ซูโจว, จีน--17 ก.ค.--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์
โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบลอยน้ำขนาด 200 กิโลวัตต์แห่งแรกในฟิลิปปินส์ของ Ocean Sun บริษัทพลังงานแสงอาทิตย์ชั้นนำจากนอร์เวย์ ได้เริ่มเปิดใช้งานแล้วเมื่อไม่นานมานี้ โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง Ocean Sun กับ GCL-SI ซึ่งเป็นผู้จัดหาโมดูลชั้นนำ และเป็นโครงการแบบไม่ใช้พลังน้ำโครงการแรกของ SN Aboitiz Power-Magat (SNAP) บริษัทพลังงานหมุนเวียนชั้นนำของฟิลิปปินส์
โรงไฟฟ้าแห่งนี้อยู่ในอ่างเก็บน้ำมากัตพื้นที่ 1,170 เฮกตาร์ โดยได้รับการออกแบบให้ทนต่อสภาพอากาศที่แปรปรวนและพายุไต้ฝุ่นที่รุนแรง โครงการนี้จะทำการทดสอบระยะเวลา 10 เดือน และในเบื้องต้นจะตอบสนองความต้องการการใช้พลังงานน้ำในมากัตของ SNAP ถ้าประสบความสำเร็จ SNAP จะขยายโครงการเพื่อให้ไฟฟ้าที่ผลิตได้สามารถนำไปใช้เป็นพลังงานหมุนเวียน เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของฟิลิปปินส์
เอริค หลัว ประธานบริษัท GCL-SI กล่าวว่า "GCL มุ่งมั่นพัฒนาพลังงานหมุนเวียนที่คุ้มค่าในระดับโลกมาโดยตลอด การร่วมมือกับ Ocean Sun ในการบุกเบิกโครงการในฟิลิปปินส์ตอกย้ำถึงความไว้วางใจที่เราได้รับจากพันธมิตรทั่วโลก"
โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบลอยน้ำ (การติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์บนผิวน้ำ) เป็นเทคโนโลยีที่สร้างโอกาสใหม่ๆ และเหมาะสำหรับประเทศที่มีความต้องการใช้ที่ดินในระดับสูง อัลฟองโซ คูซี รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานฟิลิปปินส์ กล่าวว่า ศักยภาพของแผงเซลล์แสงอาทิตย์แบบลอยน้ำจะช่วยตอบสนองความต้องการพลังงานในประเทศที่สูงถึง 11,000 เมกะวัตต์ได้เป็นอย่างดี
ภายใต้ข้อตกลงระหว่าง Ocean Sun กับ GCL-SI ที่เกิดขึ้นในงาน Shanghai SNEC ทั้งสองบริษัทจะร่วมกันพัฒนาโมดูลสำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบลอยน้ำ โดย GCL-SI จะยกระดับการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ประสิทธิภาพสูง รวมถึงให้การสนับสนุน Ocean Sun ในการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อให้สอดรับกับความต้องการทางเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วและความต้องการพลังงานหมุนเวียนในฟิลิปปินส์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ออยวินด์ รอห์น ซีอีโอ และ บอร์ก บียอร์นเนคเลต ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีของ Ocean Sun กล่าวว่า "การเป็นพันธมิตรกับ GCL คือหลักชัยสำคัญของ Ocean Sun และจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของเทคโนโลยีให้เหมาะสมกับการใช้งานขนาดใหญ่ เรายินดีอย่างยิ่งที่ได้ GCL มาเป็นพันธมิตร และจะเดินหน้ายกระดับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบลอยน้ำไปอีกขั้น"
รูปภาพ - https://photos.prnasia.com/prnh/20190715/2524445-1