ฮันโนเวอร์, เยอรมนี--3 เม.ย.--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์
ทั้งสองบริษัทจับมือเป็นพันธมิตรในการสร้างสรรค์โครงการริเริ่มใหม่ เพื่อผลักดันการพัฒนา IoT ที่เปิดกว้างสำหรับการใช้งานในภาคอุตสาหกรรม พร้อมสร้างชุมชนให้เติบโตสู่การขับเคลื่อนโซลูชั่น Industry 4.0 แห่งอนาคต
- วางกรอบเทคโนโลยีและสร้างชุมชนที่เปิดกว้าง เพื่อแบ่งปันโซลูชั่นโรงงานอัจฉริยะในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์และการผลิต เพื่อเร่งการพัฒนา IoT สำหรับอุตสาหกรรมในอนาคต
- สมาชิกในชุมชนและพันธมิตรจะสามารถพัฒนาบริการและโซลูชันของตัวเองได้ โดยใช้ประโยชน์จากรหัสตัวอย่างและตัวอย่างการใช้งานจริงในภาคอุตสาหกรรม
- Open Manufacturing Platform พัฒนาต่อยอดขึ้นจาก Microsoft Azure ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มคลาวด์ IoT สำหรับอุตสาหกรรม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมอบสถาปัตยกรรมต้นแบบ ซึ่งมาพร้อมกับส่วนประกอบแบบโอเพนซอร์ซตามมาตรฐานอุตสาหกรรมแบบเปิด และแบบจำลองข้อมูลแบบเปิด
- ตั้งเป้าภายในสิ้นปี 2562 มีพันธมิตรกลุ่มแรก 4-6 ราย และมีการนำตัวอย่างการใช้งานจริงอย่างน้อย 15 แบบไปปรับใช้ในสภาพแวดล้อมการผลิตต่าง ๆ ตามที่เลือกไว้
- ผู้ผลิตและซัพพลายเออร์ ซึ่งรวมถึงบริษัทนอกอุตสาหกรรมยานยนต์ จะได้รับการสนับสนุนให้มาเข้าร่วมกับชุมชน
ที่งาน Hannover Messe วันนี้ บริษัท ไมโครซอฟท์ และ บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ได้ประกาศโครงการริเริ่มใหม่เพื่อร่วมกันสร้างชุมชนที่จะช่วยสนับสนุนการคิดค้นนวัตกรรมในภาคการผลิตได้อย่างรวดเร็วมากขึ้นและใช้ต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิผลมากขึ้น โดยในปัจจุบัน การผลิตและความสามารถในการทำกำไรนั้นถูกขัดขวางด้วยระบบที่มีความซับซ้อนและมีเจ้าของกรรมสิทธิ์ ซึ่งมีการเก็บข้อมูลแบบ Data Silos และมีผลิตภาพต่ำ ด้วยเหตุนี้ Open Manufacturing Platform (OMP) จึงได้รับการออกแบบมาเพื่อทำลายอุปสรรคดังกล่าว ผ่านการสร้างกรอบเทคโนโลยีแบบเปิดและชุมชนแบบข้ามอุตสาหกรรม โครงการริเริ่มนี้จะสนับสนุนการพัฒนาโซลูชั่นโรงงานอัจฉริยะที่ผู้เข้าร่วม OMP จากภาคยานยนต์และภาคการผลิตในวงกว้างจะสามารถแบ่งปันและใช้ร่วมกันได้ โดยมีเป้าหมายเพื่อเร่งผลักดันการพัฒนา IoT สำหรับภาคอุตสาหกรรมในอนาคต รวมถึงย่นระยะเวลาในการสร้างมูลค่า และผลักดันประสิทธิภาพการผลิต ควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาความท้าทายที่ภาคอุตสาหกรรมเผชิญร่วมกัน
OPM ถูกสร้างขึ้นบน Microsoft Azure ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มคลาวด์ IoT สำหรับอุตสาหกรรม โดยมีความตั้งใจที่จะให้สมาชิกชุมชนมีสถาปัตยกรรมต้นแบบ พร้อมด้วยองค์ประกอบแบบโอเพ่นซอร์ซตามมาตรฐานอุตสาหกรรมเปิดและแบบจำลองข้อมูลแบบเปิด นอกจากนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงานร่วมกัน แพลตฟอร์มนี้ยังถูกออกแบบมาเพื่อปลดล็อกและสร้างมาตรฐานแบบจำลองข้อมูล ที่สามารถใช้ระบบอนาไลติกส์และแมชชีนเลิร์นนิ่งในการวิเคราะห์ข้อมูลที่มีการจัดการแบบดั้งเดิมในระบบที่เป็นกรรมสิทธิ์ โดยสมาชิกในชุมชนและพันธมิตรจะสามารถพัฒนาบริการและโซลูชันเป็นของตนเอง ขณะที่ยังคงควบคุมข้อมูลของตัวเองได้ ด้วยการใช้ประโยชน์จากรหัสตัวอย่าง (sample code) และตัวอย่างการใช้งานจริง (use case) ในภาคอุตสาหกรรม
สกอตต์ กูธีร์ รองประธานบริหารของ Microsoft Cloud + AI Group กล่าวว่า "ไมโครซอฟท์กำลังผนึกกำลังกับ บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป เพื่อเปลี่ยนแปลงประสิทธิภาพการผลิตแบบดิจิทัลทั่วทั้งอุตสาหกรรม ความมุ่งมั่นของเราในการสร้างชุมชนที่เปิดกว้างจะนำมาซึ่งโอกาสใหม่ ๆ สำหรับการทำงานร่วมกันทั่วทั้งห่วงโซ่มูลค่าการผลิต"
