ลอนดอน--12 มิ.ย.--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์
ผลการค้นพบที่สำคัญ
- ยูเครนอันดับดีขึ้นมากที่สุด ส่วนนิการากัวอันดับร่วงลงมากที่สุด
- ประเทศที่ลดการขยายอิทธิพลทางทหาร (106 ประเทศ) มีจำนวนมากกว่าประเทศที่เพิ่มการขยายอิทธิพลทางทหาร ซึ่งเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นต่อเนื่องตลอดทศวรรษที่ผ่านมา
- นับจากปี 2551 ความสงบสุขทั่วโลกลดลง 3.78% โดยลดลงใน 81 ประเทศ และเพิ่มขึ้นใน 81 ประเทศ แต่ภาพรวมความสงบสุขทั่วโลกลดลงมากกว่าเพิ่มขึ้น
ปัญหาภาวะโลกร้อน
- ประชากรโลกมากกว่า 400 ล้านคนอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีความสงบสุขต่ำและมีความเสี่ยงสูงจากภาวะโลกร้อน
- 8 จาก 25 ประเทศที่มีความสงบสุขต่ำที่สุด มีประชากร 103 ล้านคนที่ตกอยู่ในความเสี่ยงเพราะอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีภาวะโลกร้อนรุนแรง
- ภูมิภาคแอฟริกาใต้สะฮารามีศักยภาพต่ำที่สุดในการรับมือกับภาวะโลกร้อน ซึ่งอาจทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งรุนแรงในภูมิภาคย่ำแย่ลงไปอีก
ผลกระทบจากความรุนแรงที่มีต่อเศรษฐกิจและ GDP
- ผลกระทบจากความรุนแรงที่มีต่อเศรษฐกิจโลกลดลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2555 โดยลดลงสู่ระดับ 14.1 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2561 คิดเป็นสัดส่วน 11.2% ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมดทั่วโลก หรือ 1,853 ดอลลาร์ต่อคน
- โดยเฉลี่ยแล้ว กลุ่มประเทศที่สงบสุขที่สุดมี GDP ต่อหัวเติบโตสูงกว่าสามเท่าเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศที่สงบสุขน้อยที่สุดตลอด 60 ปีที่ผ่านมา
- ใน 10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงมากที่สุด พบว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 35% ของ GDP เทียบกับ 3.3% ในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงน้อยที่สุด
รายงานดัชนีสันติภาพโลก หรือ Global Peace Index (GPI) ฉบับที่ 13 ประจำปี 2562 ซึ่งชี้วัดความสงบสุขของประเทศและภูมิภาคต่างๆทั่วโลก เผยให้เห็นว่า โดยเฉลี่ยแล้ว ความสงบสุขทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปีในปี 2561 แต่ก็ยังน้อยกว่าทศวรรษก่อนหน้าอยู่มาก โดยความสงบสุขทั่วโลกลดลงเกือบ 4% จากปี 2551 ทั้งนี้ รายงานฉบับนี้ได้มีการเพิ่มผลวิจัยใหม่เข้ามา นั่นคือ ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่มีต่อความสงบสุข
รายงานระบุว่า 86 ประเทศมีคะแนนความสงบสุขดีขึ้น ขณะที่ 76 ประเทศมีคะแนนแย่ลง ไอซ์แลนด์ยังคงเป็นประเทศที่สงบสุขที่สุดในโลก โดยครองอันดับนี้มาตั้งแต่ปี 2551 ตามมาด้วยนิวซีแลนด์ ออสเตรีย โปรตุเกส และเดนมาร์ก ขณะที่ภูฏานมีอันดับดีขึ้นมากที่สุดในบรรดาประเทศที่ติด 20 อันดับแรก โดยกระโดดขึ้นมาถึง 43 อันดับ ในระยะเวลา 12 ปีที่ผ่านมา
