ลอนดอน--11 ก.ค.--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์
- รายงาน Global Economy Watch ฉบับเดือนกรกฎาคมของ PwC ระบุว่า สหรัฐนำเข้าสินค้าจากจีนลดลงราว 15% เมื่อเทียบรายปีในไตรมาส 1/2562
- สหรัฐนำเข้าสินค้าจาก 8 ประเทศในเอเชีย ได้แก่ บังกลาเทศ อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน ไทย และเวียดนาม เพิ่มขึ้นกว่า 16%
- การขึ้นภาษีนำเข้ามีส่วนทำให้ภาคการค้าและภาคการผลิตชะลอตัวลงทั่วโลก
- บทวิเคราะห์ของ PwC ชี้ให้เห็นว่า การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นทั่วโลกมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ขยายตัวอย่างมาก
บทวิเคราะห์ของ PwC ที่เผยแพร่ในวันนี้ ระบุว่า การที่สหรัฐขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนรอบแรกเมื่อช่วงต้นปีนี้ เริ่มส่งผลกระทบต่อการค้าโลกอย่างมีนัยสำคัญและเห็นได้อย่างชัดเจน
รายงาน Global Economy Watch ฉบับเดือนกรกฎาคมของ PwC ระบุว่า สหรัฐนำเข้าสินค้าจากจีนลดลงราว 15% เมื่อเทียบรายปีในไตรมาส 1/2562 ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสให้กับประเทศคู่ค้ารายอื่นๆ ในภูมิภาค โดยสหรัฐนำเข้าสินค้าจาก 8 ประเทศในเอเชีย ได้แก่ บังกลาเทศ อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน ไทย และเวียดนาม เพิ่มขึ้นกว่า 16%
ไมค์ เจคแมน นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของ PwC UK กล่าวว่า
"บางครั้งเศรษฐศาสตร์ก็ตามไม่ทันการเมือง แต่ตอนนี้เราได้เห็นข้อมูลเศรษฐกิจที่ย่ำแย่อันเป็นผลมาจากสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างสหรัฐกับจีน ทว่าเป็นประโยชน์กับอีกหลายประเทศในภูมิภาค หากแนวโน้มเช่นนี้ดำเนินต่อไปก็จะมีส่วนผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวเร็วขึ้น โดยเฉพาะในเวียดนาม เกาหลีใต้ และไต้หวัน"
"ถ้าเป้าหมายหลักคือการจัดการกับความไม่สมดุลทางการค้า การขึ้นภาษีนำเข้าทวิภาคีก็ไม่ใช่เครื่องมือที่สมบูรณ์แบบ เพราะมาตรการทดแทนการนำเข้ารังแต่จะก่อให้เกิดปัญหาเดิมกับประเทศอื่น ตัวอย่างเช่น เมื่อเวียดนามมีขีดความสามารถในการแข่งขันมากกว่าจีน สหรัฐจึงขาดดุลการค้าเวียดนามเพิ่มขึ้นแตะ 1.35 หมื่นล้านดอลลาร์ในไตรมาสแรกของปีนี้ เทียบกับ 9.3 พันล้านดอลลาร์ในไตรมาสแรกของปีที่แล้ว"
รายงาน Global Economy Watch ฉบับเดือนกรกฎาคมยังมีการประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยอีกครั้ง เนื่องจากสถานการณ์ตึงเครียดทางการค้ากระทบต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและความต้องการสินค้าส่งออก
ไมค์ เจคแมน กล่าวเสริมว่า
"เห็นได้ชัดว่าประเทศเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกมีแนวโน้มไม่สดใสเท่ากับเมื่อ 18 เดือนก่อน โดยในช่วงต้นปี 2561 เราได้เห็นเศรษฐกิจขยายตัวเร็วที่สุดและพร้อมเพรียงกันมากที่สุดนับตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤติการเงินโลก แต่หลังจากนั้น ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่รุนแรงขึ้น เศรษฐกิจที่ชะงักงันอย่างต่อเนื่องในยุโรป และเศรษฐกิจที่ล้มลุกคลุกคลานในตลาดเกิดใหม่ที่ขยายตัวช้า ได้ทำให้ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและผู้กำหนดนโยบายเปลี่ยนไป"
