มาอุย--9 ต.ค.--พีอาร์นิวส์ไวร์ - เอเชียเน็ท/อินโฟเควสท์
ประวัติศาสตร์อันยาวนานกว่า 100 ปี ของอุตสาหกรรมการทำสับปะรดกระป๋องของฮาวายกำลังจะปิดฉากลง ด้วยการเปิดประมูลขายโรงงานผลิตสับปะรดกระป๋องเมาอี ไพน์แอปเปิล แคนเนอรี่ (Maui Pineapple Cannery) ในวันที่ 30 ตุลาคมนี้ ถ้อยแถลงดังกล่าวมีขึ้นโดยบริษัท เมาอี แลนด์ แอนด์ ไพน์แอปเปิล คอมพานี (Maui Land and Pineapple Co.) บริษัทแม่ของ เมาอี ไพน์แอปเปิล (Maui Pineapple) หลังจากที่การผลิตสัปปะรดกระป๋องบนเกาะฮาวายลดลงอย่างต่อเนื่องตลอด 25 ปีที่ผ่านมา โดยคาดว่า การประมูลในครั้งนี้จะดึงดูดควาสนใจจากบริษัทผู้ผลิตผักและผลไม้ตั้งแต่ในแปซิฟิกตะวันตกไปจนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากจะขายกิจการแล้ว การประมูลในครั้งนี้ยังรวมไปถึงเครื่องจักรผลิตกระป๋องและแผ่นดีบุกกว่า 5 ล้านตันสำหรับการทำกระป๋องด้วย โดยการประมูลสามารถทำได้ทั้งทางอินเทอร์เน็ตและในสถานที่ที่จัดไว้โดยบริษัทประมูล เรบิน เวิลด์ไวด์ (Rabin Worldwide) ที่โรงแรมเมาอี บีช ในคาฮูลูอี เมาอี
แจ๊ค ออเทน อดีตวิศวกรของบริษัท โดล ไพน์แอปเปิล (Dole Pineapple) ซึ่งปัจจุบันอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ประเทศไทย กล่าวว่า "แม้สับปะรดของฮาวายจะมีคุณภาพดีเยี่ยมแต่ก็ไม่สามารถสู้ต้นทุนที่สูงกว่าในด้านซัพพลายเชนวัตถุดิบ และระยะทางจัดส่งสินค้าไปยังตลาดยุโรปได้ และค่าแรงในฮาวายก็ไม่ได้ถูกเหมือนกับที่ประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้ผลิตสับปะรดรายใหญ่ของโลก" นอกจากนั้นนายออเทนยังกล่าวเสริมว่า "ปัจจุบันการผลิตสับปะรดของบริษัทโดล และ เมาอี ไพน์แอปเปิล มีสัดส่วนไม่ถึง 2% ของการผลิตทั่วโลก"
สัปปะรดฮาวายเริ่มเป็นที่รู้จักครั้งแรกในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 จากการพัฒนาสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวีย (smooth cayenne) โดยกัปตัน จอห์น คิดเวลล์ อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมสับปะรดได้เข้าสู่ยุคเฟื่องฟูอย่างแท้จริงด้วยฝีมือของ เจมส์ โดล บัณฑิตมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งเป็นญาติของ แซนฟอร์ด โดล ผู้ปกครองดินแดนในสมัยนั้น ในปี ค.ศ.1903 เจมส์ โดล เริ่มต้นจากธุรกิจขนาดเล็กที่พื้นที่เพาะปลูกวาเฮียวา (Wahiawa Plantation) และย้ายไปตั้งโรงงานอีวีเล (Iwilei Cannery) ที่ใหญ่กว่าเดิมในปี ค.ศ.1907 และเป็นที่ตั้งปัจจุบันของนิคมการค้าโดล แคนเนอรี่ (Dole Cannery commerial complex) บนเกาะวาฮู (Oahu)
จนกระทั่งปี ค.ศ.1921 ธุรกิจสับปะรดกระป๋องกลายเป็นธุรกิจที่เฟื่องฟูถึงขีดสุดในฮาวาย ส่งผลให้สับปะรดกลายเป็นพืชผลที่มีการผลิตมากที่สุด และการผลิตสับปะรดกระป๋องก็เป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดบนเกาะ พอถึงปี ค.ศ.1950 ก็มีโรงงานสับปะรดกระป๋องกว่า 8 แห่ง มีพนักงานประจำกว่า 3,000 คน และมีสัดส่วนการผลิตสับปะรดกว่า 80% ของทั่วโลก และตลอดสิบปีหลังจากนั้นแรงงานในอุตสาหกรรมดังกล่าวก็เพิ่มขึ้นถึงสองเท่า ส่งผลให้แรงงานซึ่งทำงานเฉพาะฤดูกาลและเด็กนักเรียนชั้นมัธยมปลายมีงานทำด้วยการปลูกสับปะรดและทำงานในโรงงาน
ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1960 โดล และ เดล มอนเต้ (Del Monte) สองบริษัทใหญ่ในวงการสับปะรดกระป๋อง ได้ขยายการผลิตไปยังประเทศฟิลิปปินส์เพื่อเป็นการประหยัดค่าแผ่นดีบุกในการผลิตกระป๋อง ค่าไฟเบอร์ในการทำกล่อง และค่าปุ๋ยในการปลูกสับปะรด รวมถึงค่าน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย ในเวลาเดียวกันนั้นเอง บริษัท ลิบบี้ แม็คนีล (Libby McNeil) ก็เริ่มดำเนินธุรกิจในแอฟริกา ส่งผลให้มีการปิดโรงงานขนาดเล็กสองแห่งบนเกาะฮาวาย ได้แก่ คาไว ไพน์แอปเปิล (Kauai Pineapple) และ ฮาเซร็อต แคนเนอรี่ ออฟ มาอุย (Haserot Cannery of Maui)
ตลอดระยะเวลาสิบปีหลังจากนั้น อุตสาหกรรมการผลิตสับปะรดบนเกาะก็ซบเซาลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ ลิบบี้ แม็คนีล ต้องเข้ารวมกิจการกับโดล หลังจากนั้นโดลได้ดำเนินการเพาะปลูกสับปะรดที่พื้นที่เพาะปลูกโมโลไค (Molokai Plantation) ต่อไปอีกสองปีก่อนที่จะยุติการผลิตโดยถาวร หลังจากนั้นไม่นาน โดลได้ขยายการผลิตไปที่ประเทศไทยเป็นครั้งแรก การขยายตัวอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมสับปะรดในไทยส่งผลให้ปัจจุบันไทยเป็นผู้ผลิตสับปะรดกระป๋องและน้ำสับปะรดเข้มข้นรายใหญ่ของโลก
ในปี ค.ศ.1985 คู่แข่งที่มีจำนวนมากขึ้นในอุตสาหกรรมสับปะรดกระป๋องทั่วโลกส่งผลให้มีการปิดโรงงานของ เดล มอนเต้ ที่โฮโนลูลู รวมถึงโรงงานอีวีเล วาฮู ของโดล ซึ่งมีแทงค์น้ำรูปสับปะรดตั้งตระหง่านเป็นที่รู้จักไปทั่ว แม้โรงงานทั้งสองแห่งจะยังดำเนินการผลิตผลไม้สดและน้ำผลไม้เข้มข้นต่อไป แต่ท้ายที่สุดแล้ว เดล มอนเต้ ก็ต้องปิดกิจการลงในปี ค.ศ.2006 และส่งมอบที่ดินเพาะปลูกที่เช่ามาคืนให้กับบริษัท แคมป์เบลล์ เอสเตท (Campbell Estate)
ความทุ่มเทด้านการวิจัยและลงทุนเพื่อพัฒนาการปลูกและผลผลิตสับปะรดอย่างต่อเนื่องทำให้ เมาอี ไพน์แอปเปิล ต่อสู้กับคู่แข่งในตลาดที่เหนือชั้นกว่ามาได้อย่างยาวนาน ปัจจุบันการพัฒนาสับปะรดพันธุ์ champaka ซึ่งแตกสายมาจากสับปะรดพันธุ์ "Hawaiian Gold" ส่งผลให้ธุรกิจผลไม้สดของบริษัทประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โดยบริษัทตั้งมั่นว่าจะดำเนินงานเพื่อรองรับตลาดชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกาต่อไป
ท่านที่สนใจสามารถชมรายละเอียดและภาพสินค้ากว่า 600 ชิ้นที่จะถูกนำมาประมูลได้ที่ http://www.rabin.com โดยจะมีการตรวจสอบโรงงานในวันที่ 29 ตุลาคมนี้ หรืออาจมีการนัดหมายก่อนหน้านั้นได้ แม้การประมูลจะเป็นการปิดฉากประวัติศาสตร์อันยาวนานของอุตสาหกรรมสับปะรดในฮาวาย แต่ชาวฮาวายยังสามารถพูดได้ว่า "Hawaii Pineapple No Ka Oi" (สับปะรดฮาวายดีที่สุด)
แหล่งข่าว: เมาอี แลนด์ แอนด์ ไพน์แอปเปิล คอมพานี
ติดต่อ: ดรูว์ ไฮเนส จาก เรบิน เวิลด์ไวด์
โทร: +1-415-522-5700
อีเมล์: drew.hynes@rabin.com
เว็บไซต์: http://www.rabin.com
--เผยแพร่โดย เอเชียเน็ท ( www.asianetnews.net )--