ดัชนีความเชื่อมั่นการพิมพ์ 3 มิติประจำปี แสดงให้เห็นถึงการใช้งานและการพัฒนาการพิมพ์ 3 มิติที่เพิ่มขึ้น
ผลวิจัยล่าสุดจากการสำรวจทั่วโลกแสดงให้เห็นว่า การพิมพ์ 3 มิติมีการใช้งานมากขึ้น และความซับซ้อนของการใช้งานก็เพิ่มขึ้นในปี 2563 โดยการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นแรงขับเคลื่อนให้วิศวกรทั่วโลกหันมาใช้การพิมพ์ 3 มิติที่เป็นตัวพลิกเกมและสร้างแรงบันดาลใจ เพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นการพิมพ์ 3 มิติ ปี 2564 (2021 3D Printing Sentiment Index) ซึ่งเผยแพร่โดย Ultimaker ผู้นำระดับโลกด้านการพิมพ์ 3 มิติแบบมืออาชีพ และจัดทำโดยบริษัทวิจัยอิสระ Savanta ได้นำเสนอมุมมองที่ครอบคลุมเกี่ยวกับศักยภาพในปัจจุบันและอนาคตของการพิมพ์ 3 มิติในตลาดหลัก 12 แห่งทั่วโลก ซึ่งครอบคลุมธุรกิจแนวดิ่งและวิชาชีพที่หลากหลายที่สุด รวมถึงภาคการศึกษา โดยการสำรวจจัดทำขึ้นในสหรัฐอเมริกา เม็กซิโก สหราชอาณาจักร เยอรมนี ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี เนเธอร์แลนด์ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย
การลงทุนที่จำเป็น
ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่า การรับรู้เกี่ยวกับการพิมพ์ 3 มิติเพิ่มขึ้นเป็น 71% ทั่วโลก นำโดยประเทศจีน (84%) ตามมาด้วยสวิตเซอร์แลนด์ (83%) เนเธอร์แลนด์ (76%) และสหรัฐอเมริกา (76%) ส่วนความเชื่อมั่นโดยรวมต่อการพิมพ์ 3 มิติก็เป็นบวกเช่นกัน โดย 65% ของผู้ตอบแบบสำรวจที่รับรู้เกี่ยวกับการพิมพ์ 3 มิติ เชื่อว่าเทคโนโลยีนี้จะแพร่หลายในอุตสาหกรรมของตนในอีก 5 ปีข้างหน้า (เพิ่มขึ้น 7%) ข้อมูลนี้สอดคล้องกับลำดับความสำคัญที่เพิ่มขึ้น โดยกว่าหนึ่งในสี่ (27%) ของผู้ตอบแบบสำรวจระบุว่าการพิมพ์ 3 มิติเป็นการลงทุนที่สำคัญ (เพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับการจัดทำดัชนีครั้งก่อน) และเกือบครึ่งหนึ่ง (49%) เชื่อว่าจะกลายเป็นฟังก์ชันการใช้งานที่มีความสำคัญต่อธุรกิจ
ปัจจุบัน ประเทศที่มีการใช้งานการพิมพ์ 3 มิติสูงสุดประกอบด้วยสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เยอรมนีและฝรั่งเศส ขณะที่เม็กซิโกกำลังอยู่ในช่วงของการเติบโต อันเป็นผลมาจากโอกาสมากมายจากอเมริกาเหนือ โดยในบรรดาผู้ใช้หลายล้านคนนั้น พลาสติกและพอลิเมอร์เป็นวัสดุหลักที่ใช้กันมากที่สุด โดย PETG (polyethylene terephthalate glycol), PET (polyethylene terephthalate) และ PETT (Polyethylene coTrimethylene Terephthalate) มีการใช้งานถึง 31% (เพิ่มขึ้น 4%)
นอกจากนี้ ดัชนีแสดงให้เห็นว่า สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และเยอรมนี มีความคาดหวังสูงสุดกับการผลิตแบบเพิ่มเนื้อวัสดุอย่างการพิมพ์ 3 มิติ และคว้าประโยชน์สูงสุดจากโอกาสดังกล่าว ส่วนอันดับทั้งหมดมีดังนี้
1. สหรัฐอเมริกา
2. สหราชอาณาจักร
3. เยอรมนี
4. ฝรั่งเศส
5. จีน
6. เม็กซิโก
7. ญี่ปุ่น
8. เกาหลีใต้
9. สวิตเซอร์แลนด์
10. เนเธอร์แลนด์
11. อิตาลี
12. ออสเตรเลีย
ดูรายละเอียดของแต่ละประเทศได้ที่ https://ultimaker.com/3d-printing-sentiment-index/overview
วิกฤตจุดประกายความคิดสร้างสรรค์
จากการสำรวจพบว่า ธุรกิจ 1 ใน 3 มีการใช้งานการพิมพ์ 3 มิติ แต่มีไม่ถึง 1 ใน 10 ที่ใช้งานอย่างเต็มรูปแบบ นี่จึงเป็นโอกาสดีในการส่งเสริมการรับรู้ การให้ความรู้ และการใช้งาน ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีแนวโน้มที่จะผลักดันการใช้งานการพิมพ์ 3 มิติ เนื่องจากได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นทางเลือกที่เชื่อถือได้ในการสร้างสรรค์ชิ้นงานอย่างรวดเร็วและการผลิตในท้องถิ่น ส่งผลให้การใช้งานเพิ่มขึ้นในปี 2563 โดยบริษัทต่าง ๆ พัฒนาจากการใช้งานในระดับทีมย่อย (Champion Stage) ไปสู่การใช้งานอย่างเต็มที่ และถึงขั้นใช้งานทั่วองค์กรในบางกรณี ซึ่งสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนที่วัดผลได้ (การใช้งานระดับ Competence Centre Stage เพิ่มขึ้น 3% และการใช้งานระดับ Fully Embedded Stage เพิ่มขึ้น 2%)
