ปักกิ่ง--17 ส.ค.--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์
เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาเป็นวาระครบรอบ 15 ปีนับตั้งแต่จีนนำเสนอแนวคิดการพัฒนาสีเขียว “น้ำใสสะอาดและภูเขาเขียวขจีคือสินทรัพย์อันล้ำค่า” โดยมีหมู่บ้านอวี้ฉุนในมณฑลเจ้อเจียงทางภาคตะวันออกของจีนเป็นต้นกำเนิดของแนวคิดดังกล่าว
ปัจจุบัน หมู่บ้านอวี้ฉุนเป็นแหล่งทัศนียภาพระดับ 4A และมีความงดงามเป็นที่เลื่องลือ แต่เชื่อหรือไม่ว่า เมื่อ 10 ปีที่แล้วหมู่บ้านอันงดงามแห่งนี้เต็มไปด้วยแหล่งน้ำเสีย ต้นไม้ที่ปกคลุมด้วยฝุ่น และท้องฟ้าสีเทาหม่น
หมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งนี้เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือได้อย่างไร
หมู่บ้านอวี้ฉุน - จุดเริ่มต้นและแม่แบบ
เพื่อบรรเทาความยากไร้ของชาวบ้าน หมู่บ้านอวี้ฉุนได้ผลักดันเศรษฐกิจด้วยการทำเหมืองแร่ในช่วงทศวรรษ 2530 อย่างไรก็ตาม แหล่งสร้างรายได้ดังกล่าวได้ก่อให้เกิดปัญหามลภาวะอย่างรุนแรง
จนกระทั่งปี 2546 หมู่บ้านแห่งนี้ได้เลิกพึ่งพาการทำเหมือง และพยายามฟื้นฟูระบบนิเวศในท้องถิ่น
ในเดือนสิงหาคม 2548 ความพยายามของหมู่บ้านได้รับการยกย่องจากนายสี จิ้นผิง ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำมณฑลเจ้อเจียง
“การตัดสินใจปิดเหมืองหลายแห่งเป็นการกระทำที่ชาญฉลาด เพราะน้ำใสสะอาดและภูเขาเขียวขจีคือสินทรัพย์อันล้ำค่า” นายสี จิ้นผิง กล่าวกับเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นในการประชุมครั้งหนึ่ง
ในปี 2562 หมู่บ้านแห่งนี้มีรายได้รวมราว 280 ล้านหยวน (40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และกลายเป็นแม่แบบของการสร้างสังคมชนบทอันมั่งคั่งในมณฑลเจ้อเจียง
วิวัฒนาการ
ในบทความที่เผยแพร่ผ่านหนังสือพิมพ์เจ้อเจียงเดลี่เมื่อปี 2549 นายสี จิ้นผิง ได้อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างการพัฒนาสีเขียวกับการเติบโตทางเศรษฐกิจซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้
ระยะแรก ผู้คนต่างต้องการผลตอบแทนทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว จึงเพิกเฉยต่อการรักษาสิ่งแวดล้อม
ระยะที่สอง ผู้คนเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาสีเขียว แต่ยังคงแสวงหาการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับสูง
ระยะที่สาม ในที่สุดผู้คนก็ตระหนักว่าการพัฒนาสีเขียวให้ผลตอบแทนที่มีค่าอย่างแท้จริง และมีเพียงการพัฒนาสีเขียวเท่านั้นที่จะทำให้มนุษย์และธรรมชาติอยู่ร่วมกันได้
ทำตามที่พูด
สำหรับประเทศจีนนั้น การพัฒนาสีเขียวไม่ใช่แค่ความคิดลอย ๆ
เพื่อแก้ปัญหามลพิษในแหล่งน้ำ จีนได้ประกาศแผน “Master of the River” ในปี 2559
คุณภาพน้ำในแม่น้ำแยงซี แม่น้ำฮวงโห แม่น้ำเฮยหลงเจียง และแม่น้ำเหนินเจียง ได้รับการปรับปรุงอย่างมีนัยสำคัญตลอดหลายปีที่ผ่านมา
อีกหนึ่งพันธกิจสำคัญของจีนคือการควบคุมพื้นที่แห้งแล้ง ในปี 2562 ผลการศึกษาของนาซ่าเผยให้เห็นว่า ในระหว่างปี 2543-2560 จีนสร้างพื้นที่สีเขียวใหม่คิดเป็นสัดส่วนกว่า 1 ใน 4 ของทั้งหมดทั่วโลก นับว่าเป็นประเทศที่สร้างพื้นที่สีเขียวมากที่สุดในโลก
นอกจากนี้ จีนยังประกาศมาตรการระดับชาติมากมายเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจไปสู่การเปลี่ยนผ่านสีเขียว
มาตรการดังกล่าวครอบคลุมถึงการจัดตั้งกลไกชดเชยระบบนิเวศ การปรับปรุงกฎหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อม การตรวจสอบสิ่งแวดล้อม และการจัดเก็บภาษีเพื่อคุ้มครองสิ่งแวดล้อม
https://news.cgtn.com/news/2020-08-15/15-years-on-In-China-green-is-new-gold-SmyH5dCEvu/index.html
รูปภาพ - https://photos.prnasia.com/prnh/20200816/2886682-2-a
คำบรรยายภาพ - อินโฟกราฟิกแสดงรายได้ของหมู่บ้านอวี้ฉุน
รูปภาพ - https://photos.prnasia.com/prnh/20200816/2886682-2-b
คำบรรยายภาพ - น้ำและอากาศสะอาดขึ้น
รูปภาพ - https://photos.prnasia.com/prnh/20200816/2886682-2-c
คำบรรยายภาพ - การควบคุมพื้นที่แห้งแล้งในจีน
รูปภาพ - https://photos.prnasia.com/prnh/20200816/2886682-2-d
คำบรรยายภาพ - ข้อมูลป่าไม้ในจีน
รูปภาพ - https://photos.prnasia.com/prnh/20200816/2886682-2-e
คำบรรยายภาพ - การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
วิดีโอ - https://cdn5.prnasia.com/202008/CGTN/video2.mp4