CGIAR ได้รับเงินสนับสนุนการวิจัยรวมเกือบ 1 พันล้านดอลลาร์ในปีนี้ มุ่งช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยรับมือปัญหาสภาพภูมิอากาศ

ข่าวทั่วไป Thursday November 4, 2021 09:55 —ข่าวประชาสัมพันธ์พีอาร์นิวส์ไวร์

การลงทุนเพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรปรับตัวมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนสำหรับภูมิภาคที่ต้องพึ่งพาเกษตรกรรม เช่น แอฟริกา ซึ่งก่อปัญหาสภาพภูมิอากาศน้อยที่สุดแต่กลับได้รับผลกระทบหนักที่สุด

เนื่องจากมีหลักฐานมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่บ่งชี้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลกระทบหนักที่สุดต่อภูมิภาคที่ต้องพึ่งพาเกษตรกรรม เช่น แอฟริกาใต้สะฮารา ดังนั้นในการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ COP26 บรรดาผู้สนับสนุนจึงให้คำมั่นมอบเงินสนับสนุน 575 ล้านดอลลาร์ เพื่อส่งมอบโซลูชันที่เท่าทันต่อภูมิอากาศ (Climate Smart) ให้แก่เกษตรกรในประเทศที่มีรายได้ต่ำ ผ่านทางเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัยเกษตรระดับโลก CGIAR ซึ่งเมื่อรวมกับเงินสนับสนุน 256 ล้านดอลลาร์จากงาน Global Citizen Live เมื่อไม่นานมานี้ รวมทั้งเงินสนับสนุนจากสวีเดนและเบลเยียม ส่งผลให้ในปีนี้ CGIAR ได้รับเงินสนับสนุนรวม 863 ล้านดอลลาร์สำหรับนำไปใช้รับมือกับปัญหาสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็วจนอาจส่งผลส่งกระทบอย่างมากต่อการต่อสู้กับปัญหาความหิวโหยและความยากจนทั่วโลก

นอกจากนี้ CGIAR มีโอกาสได้รับเงินสนับสนุนเพิ่มเติมอีกก้อนใหญ่ในการประชุม COP26 ที่ยังคงดำเนินต่อไป

"เม็ดเงินลงทุนดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนความพยายามของ CGIAR ในการเดินหน้าช่วยเหลือเกษตรกรหลายล้านคนให้สามารถปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่านการจัดหานวัตกรรมต่าง ๆ เช่น พันธุ์พืชที่ทนทาน และกลยุทธ์ใหม่ในการฟื้นฟูผืนดินที่เสื่อมโทรม" คุนดาห์วี คาดีเรซาน กรรมการผู้จัดการฝ่ายนวัตกรรมและการมีส่วนร่วมสากลของ CGIAR กล่าว "เรามีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับผลกระทบมากมายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อการผลิตอาหารในภูมิภาคที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว เช่น แอฟริกาใต้สะฮาราและเอเชียใต้ นอกจากนี้ เรายังมีความมุ่งมั่นในการเสริมสร้างความสามารถในการฟื้นตัวด้วยโซลูชันแบบบูรณาการที่มีความยั่งยืน ซึ่งจะช่วยปรับสมดุลความสัมพันธ์ระหว่างเกษตรกรรมกับธรรมชาติ"

CGIAR เป็นเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัยของภาครัฐที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งให้ความช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยกว่า 500 ล้านคนที่ผลิตอาหารป้อนประชากรหลายพันล้านชีวิตในแอฟริกา เอเชีย และลาตินอเมริกา ทั้งนี้ ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อพืชผล สัตว์น้ำ และปศุสัตว์ คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความหิวโหยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและบั่นทอนความก้าวหน้านานหลายปี

