ผลการจัดอันดับล่าสุดจาก Henley Passport Index ซึ่งเป็นต้นแบบการจัดอันดับหนังสือเดินทางทั่วโลกตามจำนวนจุดหมายปลายทางที่ผู้ถือหนังสือเดินทางนั้นเดินทางไปได้โดยไม่ต้องมีวีซ่ามาก่อน แสดงให้เห็นว่า แม้ขณะนี้มีสัญญาณในทางที่ดีอยู่บ้าง แต่ก็ต้องยอมรับความจริงว่า การเดินทางข้ามพรมแดนยังคงมีอุปสรรคอยู่อีกมาก โดยแม้จะมีความคืบหน้าบ้างแล้ว แต่ระหว่างเดือนมกราคมถึงมีนาคม 2021 ที่ผ่านมานั้น การเดินทางทั่วโลกได้ฟื้นตัวขึ้นแต่ก็เพียง 12% เมื่อเทียบกับระดับก่อนการแพร่ระบาด และความแตกต่างระหว่างการเข้าถึงในการเดินทางในทางทฤษฎีกับความจริงนั้นยังคงมีอยู่มาก
ญี่ปุ่น ซึ่งใกล้จะเปิดฉากมหกรรมกีฬาโตเกียวโอลิมปิก 2020 ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าหลังจากที่ได้เลื่อนไป และแม้จะยังคงอยู่ในภาวะ "กึ่ง" ฉุกเฉินนั้น ก็ยังคงรั้งอันดับหนึ่งในการจัดอันดับ Henley Passport Index ซึ่งจัดทำขึ้นโดยอิงข้อมูลจากสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association หรือ IATA) ตามหลักการแล้ว ผู้ถือหนังสือเดินทางญี่ปุ่นเดินทางเข้าประเทศและดินแดน 193 แห่งได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า (visa-free) หรือขอรับการตรวจลงตราที่ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง (visa-on-arrival)
แม้หนังสือเดินทางของชาติยุโรปเข้ามาครองพื้นที่ 10 อันดับแรกเป็นส่วนใหญ่มาตลอด 16 ปีของการจัดอันดับ แต่การเข้ามามีอิทธิพลของ 3 ชาติเอเชีย ได้แก่ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ ก็ได้กลายเป็นเรื่องปกติใหม่ไปแล้วในสมัยนี้ โดยสิงคโปร์ยังคงอยู่ในอันดับสอง จากการที่ผู้ถือหนังสือเดินทางสิงคโปร์สามารถเข้าประเทศและดินแดนต่าง ๆ ได้ 192 แห่ง ขณะที่เกาหลีใต้และเยอรมนีครองอันดับสามร่วม จากการที่ผู้ถือหนังสือเดินทางสามารถเข้าประเทศและดินแดนต่าง ๆ ได้ 191 แห่ง
อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับสิทธิในการเดินทางที่ทำได้ในขณะนี้สำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางที่ทรงอิทธิพลเป็นอันดับต้น ๆ แล้ว ผลที่ได้นั้นแตกต่างอย่างมาก โดยผู้ถือหนังสือเดินทางญี่ปุ่นเดินทางได้ไม่ถึง 80 แห่ง (เทียบเท่ากับหนังสือเดินทางซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีอันดับไล่ลงไปอยู่ที่อันดับ 71 ในการจัดอันดับเดียวกัน) ขณะที่ผู้ถือหนังสือเดินทางสิงคโปร์เดินทางได้ไม่ถึง 75 แห่ง (เทียบเท่ากับคาซัคสถาน ซึ่งอยู่ในอันดับ 74)
หนังสือเดินทางสหราชอาณาจักรและสหรัฐมีอิทธิพลลดฮวบ
แม้แต่ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ก็มีแนวโน้มไม่สดใสพอกัน สหราชอาณาจักรและสหรัฐอยู่ที่อันดับ 7 ร่วมในการจัดอันดับดังกล่าว ซึ่งมีอันดับลดลงอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ที่ทั้งสองประเทศเคยครองอันดับหนึ่งร่วมกันเมื่อปี 2014 โดยผู้ถือหนังสือเดินทางของทั้งสองประเทศสามารถเข้าประเทศและดินแดนต่าง ๆ ได้ 187 แห่งตามหลักการ
อย่างไรก็ดี เมื่อประเมินจากคำสั่งห้ามเดินทางในปัจจุบันแล้ว ผู้ถือหนังสือเดินทางสหราชอาณาจักรมีอิสรภาพในการเดินทางลดฮวบกว่า 70% โดยปัจจุบันเดินทางได้ไม่ถึง 60 แห่งทั่วโลก เทียบเท่ากับหนังสือเดินทางของอุซเบกิสถานในการจัดอันดับเดียวกัน ขณะที่ผู้ถือหนังสือเดินทางสหรัฐมีอิสรภาพในการเดินทางลดลง 67% โดยเดินทางได้เพียง 61 แห่งเท่านั้น เทียบกับเท่าหนังสือเดินทางของรวันดา
