปจนถึงระยะยาว แม้วงการแพทย์ยังคงถกเถียงกันในเรื่องของการใช้ยาแอสไพริน ทว่าผลวิจัยเมื่อไม่นานมานี้บ่งชี้ว่า ผู้ป่วยที่หยุดใช้ยาแอสไพรินมีแนวโน้มเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคหลอดเลือดสมองหรือภาวะหัวใจวาย มากกว่าผู้ป่วยที่กินยาแอสไพรินต่อเนื่องมากถึง 37% [3]
จุดที่เกิดมะเร็ง อัตราการเกิดมะเร็งที่ลดลงในกลุ่มผู้ใช้ยาแอสไพริน
(เทียบกับกลุ่มที่ไม่ใช้)
ตับ 47%
หลอดอาหาร 47%
กระเพาะอาหาร 38%
ตับอ่อน 34%
ลำไส้ 24%
ตาราง 1 - การลดลงของอัตราการเกิดโรคมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร
นอกจากนี้ ผลของการใช้ยาแอสไพรินในระยะยาวที่มีต่อการเกิดโรคมะเร็งยังแสดงให้เห็นนอกระบบทางเดินอาหารเช่นกัน โดยพบว่าอัตราการเกิดมะเร็งบางชนิดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ (มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งปอด และมะเร็งต่อมลูกหมาก) แต่มะเร็งบางชนิดก็ไม่มีผล (มะเร็งทรวงอก มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งไต และมัลติเพิล มัยอิโลมา)
Professor Kelvin Tsoi หัวหน้าคณะนักวิจัยจาก Chinese University of Hong Kong ได้นำเสนอผลการค้นพบดังกล่าวในวันนี้ ระหว่างการประชุม UEG Week ครั้งที่ 25 ซึ่งจัดขึ้นที่บาร์เซโลนา พร้อมกับระบุว่า "ผลการค้นพบแสดงให้เห็นว่า การใช้ยาแอสไพรินในระยะยาวสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งหลายชนิด โดยเฉพาะมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งพบว่าอัตราการเกิดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ที่เด่นชัดที่สุดคือมะเร็งตับและมะเร็งหลอดอาหาร"
อ้างอิง
1. Tsoi, K. et al. Long-term use of aspirin is more effective to reduce the incidences of gastrointestinal cancers than non-gastrointestinal cancers: A 10-year population based study in Hong Kong. Presented at UEG Week Barcelona 2017.
2. GLOBOCAN, IARC (2012). Section of Cancer Surveillance.
3. Stopping aspirin treatment raises cardiovascular risk by over a third (2017). Available at: https://www.medicalnewstoday.com/articles/319541.php
ที่มา: United European Gastroenterology (UEG)