กลุ่มพันธมิตรผู้นำโลกเพื่อความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์และโลกที่ปราศจากอาวุธนิวเคลียร์ หรือ Global Alliance of Leaders for Nuclear Security and Nuclear-Weapons-Free World (GAL) ได้มารวมตัวกันในการประชุมครั้งที่ 6 ของ Astana Club ณ เมืองหลวงของประเทศคาซัคสถาน
นายนูร์สุลต่าน นาซาร์บาเยฟ ประธานาธิบดีคนแรกของคาซัคสถาน กล่าวต่อสมาชิกกลุ่ม GAL ว่า การเจรจาเรื่องเสถียรภาพทางยุทธศาสตร์นิวเคลียร์ในระดับระหว่างประเทศกำลังเผชิญกับทางตัน และมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีทางเลือกใหม่ในการเจรจาในประเด็นนี้
เพื่อปลดล็อกสถานการณ์ดังกล่าว นายนาซาร์บาเยฟได้เสนอให้จัดการประชุมระดับโลกว่าด้วยการไม่แพร่ขยายและลดอาวุธนิวเคลียร์ หรือ Global Forum on Nuclear Nonproliferation and Disarmament ณ เมืองหลวงของคาซัคสถาน
การประชุมดังกล่าวจะรวบรวมองค์กรนอกภาครัฐ (NGO) และหน่วยงานด้านการต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์จากทั่วโลก เพื่อมาร่วมกันกำหนดวาระระดับโลกในประเด็นนี้
นอกจากนี้ นายนาซาร์บาเยฟยังเรียกร้องให้ประชาคมโลกช่วยกันพัฒนาแผนการลดอาวุธทางยุทธศาสตร์อย่างครอบคลุม ด้วยการดำเนินการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน และหวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากทุกประเทศที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ ภายใต้การสนับสนุนขององค์การสหประชาชาติ
นายนาซาร์บาเยฟแสดงความเชื่อมั่นว่า กลุ่ม GAL สามารถทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางและกำลังสำคัญในการพัฒนาแผนการดังกล่าว
ขณะเดียวกัน นายบัน คี มูน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ ได้กล่าวสนับสนุนความคิดริเริ่มของนายนาซาร์บาเยฟ พร้อมกับระบุว่า หากเราไม่กำจัดภัยคุกคามจากนิวเคลียร์ เราก็ไม่มีวันรับประกันความปลอดภัยของประชาคมโลกได้
นอกจากนี้ สุนทรพจน์ของนายมิคาอิล กอร์บาชอฟ อดีตประธานาธิบดีสหภาพโซเวียต และเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ที่ได้กล่าวต่อนายนาซาร์บาเยฟและสมาชิกกลุ่ม GAL ได้กลายเป็นช่วงเวลาที่สำคัญยิ่งของการประชุมครั้งนี้
นายกอร์บาชอฟสนับสนุนความคิดริเริ่มของนายนาซาร์บาเยฟในการจัดตั้งกลุ่ม GAL โดยกล่าวว่า "ไม่มีเป้าหมายใดสำคัญไปกว่าการสร้างโลกที่ปราศจากอาวุธนิวเคลียร์"
เขากล่าวเสริมว่า การพบกันระหว่างนายโจ ไบเดน และนายวลาดิเมียร์ ปูติน เมื่อเดือนมิถุนายนปีนี้ที่นครเจนีวา ถือเป็นแนวโน้มที่ดีและมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเป็นการตอกย้ำแนวคิดที่ว่า "ไม่มีผู้ชนะในสงครามนิวเคลียร์" ซึ่งได้รับการกล่าวถึงครั้งแรกในปีพ.ศ. 2528 ในการประชุมระหว่างนายกอร์บาชอฟกับนายโรนัลด์ เรแกน อดีตประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา
สำหรับการประชุมของกลุ่ม GAL ในครั้งนี้ยังมีผู้นำการเคลื่อนไหวต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์เข้าร่วมด้วย เช่น นายโมฮาเหม็ด เอลบาราเด เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ, นางเบียทริซ ฟิน กรรมการบริหารกลุ่มรณรงค์ระหว่างประเทศเพื่อการยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์ หรือ ICAN, นางอังเกลา เคน อดีตผู้แทนระดับสูงของสหประชาชาติด้านการลดอาวุธนิวเคลียร์ และรองเลขาธิการสหประชาชาติ รวมถึงผู้นำอีกหลายท่าน
ในช่วงทศวรรษ 2530 คาซัคสถานได้ละทิ้งหัวรบนิวเคลียร์จำนวนกว่า 1,200 หัวรบ ซึ่งมากเป็นอันดับ 4 ของโลก ด้วยความสมัครใจ ด้วยเหตุนี้ ผู้เข้าร่วมการประชุมทุกคนจึงเห็นพ้องต้องกันว่าคาซัคสถานมีสิทธิอันชอบธรรมอย่างเต็มที่ในการรับผิดชอบโครงการต่อต้านนิวเคลียร์ในระดับโลก
การประชุมของกลุ่ม GAL ในปีนี้จัดขึ้นในหัวข้อ "One Minute to Midnight: Time for Action for the Nuclear Dialogue" โดยอ้างอิงถึงนาฬิกาวันสิ้นโลก (Doomsday Clock) ซึ่งเป็นนาฬิกาเชิงสัญลักษณ์ที่บ่งชี้ความเป็นไปได้ในการเกิดมหันตภัยทั่วโลก เนื่องจากเมื่อต้นปี 2564 นาฬิกาวันสิ้นโลกได้ขยับเหลือ 100 วินาทีก่อนถึงเที่ยงคืน ซึ่งถือว่าเข้าใกล้หายนะมากที่สุดในประวัติศาสตร์นับตั้งแต่มีการสร้างนาฬิกาขึ้นในปี 2490
ทั้งนี้ GAL เป็นเวทีระดับนานาชาติที่จัดตั้งขึ้นในปี 2562 ภายใต้ความคิดริเริ่มของนายนูร์สุลต่าน นาซาร์บาเยฟ ประธานาธิบดีคนแรกของคาซัคสถาน
พันธกิจของ GAL คือการผลักดันวาระการต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์ ผ่านความพยายามร่วมกับผู้นำจากองค์กร NGO ระหว่างประเทศชั้นนำ นักการเมืองที่มีชื่อเสียง และหน่วยงานด้านการต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์จากทั่วโลก
ในปี 2563 ข้อเรียกร้องของกลุ่ม GAL ให้ผู้นำทั่วโลกยกระดับความพยายามร่วมกันในด้านความมั่นคงปลอดภัย การไม่แพร่ขยาย และการลดอาวุธนิวเคลียร์ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเอกสารอย่างเป็นทางการขององค์การสหประชาชาติและสำนักงานพลังงานปรมาณูสากล (IAEA)
ปัจจุบัน GAL ได้รับการสนับสนุนจากบุคคลที่มีชื่อเสียงระดับโลกกว่า 70 คน ทั้งนักการเมือง ผู้เชี่ยวชาญ และเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ
รูปภาพ - https://mma.prnewswire.com/media/1697893/Astana_Club_GAL_Session.jpg
โลโก้ - https://mma.prnewswire.com/media/1697890/Nursultan_Nazarbayev_Foundation_Logo.jpg
โลโก้ - https://mma.prnewswire.com/media/1697889/Astana_Club_Logo.jpg
โลโก้ - https://mma.prnewswire.com/media/1697892/IWEP_Logo.jpg