ผลสำรวจเผยบริษัททั่วโลกเสี่ยงถูกลูกค้าต่อต้านหากเพิกเฉยปัญหาโลกร้อน

ข่าวทั่วไป Wednesday December 8, 2021 08:10 —ข่าวประชาสัมพันธ์พีอาร์นิวส์ไวร์

- การวิจัยระดับโลกครั้งใหม่ได้ทำการสำรวจทัศนคติและพฤติกรรมด้านความยั่งยืนของผู้บริโภคทั่วโลก และอิทธิพลที่มีต่อการกำหนดกลยุทธ์ด้านสภาพภูมิอากาศและการเติบโตของภาคธุรกิจ

- ภายในหนึ่งปี ผู้บริโภค 3 ใน 5 จะเริ่มคว่ำบาตรแบรนด์ที่ไม่ลงมือแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

- ผู้บริโภคเกือบครึ่งเตรียมเปลี่ยนแบรนด์สินค้าและบริการไปใช้แบรนด์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า

- ผู้บริโภค 3 ใน 10 ยินดีจ่ายแพงกว่าเพื่อใช้แบรนด์สินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า

- เดนท์สุ อินเตอร์เนชั่นแนล และ ไมโครซอฟท์ แอดเวอร์ไทซิ่ง เผยแพร่รายงานการวิจัย The Rise of Sustainable Media เพื่อเรียกร้องให้มีการยกระดับความโปร่งใสและความร่วมมือในทุกอุตสาหกรรม

ผลการวิจัยระดับโลกครั้งใหม่* ที่เผยแพร่ในวันนี้ (7 ธ.ค.) ระบุว่า ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ผู้บริโภค 59% ทั่วโลกจะเริ่มคว่ำบาตรแบรนด์ที่ไม่ลงมือแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคยังสนับสนุนให้แบรนด์ต่าง ๆ ทำสิ่งที่ถูกต้องสำหรับโลกและปฏิบัติตนเป็น "ตัวอย่างที่ดี" นอกจากนี้ ผู้บริโภค 91% ต้องการให้แบรนด์ต่าง ๆ แสดงให้เห็นว่าเลือกสิ่งที่ถูกต้องสำหรับโลกและสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจนในทุกสิ่งที่ทำ

ผลการค้นพบดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาระดับโลกครั้งใหม่โดยเดนท์สุ อินเตอร์เนชั่นแนล (dentsu international) และ ไมโครซอฟท์ แอดเวอร์ไทซิ่ง (Microsoft Advertising) เพื่อสำรวจความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคและการใช้สื่ออย่างยั่งยืน โดยมีผู้บริโภคกว่า 24,000 คน จาก 19 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมการวิจัย และผลการค้นพบสำคัญ ๆ ได้รับการนำเสนอในรายงานสรุปฉบับใหม่ชื่อ "The Rise of Sustainable Media"

ความปรารถนาและความเต็มใจที่จะน้อมรับวิถีชีวิตที่ยั่งยืนมากขึ้นได้กลายเป็นกระแสหลัก โดย 87% ของผู้ตอบแบบสำรวจระบุว่าต้องการลงมือทำอะไรมากกว่านี้เพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความจริงแล้ว การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นสิ่งที่ผู้บริโภครู้สึกกังวลมากที่สุด มากยิ่งกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 (85%) สุขภาพของคนในครอบครัวและเพื่อน (79%) หรือค่าครองชีพ (76%)** 

เมื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นสิ่งที่ผู้บริโภครู้สึกกังวลมากที่สุด ผู้บริโภคเกือบครึ่งหนึ่ง (45%) จึงพร้อมพิจารณาแบรนด์ บริษัท หรือบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าที่ใช้อยู่ในตอนนี้ ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ตอบแบบสำรวจ 30% ยังยินดีจ่ายแพงกว่าเพื่อแบรนด์ที่นำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า

อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคจำนวนมากไม่รู้ว่าควรเริ่มจากตรงไหน และรู้สึกถูกถาโถมด้วยตัวเลือกและข้อมูลที่ย้อนแย้งกัน โดยผู้บริโภค 84% รู้สึกว่าเป็นเรื่องยากที่จะทราบว่าแบรนด์และบริษัทต่าง ๆ ใส่ใจสิ่งแวดล้อมจริงหรือไม่ ดังนั้น เพื่อรับมือกับปัญหาการบิดเบือนข้อมูลที่อาจเกิดขึ้น ผู้บริโภค 42% คิดว่าบริษัทต่าง ๆ ควรให้ข้อมูลที่ชัดเจนและเปรียบเทียบได้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และโฆษณาของตน เพื่อให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