อัฟกานิสถานรั้งตำแหน่งประเทศที่สงบสุขน้อยที่สุดในโลก โดยหล่นลงไปแทนที่ซีเรีย ประเทศที่สงบสุขน้อยที่สุดเป็นอันดับสองของโลก ขณะที่ซูดานใต้ เยเมน และอิรัก ก็อยู่ในกลุ่มประเทศที่สงบสุขน้อยที่สุดในโลก โดยเยเมนติดหนึ่งใน 5 ประเทศที่สงบสุขน้อยที่สุดในโลกเป็นปีแรกนับตั้งแต่มีการจัดทำดัชนีขึ้นมา
รายงานนี้จัดทำโดยสถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ หรือ Institute for Economics & Peace (IEP) เพื่อให้ข้อมูลวิเคราะห์ที่ครอบคลุมที่สุดเกี่ยวกับความสงบสุข คุณค่าที่มีต่อเศรษฐกิจ แนวโน้ม และแนวทางการพัฒนาสังคมที่สงบสุข รายงานนี้ครอบคลุม 99.7% ของประชากรโลก โดยมีการพิจารณาปัจจัยบ่งชี้เชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ 23 ประการ ซึ่งมาจากแหล่งข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือสูง ปัจจัยบ่งชี้ย่อยเหล่านี้ถูกจัดกลุ่มเป็นสามปัจจัยบ่งชี้หลัก ได้แก่ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทั้งในและนอกประเทศ ความปลอดภัยและความมั่นคงในสังคม และการขยายอิทธิพลทางทหาร
Steve Killelea ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารสถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ กล่าวว่า "แม้ว่าความสงบสุขทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นในรายงานปี 2562 แต่จากการวิเคราะห์เชิงลึกพบว่ามีทั้งแนวโน้มเชิงบวกและเชิงลบ เพราะในขณะที่ความขัดแย้งยาวนานนับสิบปีเริ่มคลี่คลายทั้งในอิรักและซีเรีย กลับมีความขัดแย้งครั้งใหม่เกิดขึ้นในเยเมน นิการากัว และตุรกี ส่งผลให้ 10 ประเทศที่รั้งท้ายตารางมีความสงบสุขลดลงมากกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลก จึงก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น"
4 จาก 9 ภูมิภาคทั่วโลกมีความสงบสุขเพิ่มขึ้นในปีที่ผ่านมา โดยรัสเซียและยูเรเชียมีความสงบสุขเพิ่มขึ้นมากที่สุด ตามมาด้วยตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ โดยจำนวนผู้เสียชีวิตจากความขัดแย้งลดลงในยูเครนและซีเรีย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายลดลง
อย่างไรก็ดี 2 จาก 3 ปัจจัยบ่งชี้หลักย่ำแย่ลงในทศวรรษที่ผ่านมา โดยความขัดแย้งที่เกิดขึ้น แย่ลง 8.7% ด้านความปลอดภัยและความมั่นคง แย่ลง 4% แต่การขยายอิทธิพลทางทหารกลับดีขึ้น 2.6% นับจากปี 2551 ซึ่งสวนทางกับการรับรู้ของสาธารณชน โดยจำนวนทหารติดอาวุธต่อประชากร 100,000 คนปรับตัวลดลงใน 117 ประเทศ ขณะที่การใช้จ่ายทางทหารคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของ GDP ก็ลดลงใน 98 ประเทศ และมีเพียง 63 ประเทศที่เพิ่มการใช้จ่ายทางทหาร
Steve Killelea กล่าวว่า "แนวโน้มหลายอย่างตลอดทศวรรษที่ผ่านมาสะท้อนถึงความซับซ้อนของความสงบสุขทั่วโลก ในขณะที่จำนวนประเทศสนับสนุนก่อการร้ายลดลงอย่างมากในทศวรรษที่ผ่านมา โดย 62 ประเทศมีคะแนนดีขึ้น และมีเพียง 42 ประเทศที่คะแนนลดลง แต่การกักขังกลับเพิ่มขึ้น โดยอัตราการกักขังเพิ่มขึ้นใน 95 ประเทศ และลดลงใน 65 ประเทศ แม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะมีอัตราการกักขังลดลง 11% ในทศวรรษที่ผ่านมา แต่ยังคงมีอัตราการกักขังสูงที่สุดเป็นอันดับสองของโลก"