"การที่เศรษฐกิจของตลาดสำคัญๆ อย่างสหรัฐ จีน และยูโรโซน ชะลอตัวลงในปี 2562 ไม่ใช่สิ่งที่เหนือความคาดหมาย หลังจากที่เศรษฐกิจสหรัฐได้แรงหนุนจากมาตรการลดภาษีในปี 2561 ขณะที่รัฐบาลจีนเดินหน้าชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ส่วนเศรษฐกิจยูโรโซนก็กำลังปรับฐานหลังจากขยายตัวสูงกว่าแนวโน้มในปี 2559-2560 แม้ว่าการที่เศรษฐกิจของสหรัฐ จีน และยูโรโซนชะลอตัวลงพร้อมกันจะเป็นเรื่องที่น่ากังวล แต่ปัจจัยพื้นฐานยังคงแข็งแกร่งอยู่"
การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นสร้างโอกาสเพื่ออนาคต
ในรายงานพิเศษว่าด้วยพลังงานโลก PwC พบว่าประเทศต่างๆ ทั่วโลกใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยในปี 2533 เศรษฐกิจโลกต้องใช้พลังงานเทียบเท่าน้ำมัน 181 กิโลกรัมในการสร้าง GDP โลกในแง่ของ PPP มูลค่า 1,000 ดอลลาร์ ต่อมาในปี 2558 ต้องใช้ 123 กิโลกรัม ซึ่งเป็นการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าหนึ่งในสาม โดยทิศทางดังกล่าวมีแนวโน้มดำเนินต่อไป และคาดว่าจะใช้เพียง 78 กิโลกรัมภายในปี 2583 การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นมีความสำคัญต่อการจำกัดภาวะโลกร้อน พร้อมกับรับประกันว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวต่อไป และประชากรโลกจะมีความมั่งคั่งมากขึ้น
รายงานยังระบุถึงสองปัจจัยที่ขับเคลื่อนแนวโน้มดังกล่าว ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจเชิงโครงสร้าง และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โดยมีการสำรวจผลกระทบของทั้งสองปัจจัยใน 20 ประเทศที่มีพัฒนาการด้านความเข้มข้นของการใช้พลังงานมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2533
ไมค์ เจคแมน กล่าวเสริมว่า
"บทวิเคราะห์บ่งชี้ว่า เรามีพัฒนาการอย่างมากในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพตลอด 30 ปีที่ผ่านมา และเราเชื่อว่ายังมีโอกาสพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นในอีก 20 ปีข้างหน้า"
"นี่เป็นเรื่องดีสำหรับเศรษฐกิจโลก เพราะแสดงให้เห็นว่าภาครัฐและภาคธุรกิจสามารถลดใช้พลังงานเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนโดยไม่จำกัดการเติบโตทางเศรษฐกิจ"
สามารถอ่านรายงาน Global Economy Watch ฉบับล่าสุดได้ที่ https://www.pwc.com/gx/en/issues/economy/global-economy-watch.html
เกี่ยวกับ PwC
PwC มุ่งมั่นสร้างความไว้วางใจในสังคมและแก้ปัญหาที่สำคัญ เราคือเครือข่ายบริษัทที่ดำเนินธุรกิจใน 158 ประเทศ และมีบุคลากรกว่า 250,000 คนที่ทุ่มเทให้บริการด้านการประกันภัย การให้คำปรึกษา และภาษี สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมและแสดงความคิดเห็นได้ที่ www.pwc.com
PwC หมายถึงเครือข่ายบริษัท PwC และ/หรือ บริษัทสมาชิกหนึ่งบริษัทหรือหลายบริษัท โดยแต่ละบริษัทเป็นนิติบุคคลที่แยกกันชัดเจน สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.pwc.com/structure
(C) 2562 PwC สงวนลิขสิทธิ์
ติดต่อ
เดวิด โบวเดน
ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารสากล
PwC
มือถือ: +44 (0)7483365049
อีเมล: david.bowden@pwc.com