ภัยคุกคามด้านสภาพภูมิอากาศมีความรุนแรงมากเป็นพิเศษในภูมิภาคแอฟริกาใต้สะฮารา ซึ่งประชากรส่วนใหญ่ทำงานในภาคเกษตรกรรม และผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อการผลิตอาหารก็อาจกระทบต่อ 15% ของ GDP ของประเทศในแอฟริกาภายในปี 2573 นอกจากนั้นยังมีความกังวลว่าการขาดความพยายามเชิงรุกในการช่วยเหลือเกษตรกรให้ปรับตัว จนปัญหาสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อเกษตรกรรมในภูมิภาคที่มีปัญหาความยากจนและการขาดสารอาหารสูงอยู่แล้ว จะทำให้ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ว่าด้วยการขจัดความหิวโหยและการขจัดความยากจนสุดขีดภายในปี 2573

ในการประกาศให้เงินทุนสนับสนุนครั้งนี้ มูลนิธิบิล แอนด์ เมลินดา เกตส์ (Bill & Melinda Gates Foundation) ให้คำมั่นว่าจะบริจาคเงิน 315 ล้านดอลลาร์ในช่วงสามปีข้างหน้า เพื่อสนับสนุนงานที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศของ CGIAR โดยครึ่งหนึ่งของเงินก้อนดังกล่าวจะนำไปสนับสนุนโครงการปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของ CGIAR เพื่อยกระดับการสร้างความร่วมมือ องค์ความรู้ และสินทรัพย์ของ CGIAR ในการเร่งถ่ายทอดนวัตกรรมให้แก่เกษตรกรรายย่อย

นอกจากนี้ องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) ได้ให้คำมั่นว่าจะมอบเงินสนับสนุน 215 ล้านดอลลาร์ในช่วงห้าปีข้างหน้า และแคนาดาให้คำมั่นมอบเงินสนับสนุน 45 ล้านดอลลาร์

ขณะเดียวกัน ผู้สนับสนุนเงินทุนรายอื่น ๆ ได้ให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนยุทธศาสตร์การวิจัยและการพัฒนานวัตกรรมของ CGIAR ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป โดยสวีเดนให้คำมั่นมอบเงินสนับสนุน 18 ล้านดอลลาร์ ส่วนเบลเยียมต้องการสานต่อความร่วมมืออันแข็งแกร่งกับ CGIAR โดยตั้งเป้ามอบเงินสนับสนุนเพิ่มเติมอีก 14 ล้านดอลลาร์ ซึ่งกำลังรอการอนุมัติจากรัฐสภาในปีงบประมาณ 2565

ก่อนที่จะได้รับเงินสนับสนุนก้อนล่าสุดในครั้งนี้ คณะกรรมาธิการยุโรป เนเธอร์แลนด์ และเบลเยียม ได้ให้คำมั่นมอบเงินสนับสนุน 256 ล้านดอลลาร์แก่ CGIAR ในงาน Global Citizen Live เมื่อเดือนกันยายน ประกอบด้วยเงินสนับสนุนจากคณะกรรมาธิการยุโรป 162.4 ล้านดอลลาร์ เนเธอร์แลนด์ 87 ล้านดอลลาร์ และเบลเยียม 7 ล้านดอลลาร์

"ผลกระทบของสภาพภูมิอากาศที่มีต่อการผลิตอาหารเป็นภัยคุกคามหลายร้อยล้านชีวิตที่ต้องพึ่งพาเกษตรกรรมในการหาเลี้ยงชีพ" บิล เกตส์ ประธานร่วมของมูลนิธิบิล แอนด์ เมลินดา เกตส์ กล่าว "CGIAR นำเสนอทางออกที่มีประสิทธิภาพสูงให้แก่เกษตรกรรายย่อยมานานครึ่งศตวรรษ และผมมั่นใจว่า CGIAR จะเป็นผู้นำของโลกในการพัฒนานวัตกรรมที่จำเป็นต่อการปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ"

