มอนทรีออล--25 เม.ย.--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์
กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ ผู้นำรัฐบาล องค์กรเอ็นจีโอ ภาคธุรกิจ และนักการกุศล ร่วมผลักดันนานาชาติให้ช่วยกันอนุรักษ์พื้นที่อย่างน้อย 30% ของโลกภายในปี 2573
เหลือเวลาอีกเพียง 18 เดือนก่อนที่ผู้นำทั่วโลกจะรวมตัวกันที่ประเทศจีนเพื่อสรุปข้อตกลงในการแก้ปัญหาการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ลดอัตราการสูญพันธุ์ของสัตว์ป่า บรรเทาผลกระทบของภาวะโลกร้อน และปกป้องผืนป่าที่ยังหลงเหลืออยู่ในโลก ด้วยเหตุนี้ ในวันนี้และวันพรุ่งนี้ (24-25 เมษายน) ตัวแทนจากภาครัฐและเอกชนจากกว่า 10 ประเทศ จึงมารวมตัวกันที่เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา เพื่อผลักดันแผนอนุรักษ์ธรรมชาติระดับโลก
การประชุมสุดยอด Nature Champions Summit ซึ่งจัดโดยรัฐบาลแคนาดา จะปูทางไปสู่การประชุม Convention on Biological Diversity Conference of Parties ณ เมืองคุนหมิง ประเทศจีน ในเดือนตุลาคม 2563 เพื่อกำหนดนโยบายระดับโลกว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพสำหรับทศวรรษต่อไป การประชุมสุดยอดที่แคนาดาเปิดฉากขึ้นหนึ่งวันหลังจากที่สำนักข่าว Agence France-Presse (AFP) รายงานผลการศึกษาสถานะความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งบ่งชี้ว่าการสูญเสียธรรมชาติและวิกฤตการสูญพันธ์ของสัตว์ป่าเลวร้ายกว่าที่เราคิด โดย Intergovernmental Science-Policy Platform on Biodiversity and Ecosystem Services (IPBES) จะเผยแพร่รายงานดังกล่าวอย่างเป็นทางการในภายหลัง
คุณ Brian O'Donnell ผู้อำนวยการ Campaign for Nature ซึ่งเข้าร่วมการประชุมสุดยอดในสัปดาห์นี้ กล่าวว่า "ชุมชนวิทยาศาสตร์เห็นตรงกันว่า นานาชาติจำเป็นต้องเร่งและยกระดับการปกป้องโลกก่อนที่จะสายเกินไป เราต้องอนุรักษ์ผืนดินและผืนน้ำให้มากกว่านี้ จึงจะสามารถปกป้องธรรมชาติเพื่อประชากรหลายพันล้านคนที่ต้องพึ่งพาพื้นที่ธรรมชาติที่สมบูรณ์"
ตัวแทนจากรัฐบาลชิลี จีน คอสตาริกา เยอรมนี นอร์เวย์ สหราชอาณาจักร ฯลฯ ได้ร่วมหารือกับรัฐบาลแคนาดาที่มอนทรีออล การประชุมสุดยอดระดับสูงครั้งนี้สะท้อนถึงความเร่งด่วนในการกำหนดเป้าหมายใหม่อย่างจริงจังเพื่อปกป้องผืนดินและมหาสมุทรทั่วโลก ดังที่คุณ Hansjorg Wyss นักการกุศลผู้บริจาคเงิน 1 พันล้านดอลลาร์ในการอนุรักษ์ธรรมชาติ ได้กล่าวไว้ในบทความในหนังสือพิมพ์ Toronto Star ฉบับวันจันทร์ว่า การประชุมสุดยอดครั้งนี้เป็นโอกาสอันสำคัญยิ่งที่นานาชาติจะได้เริ่มหารือเกี่ยวกับกลยุทธ์ที่ชัดเจนในการปกป้องสรรพชีวิตบนโลกใบนี้
การประชุมสุดยอดครั้งนี้เน้นที่สองประเด็นสำคัญที่จะช่วยให้แผนอนุรักษ์ธรรมชาติระดับโลกประสบความสำเร็จ ได้แก่ การอัดฉีดเงินเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์ และการอนุรักษ์ที่นำโดยคนพื้นเมือง
ในการอนุรักษ์ผืนดินและผืนน้ำบนโลกให้ได้อย่างน้อย 30% นั้น ประชาคมโลกต้องทุ่มเททรัพยากรที่จำเป็นต่อการบริหารจัดการอุทยาน เขตอนุรักษ์ทางทะเล เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตสงวนอื่นๆ โดยจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรในการวางแผน การเฝ้าสังเกต และการลาดตระเวนในพื้นที่อนุรักษ์และเขตสงวน
อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญคือการอนุรักษ์ที่นำโดยคนพื้นเมือง แม้ว่าคนพื้นเมืองจะมีสัดส่วนเพียง 5% ของประชากรโลก แต่ก็ดูแลหรือครอบครองผืนดินบนโลกมากกว่า 25% ซึ่งมีความหลากหลายของพืชพรรณและสัตว์ป่ากว่า 80% ของโลก นานาชาติต้องให้อำนาจและส่งเสริมคนพื้นเมืองในการอนุรักษ์ผืนดินและผืนน้ำของตัวเอง จึงจะประสบความสำเร็จในการอนุรักษ์ธรรมชาติในระดับที่จำเป็นต่อการปกป้องสัตว์ป่าและผืนป่า
เพื่อสกัดกั้นการสูญเสียทางธรรมชาติ กลุ่มนักวิทยายาศาสตร์ คนพื้นเมือง ผู้นำรัฐบาล กลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติ ภาคธุรกิจ และนักการกุศล ได้ร่วมกันผลักดันเป้าหมายในการอนุรักษ์พื้นที่อย่างน้อย 30% ของโลกภายในปี 2573 โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กลุ่มต่างๆ กว่า 75 กลุ่มทั่วโลก ได้ประกาศสนับสนุนเป้าหมายดังกล่าว ขณะเดียวกัน นักวิทยาศาสตร์ระดับแนวหน้าของโลก 19 คนได้ตีพิมพ์งานวิจัยในวารสาร Science Advances เพื่อนำเสนอกรณีศึกษาด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติที่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์รองรับ
ดร. Enric Sala นักสำรวจประจำของ National Geographic และหนึ่งในผู้เขียนงานวิจัยดังกล่าว ซึ่งเข้าร่วมการประชุมสุดยอดในสัปดาห์นี้ กล่าวว่า "วิทยาศาสตร์ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า เราจำเป็นต้องอนุรักษ์พื้นที่ 30% ของโลกภายในทศวรรษข้างหน้า เราต้องการผู้นำทางการเมืองเพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติที่ผลิตออกซิเจนให้เราหายใจ สร้างอาหารให้เราได้กิน และเป็นต้นกำเนิดของน้ำสะอาดที่เราดื่ม"
บรรดานักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า ปัจจุบันธรรมชาติอยู่ในสภาวะย่ำแย่ ในยุคนี้มีสัตว์ป่าล้มตายรวดเร็วกว่าทุกยุคทุกสมัยในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติถึง 1,000 เท่า และปัญหานี้กำลังแย่ลงเรื่อยๆ สัตว์มากมายกำลังอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ ได้แก่ นก 14% สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 25% และสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ 40%
ชุมชนต่างๆ กำลังเผชิญกับผลกระทบที่ชัดเจนจากการสูญเสียธรรมชาติอย่างรวดเร็ว โดยมลภาวะ การทำประมงเกินขนาด และการระบาดของชนิดพันธุ์รุกราน ล้วนส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ขณะเดียวกัน การตัดไม้ทำลายป่าและการทำลายพื้นที่ชุ่มน้ำก็ทำให้คุณภาพอากาศแย่ลงและเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดพายุเฮอร์ริเคน น้ำท่วม และภัยธรรมชาติอื่นๆ นอกจากนี้ การสูญเสียสัตว์ขนถ่ายละอองเรณูทำให้บางชุมชนต้องจ้างคนมาถ่ายละอองเรณูด้วยมือ แต่ในทางตรงกันข้าม เด็กๆที่อาศัยอยู่ใกล้พื้นที่อนุรักษ์มีสุขภาพและสถานะทางเศรษฐกิจดีกว่าเด็กกลุ่มอื่นๆ
คุณ Hansjorg Wyss ได้กล่าวไว้ในบทความว่า
"เราทุกคน ทุกประเทศ ทุกวัย และทุกวัฒนธรรม ต้องร่วมมือกันปกป้องธรรมชาติ... การประชุมสุดยอด Nature Champions Summit ในสัปดาห์นี้เป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้เริ่มเส้นทางการอนุรักษ์ธรรมชาติร่วมกันเพื่อสรรพชีวิตทั้งมวล"
รูปภาพ - https://mma.prnewswire.com/media/876566/National_Geographic_Baffin_Island.jpg
โลโก้ - https://mma.prnewswire.com/media/876674/Wyss_Logo.jpg