รายงานฉบับนี้มีการวิเคราะห์ความเสี่ยงด้านความมั่นคงอันเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน โดยพบว่าประชากรราว 971 ล้านคนอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีปัญหาสภาพภูมิอากาศรุนแรงหรือรุนแรงมาก และ 400 ล้านคนในจำนวนนี้อยู่ในประเทศที่มีความสงบสุขต่ำ ขณะเดียวกัน 10% ของประชากรเหล่านี้ หรือ 103.7 ล้านคน อาศัยอยู่ใน 25 ประเทศที่รั้งท้ายในรายงานดัชนีสันติภาพโลก ซึ่งรวมถึงซูดานใต้ อิรัก ลิเบีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ซูดาน เกาหลีเหนือ ไนจีเรีย และเม็กซิโก
ผลกระทบจากความรุนแรงที่มีต่อเศรษฐกิจโลกในปี 2561 ลดลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2555 โดยลดลง 3.3% สู่ระดับ 14.1 ล้านล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วน 11.2% ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก หรือ 1,853 ดอลลาร์ต่อคน โดยความขัดแย้งทางอาวุธดีขึ้นมากที่สุด อันเป็นผลมาจากความขัดแย้งที่ลดลงในซีเรีย โคลอมเบีย และยูเครน นอกจากนี้ ผลกระทบจากการก่อการร้ายที่มีต่อเศรษฐกิจก็ลดลงอย่างมากเช่นกัน โดยร่วงลง 48% ในปี 2561 จากปี 2560 ทั้งนี้ ใน 10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงมากที่สุด พบว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 35% ของ GDP เทียบกับ 3.3% ในกลุ่มประเทศที่สงบสุขที่สุด โดยซีเรียได้รับผลกระทบหนักสุดที่ 67%
ภาพรวมระดับภูมิภาค
- เอเชียแปซิฟิก ทั้งสามปัจจัยบ่งชี้หลักดีขึ้นในปีที่แล้ว เนื่องจากได้รับเงินทุนเพื่อรักษาสันติภาพจากยูเอ็นมากขึ้น ขณะที่การประท้วงรุนแรงและจำนวนผู้เสียชีวิตจากความขัดแย้งภายในลดลง อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากการก่อการร้ายยังคงเลวร้ายลง เช่นเดียวกับการต่อสู้เพราะความขัดแย้งภายในและภายนอก สำหรับประเทศมหาอำนาจอย่างจีนไต่ขึ้นมาสองขั้นอยู่ที่อันดับ 110 โดยอยู่ระหว่างแอลจีเรียที่อันดับ 111 และจิบูตีที่อันดับ 109
- อเมริกากลางและแคริบเบียน ทั้งสามปัจจัยบ่งชี้หลักย่ำแย่ลงในปีที่แล้ว แม้ว่า 7 ประเทศจะมีความสงบสุขเพิ่มขึ้น และมีเพียง 5 ประเทศที่ความสงบสุขลดลง แต่โดยรวมแล้วปัจจัยบ่งชี้ย่ำแย่ลงมากกว่าดีขึ้น
- ยุโรป เป็นภูมิภาคที่สงบสุขมากที่สุดในโลก โดยมีความสงบสุขเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยในปี 2561 หลังจากเป็นเช่นนี้ต่อเนื่องมานานนับทศวรรษแล้ว โดย 22 จาก 36 ประเทศในยุโรปมีความสงบสุขมากขึ้น และ 17 จาก 25 ประเทศที่สงบสุขที่สุดในโลกเป็นประเทศในยุโรป
- ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ เป็นภูมิภาคที่สงบสุขน้อยที่สุดในโลก แต่มีความสงบสุขเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในปีที่แล้ว โดย 11 ประเทศมีความสงบสุขเพิ่มขึ้น และซีเรียไม่ใช่ประเทศที่สงบสุขน้อยที่สุดในโลกอีกต่อไป ขณะเดียวกันอิรักก็เริ่มฟื้นตัวอย่างเป็นรูปธรรม
