เนื่องในวาระครบรอบ 5 ปีของการรับรองความตกลงปารีส (Paris Agreement) เมื่อปี 2558 บรรดาผู้นำโลกกว่า 70 คนได้จัดการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศเป็นเวลา 1 วันผ่านทางออนไลน์ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างแรงกระตุ้นและเรียกร้องให้มีการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศให้มากขึ้น
เมื่อเดือนกันยายน จีนได้สร้างความประหลาดใจให้กับทั่วโลกด้วยการประกาศเป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2603 และเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา จีนได้ประกาศมาตรการใหม่เพิ่มเติมเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของ "ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ความร่วมมือ และความเชื่อมั่น"
อ่านบทความต้นฉบับได้ที่ https://news.cgtn.com/news/2020-12-12/Xi-attends-Climate-Ambition-Summit-via-video-link-WayKC4PnLq/index.html
โครงสร้างใหม่ของการควบคุมสภาพภูมิอากาศ
นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีของจีน เน้นย้ำในระหว่างการประชุมว่า ในการเผชิญหน้ากับความท้าทายด้านสภาพภูมิอากาศนั้น ไม่มีใครสามารถตีตัวออกห่างได้ และการดำเนินการฝ่ายเดียวไม่ช่วยให้เราก้าวไปไหน
รายงาน "Come Heat or High Water" ระบุว่า โลกเผชิญกับภัยพิบัติมากกว่า 100 ครั้งในช่วง 6 เดือนแรกของการระบาดของโรคโควิด-19 และมีผู้ได้รับผลกระทบมากกว่า 50 ล้านคน
ในปี 2562 เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ 308 ครั้งทั่วโลก คร่าชีวิตผู้คนราว 24,400 คน โดย 77% ของภัยพิบัติเหล่านี้ล้วนเกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ
"ทุกประเทศจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเต็มที่โดยคำนึงถึงสถานการณ์และขีดความสามารถของประเทศ" นายสี จิ้นผิง กล่าว พร้อมกับเรียกร้องให้ประเทศที่พัฒนาแล้วยกระดับการสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาทั้งในด้านการเงิน เทคโนโลยี และการเสริมสร้างขีดความสามารถ
นายสี จิ้นผิง เน้นย้ำว่า เราสามารถสร้างประโยชน์ร่วมกันและชัยชนะสำหรับทุกประเทศได้ ด้วยการสนับสนุนระบบพหุภาคี ความสามัคคี และความร่วมมือ
จีนยึดมั่นในคำสัญญาเสมอ
นายสี จิ้นผิง ได้ประกาศพันธกิจเพิ่มเติมสำหรับปี 2573 ในการประชุมครั้งนี้ โดยระบุว่า "จีนจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วยของจีดีพีลงมากกว่า 65% จากระดับปี 2548 รวมถึงเพิ่มส่วนแบ่งเชื้อเพลิงที่ไม่ใช่ฟอสซิลในการใช้พลังงานขั้นต้นเป็น 25% ตลอดจนเพิ่มปริมาณป่าไม้สะสม 6 พันล้านลูกบาศก์เมตรจากระดับในปี 2548 และเพิ่มกำลังการผลิตติดตั้งของไฟฟ้าพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์เป็นมากกว่า 1.2 พันล้านกิโลวัตต์"
ในฐานะประเทศกำลังพัฒนาที่มีขนาดใหญ่ที่สุด และประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับสองของโลก จีนพยายามอย่างยิ่งที่จะประสานการเติบโตทางเศรษฐกิจกับการปกป้องสิ่งแวดล้อม และมุ่งมั่นที่จะต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก
ขณะเดียวกัน จีนกำลังจะทำได้เกินเป้าหมาย Intended Nationally Determined Contributions ภายในปี 2573 ภายใต้ความตกลงปารีส อันเป็นผลมาจากความพยายามอย่างไม่ลดละในการลดใช้พลังงานและลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล
ตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป จีนจะพยายามสร้างความก้าวหน้าครั้งใหม่ในการสร้างอารยธรรมเชิงนิเวศ รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนาและการปกป้องดินแดน และบรรลุผลลัพธ์ที่โดดเด่นในการเปลี่ยนแปลงการผลิตและวิถีชีวิตสีเขียว ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 (ปี 2564-2568) ที่นำเสนอโดยผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีน
อ่านเพิ่มเติม:
Up Next China: จีนกำหนดให้สภาพภูมิอากาศเป็นหัวใจสำคัญของแผนพัฒนา 5 ปี ฉบับที่ 14 (https://news.cgtn.com/news/2020-12-04/Up-Next-China-China-puts-climate-at-heart-of-next-Five-Year-Plan-VX7lYUD1rG/index.html)
นายสี จิ้นผิง กล่าวสุนทรพจน์ผ่านทางวิดีโอว่า "จีนยึดมั่นในคำสัญญาเสมอ" โดยสัญญาว่าจีนจะดำเนินการตามเป้าหมายที่ประกาศไว้ และมีส่วนร่วมมากขึ้นในการจัดการกับความท้าทายด้านสภาพภูมิอากาศโลก