มูลนิธิโรคกระดูกพรุนนานาชาติเตือนอย่าเพิกเฉยต่อสัญญาณบ่งชี้ภาวะกระดูกสันหลังหัก

ข่าวต่างประเทศ Friday October 19, 2018 08:31 —ข่าวประชาสัมพันธ์พีอาร์นิวส์ไวร์

เจนีวา--19 ต.ค.--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์ โรคกระดูกพรุน ซึ่งทำให้กระดูกอ่อนแอและเปราะบาง คือต้นเหตุที่ทำให้หนึ่งในสามของผู้หญิงและหนึ่งในห้าของผู้ชายอายุเกิน 50 ปีทั่วโลกเกิดภาวะกระดูกหัก (รูปภาพ: https://mma.prnewswire.com/media/767079/IOF_Infographic.jpg) กระดูกสันหลังหัก เป็นภาวะกระดูกหักอันเนื่องมาจากโรคกระดูกพรุนที่พบบ่อยที่สุด โดยประมาณการว่าเกิดขึ้นหนึ่งครั้งทุกๆ 22 วินาทีทั่วโลก แม้ว่ากระดูกสันหลังหักจะสร้างความเจ็บปวดและก่อให้เกิดภาวะทุพพลภาพในระยะยาว แต่ 70% กลับไม่ได้รับการรักษา เนื่องในวันสากลโรคกระดูกพรุน 20 ตุลาคม มูลนิธิโรคกระดูกพรุนนานาชาติ (IOF) ได้รณรงค์ให้ผู้สูงวัยใส่ใจ 3 สัญญาณที่บ่งชี้ว่าอาจเกิดภาวะกระดูกสันหลังหัก ได้แก่ อาการปวดหลังรุนแรงแบบเฉียบพลัน ส่วนสูงลดลงเกิน 3 เซนติเมตร (เกิน 1 นิ้ว) และหลังค่อม ศาสตราจารย์ไซรัส คูเปอร์ ประธาน IOF กล่าวว่า "ผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังแบบเฉียบพลันมักได้รับเพียงยาแก้ปวด โดยไม่ได้รับการประเมินหรือการรักษาที่ต้นเหตุอย่างเหมาะสม หากปราศจากการรักษาเชิงป้องกัน กระดูกสันหลังหักเพียงหนึ่งจุดอาจทำให้กระดูกหักตามมาอีกหลายจุด นำไปสู่ความเจ็บปวดและภาวะทุพพลภาพในระยะยาว" หนึ่งในห้าของผู้หญิงที่มีภาวะกระดูกสันหลังหักจะมีกระดูกหักเพิ่มอีกภายใน 12 เดือน ซึ่งกระทบต่อคุณภาพชีวิตอย่างมาก อย่างในกรณีของคุณแอนิต้าจากสวีเดน ซึ่งคนในครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นโรคกระดูกพรุน คุณแอนิต้ากระดูกสันหลังหักหลายจุด โดยการหักครั้งที่สามเกิดขึ้นเพียงเพราะเธอเป็นหวัดและไอ ความสูงของเธอหายไปถึง 6 เซนติเมตร ทั้งยังมีอาการปวดเรื้อรัง ทำให้ต้องยุติอาชีพนางพยาบาลที่เธอรัก มูลนิธิโรคกระดูกพรุนนานาชาติ พร้อมด้วยองค์กรสมาชิก 240 แห่งทั่วโลก จึงขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ใส่ใจกับภาวะกระดูกสันหลังหักที่อาจแฝงอยู่เบื้องหลังและยังไม่ได้รับการรักษา ศาสตราจารย์คูเปอร์กล่าวเสริมว่า "เราขอให้แพทย์รังสีวิทยาที่ต้องเอกซเรย์ผู้ป่วยทุกวัน ช่วยสังเกตร่องรอยกระดูกสันหลังหัก และรายงานว่าเป็น "กระดูกหัก" ส่วนแพทย์ก็ต้องช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม ก่อนที่ภาวะกระดูกหักจะสร้างความเสียหายและเป็นอันตรายต่อชีวิตไปมากกว่านี้" ภาวะกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุนเป็นภาระอันใหญ่หลวงของระบบสาธารณสุข โดยคาดว่าต้นทุนการรักษาจะเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลในอีก 20-30 ปีข้างหน้า มูลนิธิโรคกระดูกพรุนนานาชาติจึงขอเรียกร้องให้โรงพยาบาลทั่วโลกมีบริการดูแลรักษาผู้ป่วยกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุนโดยเฉพาะ (Fracture Liaison Services) ซึ่งเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยลดต้นทุนและบุคลากรในการรับมือกับภาวะกระดูกหักจากความเปราะบาง บริการนี้จะช่วยสร้างความมั่นใจว่า ภาวะกระดูกหักครั้งแรกของผู้ป่วยจะเป็นครั้งสุดท้ายด้วยเช่นกัน เนื่องในวันสากลโรคกระดูกพรุน ทางมูลนิธิโรคกระดูกพรุนนานาชาติได้นำเสนอทรัพยากรใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์กับผู้ป่วยและผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ หนึ่งในนั้นคือแบบทดสอบความเสี่ยงโรคกระดูกพรุนภายใน 1 นาที เพื่อช่วยให้ผู้สูงวัยรับรู้ถึงปัจจัยเสี่ยงของตนเอง สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.worldosteoporosisday.org วันสากลโรคกระดูกพรุน ตรงกับวันที่ 20 ตุลาคมของทุกปี ติดตามแคมเปญรณรงค์ตลอดทั้งปีได้ที่ http://www.worldosteoporosisday.org#WorldOsteoporosisDay ผู้สนับสนุนวันสากลโรคกระดูกพรุนอย่างเป็นทางการ ได้แก่ Amgen, Lilly, Sunsweet มูลนิธิโรคกระดูกพรุนนานาชาติ (IOF) เป็นองค์กรเอ็นจีโอชั้นแนวหน้าของโลกที่อุทิศตนเพื่อการป้องกัน การวินิจฉัย และการรักษาโรคกระดูกพรุน รวมถึงโรคอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับระบบกล้ามเนื้อและโครงกระดูก ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.iofbonehealth.org @iofbonehealth สื่อมวลชนติดต่อ P. Halbout IOF โทร. +41-22-9940100 อีเมล: info@iofbonehealth.org ที่มา: มูลนิธิโรคกระดูกพรุนนานาชาติ (IOF)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