ปัจจุบันมีเครื่องจักร หุ่นยนต์ และระบบขนส่งอัตโนมัติกว่า 3,000 รายการที่เชื่อมต่อกับแพลตฟอร์ม IoT ของบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ซึ่งพัฒนาต่อยอดขึ้นจากขีดความสามารถด้านคลาวด์, IoT และ AI ของ Microsoft Azure บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป มีแผนที่จะแบ่งปันตัวอย่างการใช้งานจริงที่มีความเกี่ยวข้องให้แก่ชุมชน OMP ตัวอย่างหนึ่งคือ บริษัทได้ใช้แพลตฟอร์ม IoT ของตนเองสำหรับระบบขนส่งอัตโนมัติรุ่นที่สองในโรงงานของบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ที่เมืองเรเกินส์บวร์ค ประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงงานผลิตและประกอบรถยนต์ของบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ที่มีอยู่ 30 แห่งทั่วโลก ตัวอย่างการใช้งานนี้ทำให้บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป สามารถลดความยุ่งยากของกระบวนการโลจิสติกส์ลงได้อย่างมาก ผ่านทางการประสานงานจากส่วนกลางของระบบขนส่ง ซึ่งช่วยสร้างระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยในอนาคต ตัวอย่างการใช้งานจริงดังที่กล่าวมาและแบบอื่น ๆ เช่น digital feedback loop, การจัดการห่วงโซ่อุปทานดิจิทัล และการบำรุงรักษาเชิงพยากรณ์ จะพร้อมเปิดกว้างแก่สมาชิกและพันธมิตร รวมถึงจะถูกนำไปพัฒนาเพิ่มเติมต่อไปภายในชุมชน OMP
"การควบคุมการผลิตสินค้าระดับพรีเมี่ยมสำหรับลูกค้าเฉพาะบุคคล ซึ่งถือเป็นงานที่มีความยุ่งยากซับซ้อนนั้น จะต้องอาศัยโซลูชั่นไอทีและซอฟต์แวร์ที่เป็นนวัตกรรม" โอลิเวอรื ซิปส์ สมาชิกคณะผู้บริหารฝ่ายการผลิตของบีเอ็มดับเบิลยู เอจี กล่าว "การเชื่อมต่อกันระหว่างโรงงานผลิตและระบบต่าง ๆ รวมไปถึงการประสานงานกันอย่างปลอดภัยระหว่างพันธมิตรและซัพพลายเออร์ ถือเป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เราวางใจใช้ระบบคลาวด์มาตั้งแต่ปี 2559 และพัฒนาวิธีการใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยมีแพลตฟอร์ม Open Manufacturing Platform เป็นก้าวต่อไป เราต้องการให้โซลูชั่นของเราพร้อมให้บริการแก่บริษัทอื่น ๆ และจะใช้ศักยภาพร่วมกันเพื่อรักษาสถานะที่แข็งแกร่งของเราในตลาดต่อไปในระยะยาว"
OMP เป็นวิวัฒนาการขั้นต่อไปของการเป็นพันธมิตรด้านเทคโนโลยีระหว่างบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป และไมโครซอฟท์ ที่มีมาอย่างยาวนาน ทั้งยังแสดงถึงความมุ่งมั่นต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมและโอกาสสำหรับอุตสาหกรรมวงกว้างเพื่อความสำเร็จร่วมกัน OMP จะเปิดโอกาสให้สมาชิกในชุมชนสามารถปลดล็อกศักยภาพของข้อมูลของตนได้มากขึ้น ทำให้พวกเขาสร้างและบูรณาการโซลูชั่นอุตสาหกรรมได้รวดเร็วและปลอดภัยยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็ได้รับประโยชน์จากการช่วยเหลือองค์กรอื่น และการเรียนรู้จากองค์กรอื่น
OMP ได้รับการออกแบบมาเพื่อรับมือกับความท้าทายที่ภาคอุตสาหกรรมเผชิญร่วมกัน เช่น การเชื่อมต่อเครื่องจักร และการรวมระบบแบบออนพรีมิส แพลตฟอร์มนี้จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กลุ่มผู้ผลิต (OEM) ซัพพลายเออร์ และพันธมิตรอื่นๆ สามารถนำโซลูชั่นซอฟต์แวร์กลับมาใช้ใหม่ได้ ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการลงได้อย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น มาตรฐานหุ่นยนต์บนระบบปฏิบัติการ ROS สำหรับระบบขนส่งอัตโนมัติในกระบวนการผลิตและโลจิสติกส์ จะถูกแบ่งปันใน OMP เพื่อให้ทุกคนสามารถใช้งานได้ นอกจากนี้ OMP ยังสามารถใช้ได้กับสถาปัตยกรรมอ้างอิง Industry 4.0 ที่มีอยู่เดิม โดยอิงตามมาตรฐานการทำงานร่วมกันของอุตสาหกรรม OPC UA
