มูลนิธิพัฒนามหาสมุทรจีน: จีนและประเทศอาเซียนร่วมมือกันรักษาความปลอดภัยของทะเลจีนใต้

ข่าวทั่วไป Thursday December 2, 2021 11:20 —ข่าวประชาสัมพันธ์พีอาร์นิวส์ไวร์

เมื่อมองดูโลกจากอวกาศ สิ่งที่เราจะได้เห็นคือดาวเคราะห์สีน้ำเงินที่ปกคลุมไปด้วยมหาสมุทร 71% และเมื่อซูมเข้าไป เราก็จะเห็นเรือล่องทั้งกลางวันและกลางคืน ปัจจุบัน 90% ของการค้าทั่วโลกต่างดำเนินการในมหาสมุทร อย่างไรก็ตาม มหาสมุทรไม่เพียงแต่ให้กำเนิดชีวิตเท่านั้น แต่ยังแฝงไปด้วยอันตราย บ่อยครั้งที่อุบัติเหตุทางทะเลมีความเกี่ยวข้องกับสถานการณ์วิกฤติ ภารกิจเร่งด่วน และสภาพอากาศที่ซับซ้อน ทำให้เป็นเรื่องยากที่ประเทศใดประเทศหนึ่งจะดำเนินการกู้ภัยอย่างมีประสิทธิภาพได้ด้วยตนเอง การเสริมสร้างความร่วมมือในการค้นหาและกู้ภัยทางทะเลระหว่างประเทศต่าง ๆ จึงเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับประเทศชายฝั่ง

จีนและประเทศในกลุ่มอาเซียนนั้นมีแนวชายฝั่งยาวของเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วมกัน ซึ่งการพัฒนาอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมการเดินเรือในน่านน้ำจีน-อาเซียน ก็ได้ทำให้การขนส่งทางทะเลวุ่นวายมากขึ้น ขณะที่เหตุฉุกเฉินด้านการจราจรทางทะเลและอุบัติเหตุก็เกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ ทั้งนี้ ทะเลจีนใต้เป็นหนึ่งในเส้นทางสัญจรทางทะเลที่พลุกพล่านที่สุดในโลกปัจจุบัน โดยมีเรือสัญจรไปมาประมาณ 100,000 ลำต่อปี ด้วยเหตุนี้จีนจึงต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการร่วมมือกับประเทศอื่น ๆ รักษาความปลอดภัยของการเดินเรือในทะเลจีนใต้

เพื่อเป็นการส่งเสริมความร่วมมือเชิงปฏิบัติการระหว่างจีนและประเทศอาเซียนในการค้นหาและกู้ภัยทางทะเล จีนจึงได้เสนอโครงการ "การฝึกซ้อมภาคสนามและการฝึกซ้อมแผนบนโต๊ะสำหรับการค้นหาและกู้ภัยทางทะเลร่วมกันของจีน-อาเซียน" ในการประชุมเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสครั้งที่ 6 ระหว่างจีนและประเทศอาเซียนเพื่อการดำเนินการตาม "ปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้" ในเดือนก.ย. 2556 ซึ่งการฝึกซ้อมแผนบนโต๊ะสำหรับการค้นหาและกู้ภัยทางทะเลร่วมของจีนและประเทศอาเซียนนั้น ได้จัดขึ้นในวันที่ 27 ก.ย. 2559 ในมณฑลกวางตุ้ง โดยหลังจากการฝึกซ้อมดังกล่าว จีนและประเทศอาเซียนได้เปิดตัวการฝึกซ้อมภาคสนามสำหรับการค้นหาและกู้ภัยทางทะเลร่วมกันของจีน-อาเซียนเป็นครั้งแรกในวันที่ 31 ต.ค. 2560 ในเมืองชานเจียง มณฑลกวางตุ้ง การจำลองปฏิบัติการดังกล่าวเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ที่เรือโดยสาร "Magic" ของจีน ชนเข้ากับเรือบรรทุกสินค้า "Jupiter" ของกัมพูชาทางตะวันออกของเกาะหนานซาน เมืองชานเจียง ประมาณ 10 ไมล์ทะเล ทำให้เรือ Magic เกิดการรั่วไหลอย่างหนักและเป็นอันตรายถึงชีวิตต่อผู้โดยสารบนเรือ ในสถานการณ์สมมติดังกล่าว มีคนตกลงไปในน้ำ 29 คน, รอการเคลื่อนย้าย 328 คน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 8 คน โดยที่ 2 คนได้รับบาดเจ็บสาหัสและจำเป็นต้องถูกส่งตัวขึ้นฝั่งทันทีด้วยเฮลิคอปเตอร์เพื่อเข้ารับการรักษา ผู้แทน 57 คนจาก 6 ประเทศอาเซียน ได้แก่ ไทย, ฟิลิปปินส์, กัมพูชา, เมียนมาร์, ลาว และบรูไน พร้อมเรือ 20 ลำ เฮลิคอปเตอร์ 2 ลำ และบุคลากรกว่า 1,000 คนจากกิจการทางทะเล, การกู้ภัย, ยามฝั่ง และภาคการจัดการทางประมงของจีนต่างเข้าร่วมในการฝึกซ้อมดังกล่าว 