"ในฐานะผู้บริจาคที่ร่วมก่อตั้ง CGIAR ทางองค์การ USAID ภูมิใจที่ได้สานต่อความร่วมมืออันยาวนานด้วยการให้คำมั่นมอบเงินสนับสนุนอย่างน้อย 215 ล้านดอลลาร์ในช่วงห้าปีข้างหน้า เพื่อสนับสนุนการวิจัยและการพัฒนานวัตกรรมเกษตรที่มีความสำคัญ" ดร. จิม บาร์นฮาร์ต ผู้ช่วยผู้บริหารสำนักงานความมั่นคงทางอาหารและการฟื้นตัวของ USAID กล่าว "การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคุกคามชีวิตและความเป็นอยู่ของครอบครัวและชุมชนมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศพัฒนาน้อยที่สุด เงินทุนสนับสนุนก้อนนี้จะช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรสำหรับประชากร 200 ล้านคนในเอเชียใต้และแอฟริกาใต้สะฮาราได้ราว 25% ภายในปี 2573 ทั้งนี้ CGIAR เป็นพันธมิตรที่สำคัญของเราในการสร้างอนาคตที่มีความมั่นคงทางอาหารและสามารถรับมือกับสภาพภูมิอากาศ"

"CGIAR ส่งมอบผลการวิจัยและนวัตกรรมที่สำคัญเพื่อรับมือกับความหิวโหยมาตลอด 50 ปี" ฮาร์จิต เอส สัจจาน รัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาระหว่างประเทศ และรัฐมนตรีประจำสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจแปซิฟิกของแคนาดา กล่าว "แคนาดาเป็นพันธมิตรของ CGIAR มาตั้งแต่แรกเริ่ม เพราะเราเชื่อว่านวัตกรรมและการวิจัยทางวิทยาศาสตร์มีความจำเป็นต่อการทำให้ระบบอาหาร ดิน และน้ำมีความยั่งยืน เสมอภาค และมีประสิทธิภาพมากขึ้น วันนี้ เรายินดีที่ได้เดินหน้าสนับสนุนการทำงานของ CGIAR ด้วยการให้คำมั่นมอบเงินสนับสนุน 55 ล้านดอลลาร์แคนาดาในช่วงสามปีข้างหน้า เพื่อช่วยขจัดความหิวโหย รวมถึงสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืนและสามารถรับมือกับสภาพภูมิอากาศ พร้อมกับชูความเสมอภาคทางเพศเป็นหัวใจสำคัญของการวิจัยและพัฒนาการเกษตรทั่วโลก"

การลงทุนครั้งใหม่ตั้งอยู่บนรากฐานการทำงานด้านสภาพภูมิอากาศที่แข็งแกร่งอยู่แล้วของ CGIAR ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ โครงการความร่วมมือของ CGIAR ได้มอบข้าวโพดที่เท่าทันต่อภูมิอากาศกว่า 200 สายพันธุ์ให้แก่เกษตรกรราว 8 ล้านครอบครัว และมอบข้าวทนต่อความเค็มและน้ำท่วมสายพันธุ์ใหม่ ๆ ให้แก่เกษตรกรราว 18 ล้านคน ขณะเดียวกัน CGIAR ยังนำแนวทางปฏิบัติด้านการผลิตอาหารที่เท่าทันต่อภูมิอากาศมาใช้ทั่วเครือข่ายหมู่บ้านที่เท่าทันต่อภูมิอากาศในแอฟริกา เอเชีย และลาตินอเมริกา ซึ่งเป็นบ้านของเกษตรกรหลายล้านครอบครัว นอกจากนี้ การผลิตอาหารโภชนาการสูงและมลพิษต่ำของ CGIAR เช่น การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ยังบุกเบิกแนวทางใหม่ที่ยั่งยืนในการปรับปรุงแหล่งอาหารและเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวบ้านในชนบท  