"นี่เป็นข่าวดีมากสำหรับอุตสาหกรรมการผลิต" สเตฟาน ฮอปป์ ประธานและซีอีโอของ OPC Foundation กล่าว "การใช้มาตรฐานอุตสาหกรรมแบบเปิดระหว่างประเทศ อย่างเช่น OPC UA ในชุมชน OMP จะช่วยให้ผู้ผลิต ผู้สร้างเครื่องจักร และซัพพลายเออร์ สามารถผนวกรวมอุปกรณ์และระบบที่มีอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย โดยที่ผ่านมานั้น หลายบริษัทต่างพากันส่งเสริมระบบนิเวศแบบปิดที่มีกรรมสิทธิ์ อย่างไรก็ดี ความมุ่งมั่นของ OMP ที่มีต่อการพัฒนาแบบเปิดกว้าง จะเข้ามากำหนดอนาคตของภาคการผลิต"
แพลตฟอร์มที่มีความสำคัญนี้จะได้รับการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ควบคู่ไปกับข้อกำหนดด้านการผลิต เพื่อให้มีการผนวกรวมนวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งรวมถึงด้านอนาไลติกส์ ปัญญาประดิษฐ์ และ digital feedback loop
OMP กำลังขยายชุมชนให้ใหญ่ขึ้น โดยอยู่ระหว่างการสรรหาพันธมิตรเพิ่มเติม และคาดว่าคณะกรรมการที่ปรึกษา OMP จะเริ่มดำเนินงานพร้อมด้วยพันธมิตรกลุ่มแรก 4-6 ราย ตลอดจนมีตัวอย่างการใช้งานจริงอย่างน้อย 15 แบบในสภาพแวดล้อมการผลิตที่เลือกสรรภายในสิ้นปี 2562 ไมโครซอฟท์ และ บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ในฐานะสองพันธมิตรแรกเริ่ม ขอเชิญชวนผู้ผลิตและซัพพลายเออร์รายอื่น รวมถึงบริษัทจากนอกอุตสาหกรรมยานยนต์ เข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน
เกี่ยวกับ บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป
บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป เป็นผู้ผลิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์ระดับพรีเมี่ยมชั้นนำของโลก รวมถึงให้บริการทางการเงินและบริการช่วยเหลือฉุกเฉินนอกสถานที่ ภายใต้แบรนด์ BMW, MINI, Rolls-Royce และ BMW Motorrad โดยมีโรงงานผลิตและประกอบรถยนต์และรถจักรยานยนต์ 31 แห่งใน 14 ประเทศ อีกทั้งยังมีเครือข่ายการขายกระจายอยู่ในกว่า 140 ประเทศทั่วโลก
ในปีพ.ศ. 2561 บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป มียอดขายรถยนต์กว่า 2,490,000 ล้านคัน และรถจักรยานยนต์มากกว่า 165,000 คันทั่วโลก กำไรก่อนภาษีในปีงบการเงิน 2561 อยู่ที่ 9.815 พันล้านยูโร จากรายได้จำนวน 97.480 พันล้านยูโร และ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561 บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป มีพนักงานทั้งหมด 134,682 คนทั่วโลก
ความสำเร็จของบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป เกิดจากการไม่หยุดคิดและการดำเนินการอย่างมีความรับผิดชอบ บริษัทได้สร้างความยั่งยืนทางสังคมและทางนิเวศตลอดทั้งห่วงโซ่มูลค่า รวมถึงมีความรับผิดชอบอย่างครอบคลุมต่อสินค้าที่ผลิตขึ้น ตลอดจนมีความมุ่งมั่นที่ชัดเจนในการอนุรักษ์ทรัพยากร ในฐานะที่เป็นส่วนสำคัญของกลยุทธ์ของบริษัท
www.bmwgroup.com
Facebook: http://www.facebook.com/BMWGroup
Twitter: http://twitter.com/BMWGroup
YouTube: http://www.youtube.com/BMWGroupView
Instagram: https://www.instagram.com/bmwgroup
LinkedIn: https://www.linkedin.com/company/bmw
เกี่ยวกับ ไมโครซอฟท์
ไมโครซอฟท์ (Nasdaq "MSFT" @microsoft) เป็นผู้ขับเคลื่อนการปฏิรูปด้วยนวัตกรรมดิจิทัล ในโลกแห่งอัจฉริยะภาพของเทคโนโลยีคลาวด์ที่ทุกอย่างล้วนเชื่อมโยงถึงกัน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นกำลังสำคัญให้ทุกคนและทุกองค์กรทั่วทุกมุมโลกได้บรรลุผลสำเร็จที่ดียิ่งกว่า
โลโก้ - https://mma.prnewswire.com/media/24227/microsoft_corp_logo226_9217jpg.jpg