Dr. Christian H. Kaelin ประธานของ Henley & Partners เปิดเผยว่า ความแตกต่างของอิสรภาพในการเดินทางทุกวันนี้มีมากที่สุดนับตั้งแต่ที่ได้เริ่มจัดอันดับนี้ขึ้นเมื่อปี 2006 เมื่อผู้ถือหนังสือเดินทางญี่ปุ่นเดินทางไปยังจุดหมายต่าง ๆ ได้มากกว่าหนังสือเดินทางท้ายตารางอย่างอัฟกานิสถานถึง 167 แห่ง เมื่อเทียบกับของอัฟกานิสถานที่เดินทางได้เพียง 26 แห่ง โดยกล่าวว่า "การอยู่โดดเดี่ยวตัดขาดจากโลกาภิวัตน์จะก่อให้เกิดผลลัพธ์ตามมาอย่างมากแน่นอน ทั้งความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลก ความสามารถในการเดินทางทั่วโลกที่ลดลง และการจำกัดอิสระของผู้คน"
Willie Walsh ผู้อำนวยการ IATA เตือนว่า การเดินทางทั่วโลกไม่ควรจำกัดอยู่กับคนที่มีโอกาสฉีดวัคซีนเท่านั้น "อิสระในการเดินทางเป็นเรื่องสำคัญ เราจำเป็นต้องมีระบบที่ปลอดภัยในการผนวกรวมการตรวจใบรับรองการฉีดวัคซีนหรือใบรับรองการตรวจโรคลงในขั้นตอนการเดินทาง IATA Travel Pass จะเปิดโอกาสให้ผู้เดินทางแบ่งปันข้อมูลสุขภาพของตนได้อย่างปลอดภัยกับรัฐบาลและสายการบินต่าง ๆ"
การวิจัยพิเศษที่ Henley & Partners เป็นผู้รับผิดชอบและเผยแพร่ในรายงาน Q3 Global Mobility Report ฉบับล่าสุดนั้นบ่งชี้ว่า นับตั้งแต่ที่มีการประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นการระบาดใหญ่ทั่วโลก การท่องเที่ยวในสหภาพยุโรปก็ลดลงเกือบ 90% สหราชอาณาจักรมีจำนวนนักท่องเที่ยวลดลง 73% และสหรัฐมีจำนวนนักเดินทางระหว่างประเทศลดลง 69% ขณะที่ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ซึ่งปิดประตูไม่ให้ใครเข้าตั้งแต่เริ่มการแพร่ระบาดนั้น ก็มียอดผู้เดินทางเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาเพียง 1% ของยอดเมื่อเดือนมีนาคม 2019
Robert Maciejewski ซีอีโอของ SIP Medical Family Office ในสวิตเซอร์แลนด์ กล่าวว่า "แม้ข้อผูกมัดทางกฎหมายในการทำโควิดพาสปอร์ตไม่น่าจะเกิดขึ้นในประเทศประชาธิปไตยส่วนใหญ่ แต่หากไม่มีสิ่งนี้แล้ว ก็เท่ากับว่าจะก่อให้เกิดการจำกัดอิสรภาพของคุณโดยพฤตินัย ไม่ว่าจะในเรื่องการเดินทางหรือกิจวัตรประจำวัน"
อย่างไรก็ดี Prof. Mehari Taddele Maru จากศูนย์ Migration Policy Centre เตือนว่า "การใช้การบริจาควัคซีนเป็นอาวุธเพื่อประโยชน์ของชาติอันน้อยนิด มีแต่จะทำให้การฉีดวัคซีนล่าช้า และจะสร้างความเสียหายเพิ่มเติมต่อเศรษฐกิจและสังคม นอกเหนือไปจากที่มีผู้เสียชีวิตไปแล้วหลายล้านคน ทั้งยังมีความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลกราว 9.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ"
Dr. Juerg Steffen ซีอีโอของ Henley & Partners กล่าวว่า "การทำให้แน่ใจว่าจะมีตัวเลือกการพำนักอาศัยมากกว่าหนึ่งที่ และ/หรือการถือสองสัญชาติ ได้กลายเป็นเรื่องจำเป็นมากขึ้นสำหรับผู้ประกอบการและนักลงทุนรวมถึงครอบครัวของพวกเขา เพื่อใช้เป็นวิธีรับมือความผันผวนและลดความเสี่ยงในระดับประเทศ ภูมิภาค และระดับโลก"
อ่านรายงาน Global Mobility Report 2021 Q3 ฉบับเต็มได้ที่ https://www.henleyglobal.com/publications/global-mobility-report/2021-q3
Infographic - https://mma.prnewswire.com/media/1556604/Henley_Partners_Infographic.jpg