พันธกิจของ COP26 ในการช่วยให้เกษตรกรรายย่อยได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมกำลังได้รับการผลักดันมากขึ้นหลังการประกาศจัดตั้งกลุ่มความร่วมมือ Agriculture Innovation Mission for Climate หรือ AIM4C โดยสหรัฐอเมริกาและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 30 ประเทศ และมีเป้าหมายในการดึงดูดเงินทุนสนับสนุนการวิจัยเกษตรพื้นฐาน การสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ และระบบวิจัยเกษตรระดับชาติในประเทศที่มีรายได้ต่ำ โดยจุดสนใจสำคัญของ AIM4C คือการเพิ่มเม็ดเงินลงทุนใน "Innovation Sprint" หรือโครงการต่าง ๆ ที่มุ่งเปลี่ยนการลงทุนเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยอย่างเร่งด่วน

โครงการมูลค่า 40 ล้านดอลลาร์ภายใต้การนำของ CGIAR ร่วมด้วยมูลนิธิเพื่อการวิจัยอาหารและการเกษตร (Foundation for Food & Agriculture Research: FFAR) และมูลนิธิบิล แอนด์ เมลินดา เกตส์ จะมอบพืชพันธุ์ที่มีอยู่มากมายทั่วโลกของ CGIAR เพื่อช่วยให้เกษตรกรมีพืชพันธุ์ที่เท่าทันต่อภูมิอากาศ

"หากประชาคมโลกมุ่งมั่นขจัดความหิวโหยและความยากจนจริง ๆ เราต้องลงมือทำเดี๋ยวนี้เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" คลอเดีย ซาดอฟฟ์ ผู้ดำรงตำแหน่ง Executive Management Team Convener และกรรมการผู้จัดการฝ่าย Research Delivery and Impact ของ CGIAR กล่าว "เรามีนวัตกรรมที่น่าตื่นตาตื่นใจมากมาย อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการประกาศสนับสนุนเงินทุนในวันนี้ แต่ก็ยังมีช่องว่างขนาดใหญ่ระหว่างความรุนแรงของภัยคุกคามจากสภาพภูมิอากาศที่มีต่อเกษตรกรรายย่อย กับการลงทุนที่จำเป็นเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถปรับตัว"

คุณซาดอฟฟ์กล่าวเสริมว่า การลงทุนเพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรปรับตัวเป็น "โอกาสครั้งประวัติศาสตร์ในการใช้แนวทางที่ดีต่อธรรมชาติสำหรับการผลิตอาหารในระบบนิเวศที่เปราะบางและมีคุณค่าที่สุดในโลก"

"การปรับตัวในภาคการเกษตรคือการใช้แนวทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น" เธอกล่าว "ซึ่งครอบคลุมถึงการจัดหาเทคโนโลยีที่ช่วยให้เกษตรกรปลูกพืชได้มากขึ้นโดยใช้น้ำน้อยลง ตลอดจนสามารถฟื้นฟูผืนดินที่เสื่อมโทรมด้วยกลยุทธ์แบบองค์รวมที่สนับสนุนทั้งการผลิตอาหารและการอนุรักษ์ระบบนิเวศ"

หมายเหตุสำหรับบรรณาธิการ

เกี่ยวกับ CGIAR

CGIAR คือกลุ่มความร่วมมือด้านการวิจัยระดับโลกเพื่อความมั่นคงทางอาหารในอนาคต โดยองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ของ CGIAR มุ่งเปลี่ยนแปลงระบบอาหาร ดิน และน้ำ ท่ามกลางวิกฤตสภาพภูมิอากาศ สำหรับการวิจัยจัดทำโดยศูนย์วิจัยและความร่วมมือของ CGIAR รวม 13 แห่ง โดยร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับพันธมิตรหลายร้อยราย ทั้งสถาบันวิจัยระดับชาติและระดับภูมิภาค องค์กรภาคประชาสังคม สถาบันวิชาการ องค์กรด้านการพัฒนา และภาคเอกชน ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.cgiar.org 

รูปภาพ - https://mma.prnewswire.com/media/1677024/COP26.jpg


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