- อเมริกาเหนือ เป็นภูมิภาคที่มีความสงบสุขลดลงมากที่สุดเป็นอันดับสองในปีที่แล้ว โดยสหรัฐอเมริกามีความสงบสุขลดลงอย่างมาก อันเป็นผลมาจากอัตราการฆาตกรรม อาชญากรรมรุนแรง และความไร้เสถียรภาพทางการเมืองที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้สหรัฐหล่นลงมาสี่ขั้นสู่อันดับ 128 ซึ่งอยู่ระหว่างแอฟริกาใต้กับซาอุดีอาระเบีย ส่วนแคนาดามีคะแนนรวมเพิ่มขึ้นเล็กน้อย และยังคงติดหนึ่งใน 10 ประเทศที่สงบสุขมากที่สุดในโลก
- รัสเซียและยูเรเชีย เป็นหนึ่งในสามภูมิภาคที่ทั้งสามปัจจัยบ่งชี้หลักดีขึ้นในปีที่แล้ว ส่งผลให้เป็นภูมิภาคที่มีความสงบสุขเพิ่มขึ้นมากที่สุดในโลก แม้ว่าประเทศส่วนใหญ่ยังมีความสงบสุขต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกก็ตาม โดยรัสเซียขยับลงหนึ่งขั้นสู่อันดับ 154 อยู่ระหว่างสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกที่อันดับ 155 และปากีสถานที่อันดับ 153
- อเมริกาใต้ มีเพียงโคลอมเบีย อุรุกวัย และชิลี ที่มีความสงบสุขเพิ่มขึ้นในปีที่แล้ว ส่วนอีก 8 ประเทศที่เหลือมีความสงบสุขลดลง เวเนซุเอลากลายเป็นประเทศที่สงบสุขน้อยที่สุดในภูมิภาค ส่วนบราซิลเป็นประเทศมีความสงบสุขลดลงมากที่สุดเป็นอันดับห้าของโลก
- เอเชียใต้ มีความสงบสุขเพิ่มขึ้นในปีที่แล้ว เนื่องจากเนปาล ปากีสถาน และภูฏานมีคะแนนดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ภูมิภาคนี้ยังคงมีความสงบสุขน้อยที่สุดเป็นอันดับสองของโลก รองจากตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ
- แอฟริกาใต้สะฮารา 27 จาก 44 ประเทศในภูมิภาคมีความสงบสุขลดลง โดยทั้งสามปัจจัยบ่งชี้หลักย่ำแย่ลงในปีที่แล้ว ส่วนปัจจัยบ่งชี้ย่อย 23 ประการนั้น พบว่าดีขึ้น 12 ประการ และแย่ลง 8 ประการ
สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.visionofhumanity.org
หมายเหตุสำหรับบรรณาธิการ
รับชมรายงานดัชนีสันติภาพโลกฉบับเต็ม บทความ และแผนที่อินเทอร์แอคทีฟได้ที่ www.visionofhumanity.org
ทวิตเตอร์: https://twitter.com/GlobPeaceIndex (#GlobalPeace19)
เฟซบุ๊ก: www.facebook.com/globalpeaceindex
เกี่ยวกับดัชนีสันติภาพโลก
รายงานดัชนีสันติภาพโลก จัดทำโดยสถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ เพื่อชี้วัดความสงบสุขของประเทศต่างๆทั่วโลก และจัดทำขึ้นเป็นฉบับที่ 13 แล้ว โดยมีการพิจารณาปัจจัยบ่งชี้ย่อย 23 ประการ ซึ่งถูกจัดกลุ่มเป็นสามปัจจัยบ่งชี้หลัก ได้แก่ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทั้งในและนอกประเทศ ความปลอดภัยและความมั่นคงในสังคม และการขยายอิทธิพลทางทหาร ใน 163 ประเทศและดินแดนทั่วโลก
เกี่ยวกับสถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ
สถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ เป็นสถาบันวิจัยอิสระระหว่างประเทศที่อุทิศตนให้กับการเปลี่ยนมุมมองที่โลกมีต่อสันติภาพ ด้วยการทำให้สันติภาพเป็นมาตรวัดความก้าวหน้าและความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ ซึ่งมีความชัดเจน จับต้องได้ และมีประโยชน์ ทางสถาบันมีสำนักงานอยู่ในซิดนีย์ บรัสเซลส์ นิวยอร์ก กรุงเฮก เม็กซิโกซิตี้ และฮาราเร
โลโก้ - https://mma.prnewswire.com/media/792052/IEP_Logo.jpg