นอกจากนี้ กรณีการใช้งานการพิมพ์ 3 มิติยังก้าวหน้ามากขึ้น เนื่องจากบริษัทต่าง ๆ พยายามดำเนินธุรกิจต่อไปท่ามกลางความท้าทายที่เกิดขึ้น กรณีการใช้งานเหล่านี้ช่วยให้วิศวกรทั่วโลกสามารถสนับสนุนห่วงโซ่อุปทานที่หยุดชะงักด้วยวิธีการใหม่ ๆ โดยธุรกิจกว่า 55% ใช้การพิมพ์ 3 มิติเพื่อผลิตชิ้นส่วน และเกือบ 3 ใน 4 ใช้ผลิตเครื่องมือ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและปรับปรุงระบบโลจิสติกส์ ขณะที่การสร้างต้นแบบลดลง 8% แต่ยังคงเป็นการใช้งานการพิมพ์ 3 มิติที่พบมากที่สุด
Jurgen von Hollen ซีอีโอของ Ultimaker กล่าวว่า "ผู้ผลิตทั่วโลกต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วเมื่อสถานการณ์โรคระบาดส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน เจ้าของธุรกิจที่เปิดกว้างสามารถปรับตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด โดยมีการสร้างต้นแบบและการพิมพ์เครื่องมือด้วยตัวเองเพื่อให้เครื่องจักรทำงานต่อไปได้ สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงวิธีการที่ยอดเยี่ยมของเหล่านักนวัตกรรมทั่วโลกในการสร้างความต่อเนื่องให้แก่ธุรกิจ การผลิต และการใช้ชีวิตประจำวัน แม้กำลังเผชิญกับความท้าทายนานัปการจากภายนอก ความเป็นไปได้ของการพิมพ์ 3 มิติไม่มีที่สิ้นสุด และเรายินดีที่ได้เห็นโซลูชันอันน่าทึ่งของเหล่านักออกแบบและวิศวกรทั่วโลก เราภูมิใจมากที่ Ultimaker ช่วยให้ธุรกิจดำเนินไปอย่างต่อเนื่องด้วยการพิมพ์ 3 มิติ แม้จะเผชิญกับความยากลำบากก็ตาม"
ความท้าทาย
แม้ว่าการพิมพ์ 3 มิติจะทำให้เกิดผลลัพธ์เชิงบวกท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาด แต่ก็ยังมีอุปสรรคที่ทำให้การนำไปใช้งานในวงกว้างชะลอตัว แม้ว่าอุปสรรคจะลดลงเล็กน้อยในการสำรวจปี 2563 แต่ความสามารถในการปฏิบัติงาน (67%) ความรู้ของพนักงาน (65%) และการสร้างธุรกิจที่มั่นคง (40%) ยังคงเป็นข้อจำกัดของบริษัทต่าง ๆ ในการปลดล็อกโอกาส โดยความสามารถในการปฏิบัติงานที่ทำให้บริษัทต่าง ๆ เกิดความกังวลมากที่สุดคือ การพิมพ์ที่เร็วขึ้น การใช้งานร่วมกับเครื่องมือและซอฟต์แวร์ที่มีอยู่เดิม (ระบบนิเวศ) และความน่าเชื่อถือ/ความแม่นยำของการพิมพ์
เกี่ยวกับการวิจัย
การสำรวจครั้งนี้จัดทำผ่านทางออนไลน์โดย Savanta ในเดือนธันวาคม 2563 กลุ่มตัวอย่างครอบคลุมผู้ประกอบวิชาชีพ 2,525 คน โดย 1,692 คนรับรู้ถึงเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ การสำรวจครอบคลุม 12 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก สหราชอาณาจักร เยอรมนี ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี เนเธอร์แลนด์ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย ผู้ตอบแบบสำรวจมาจากธุรกิจทุกระดับและหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น การดูแลสุขภาพ การผลิต สถาปัตยกรรม และยานยนต์ เป็นต้น
เกี่ยวกับ Ultimaker
Ultimaker ก่อตั้งขึ้นในปี 2554 โดยนำเสนอโซลูชันเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ซอฟต์แวร์ และวัสดุที่ใช้งานง่ายและเข้าถึงได้ง่าย ซึ่งช่วยให้นักออกแบบและวิศวกรมืออาชีพสามารถพลิกโฉมวิธีการผลิตและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ได้ทุกที่ทุกเวลา ขณะที่ยังมีความยืดหยุ่นในการตอบสนองความต้องการของตลาด บริษัทมีพนักงานกว่า 400 คนที่ทำงานร่วมกันเพื่อเร่งเปลี่ยนแปลงโลกไปสู่การผลิตดิจิทัล
อินโฟกราฟิก - https://mma.prnewswire.com/media/1476460/3D_Printing_Infographic.jpg