นอกจากความร่วมมือในการฝึกซ้อมแผนบนโต๊ะและการฝึกซ้อมภาคสนามแล้ว จีนและกลุ่มประเทศอาเซียนยังได้ดำเนินความร่วมมือที่ครอบคลุมในการจัดโครงการฝึกอบรมต่าง ๆ โดยศูนย์ประสานงานการค้นหาและกู้ภัยทางทะเลของจีนได้จัดหลักสูตรฝึกอบรมผู้ประสานงานการค้นหาและกู้ภัยทางทะเลของจีน-อาเซียนในวันที่ 17 ก.ค. 2560 ในเซี่ยงไฮ้ โดยมีบุคลากร 23 คนจาก 8 ประเทศอาเซียนเข้าร่วมการฝึกอบรมดังกล่าว หลักสูตรระยะเวลาสองสัปดาห์นี้ดำเนินการสอนโดยผู้เชี่ยวชาญด้านการค้นหาและกู้ภัยทางทะเล และการรับมือเหตุฉุกเฉินตามคำแนะนำของ "คู่มือการค้นหาและกู้ภัยทางทะเล และการบินระหว่างประเทศ" ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่ในหลักสูตรประกอบด้วยความรู้และทักษะการค้นหาและการกู้ภัย การประยุกต์ใช้อุปกรณ์ระดับมืออาชีพ รวมถึงข้อตกลงและข้อบังคับระหว่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีการจัด "หลักสูตรฝึกอบรมขั้นสูงด้านการค้นหาและกู้ภัยทางทะเลของจีนและประเทศอาเซียน" ในเมืองต้าเหลียน ในวันที่ 14-27 ก.ย. 2562 ซึ่งศูนย์ประสานงานการค้นหาและกู้ภัยทางทะเลของจีนเป็นผู้จัดหลักสูตร และมหาวิทยาลัยการเดินเรือต้าเหลียนเป็นเจ้าภาพ ผู้รับการฝึกอบรม 29 คนจาก 9 ประเทศในกลุ่มอาเซียน ได้แก่ กัมพูชา, อินโดนีเซีย, ลาว, มาเลเซีย, เมียนมาร์, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, ไทย, เวียดนาม และศูนย์การค้นหาและกู้ภัยทางทะเลที่เกี่ยวข้องในจีนต่างเข้าร่วมการฝึกอบรมดังกล่าว

นอกจากนี้ จีนและประเทศกลุ่มอาเซียนยังจัดตั้งสายด่วนช่วยเหลือฉุกเฉินจีน-กัมพูชาและจีน-ลาวในปี 2560 และ 2561 ตามลำดับ ซึ่งช่วยให้หน่วยงานการค้นหาและกู้ภัยทางทะเลของจีนรับรู้การสื่อสารตลอด 24 ชั่วโมงผ่านเสียง วิดีโอ และการส่งข้อความโต้ตอบแบบทันทีกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกัมพูชาและลาว  เพื่อรับประกันการสื่อสารสำหรับการค้นหาและกู้ภัยทางทะเล ตลอดจนการรับมือเหตุฉุกเฉิน

นับตั้งแต่ที่โคลัมบัสค้นพบโลกใหม่ ความลึกลับของมหาสมุทรก็ค่อย ๆ เปิดเผยออกมา ปัจจุบันโลกได้เข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์แล้ว และด้วยกระแสโลกาภิวัตน์ที่หยั่งรากลึกยิ่งขึ้น การขนส่งทางทะเล การค้นหาและกู้ภัยทางทะเล และความร่วมมือทางทะเลจึงเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ดังนั้น จีนและประเทศอาเซียนจึงจะเดินหน้าทำงานร่วมกันเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้นหาและกู้ภัยทางทะเลและการแลกเปลี่ยนในระดับที่สูงขึ้นและลึกซึ้งกว่าเดิม ภายใต้กรอบของกลไกความร่วมมือระดับทวิภาคี พหุภาคี และระดับภูมิภาคในปัจจุบัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