Peter Huijboom ซีอีโอสากลฝ่ายสื่อและลูกค้าทั่วโลก บริษัท เดนท์สุ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า "การกระทำของลูกค้าและการคว่ำบาตรที่อาจเกิดขึ้นซึ่งเราค้นพบในการวิจัยครั้งนี้ เป็นผลมาจากสิ่งที่ผู้บริโภครับรู้เกี่ยวกับบริษัทและพฤติกรรมของบริษัท ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นความจริง เราทราบดีว่าหลายองค์กรได้ลงมือแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว และในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด เรามีหน้าที่แนะแนวทางให้แก่ภาคธุรกิจ รวมถึงช่วยให้ความรู้และข้อมูลแก่ผู้บริโภค เพื่อผลักดันให้พวกเขาคิด รู้สึก และทำในสิ่งที่แตกต่าง"

"ด้วยเหตุนี้ อุตสาหกรรมการตลาดและโฆษณาจึงมีบทบาทสำคัญ และเราต้องทำงานร่วมกันเพื่อดำเนินการด้วยความซื่อตรง ด้วยการส่งสารเหล่านี้ผ่านสื่อที่ยั่งยืน"

จนถึงทุกวันนี้ การนำเสนอสื่อและการบริโภคโฆษณายังไม่สามารถสร้างความตระหนักรู้เรื่องการปล่อยคาร์บอนได้อย่างเต็มที่ในสายตาของสาธาณชน

  • มีผู้บริโภคเพียง 1 ใน 7 (15%) ที่ตระหนักว่าการท่องเว็บส่งผลกระทบเชิงลบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • มีผู้บริโภคเพียง 17% ที่ตระหนักว่าการดูทีวีก็ปล่อยคาร์บอน, 14% ตระหนักว่าการเล่นเกมก็ปล่อยคาร์บอน และ 11% ตระหนักว่าการสตรีมเพลงก็ปล่อยคาร์บอน

ผลสำรวจเผยให้เห็นว่า 1 ใน 7 (14%) ของผู้บริโภคที่มองว่าการนำเสนอและบริโภคโฆษณาส่งผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม ได้ตัดสินใจแล้วว่าจะมีส่วนร่วมกับแบรนด์ต่าง ๆ อย่างไร และผู้บริโภคกว่า 3 ใน 4 (77%) ของทั่วโลกระบุว่า ภายใน 5 ปีข้างหน้า พวกเขาต้องการจ่ายเงินให้กับแบรนด์ที่โฆษณาอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น

ความจริงแล้ว ผู้บริโภคคิดว่ารัฐบาล (51%) ภาคธุรกิจ/แบรนด์ (43%) และอุตสาหกรรมโฆษณา (41%) ควรแบกรับความรับผิดชอบมากกว่าผู้บริโภค (36%) ในการลดคาร์บอนจากการโฆษณา อย่างไรก็ดี การบรรลุเป้าหมายดังกล่าวไม่สามารถทำได้โดยลำพัง และทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน

ผลการศึกษาบ่งชี้ว่ารัฐบาล ภาคธุรกิจ และนักการตลาด กำลังจะหมดเวลาในการหารือประเด็นนี้ เนื่องจากผู้บริโภครุ่นใหม่และช่องว่างระหว่างวัยได้ทำให้การรับรู้เปลี่ยนแปลงไป โดยคนกลุ่ม Baby Boomer มีเพียง 45% ที่เชื่อว่าการบริโภคโฆษณาส่งผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม ขณะที่ความเชื่อดังกล่าวมีสัดส่วนสูงถึง 71% ในกลุ่ม Gen Z และ 73% ในกลุ่ม Millennial ซึ่งการที่คนรุ่นใหม่ใส่ใจและกังวลเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ประกอบกับการที่สาธารณชนสนใจปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้น และเข้าร่วมกิจกรรมระดับโลกอย่างเช่นการประชุมสุดยอดว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ (COP26) แสดงให้เห็นว่าการตระหนักรู้เรื่องนี้จะเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว

John Cosley กรรมการอาวุโสฝ่ายแบรนด์ บริษัท ไมโครซอฟท์ แอดเวอร์ไทซิ่ง กล่าวเสริมว่า "ในฐานะนักการตลาด เรามองเห็นว่าค่านิยมสามารถสร้างมูลค่าทางธุรกิจได้ แต่ในการวิจัยครั้งนี้ เราต้องการแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนมากขึ้นในเชิงปริมาณว่าสิ่งนี้สำคัญอย่างไร การวิจัยร่วมกันในครั้งนี้ช่วยให้เราเข้าใจและสามารถให้ข้อมูลแก่ภาคธุรกิจทั่วโลกเกี่ยวกับความตระหนักรู้และทัศนคติที่มีต่อคาร์บอนในห่วงโซ่อุปทานสื่อ รวมถึงผลพวงที่มีต่อโลก พฤติกรรมของผู้บริโภค และความตั้งใจในการซื้อ โดยทัศนคติที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและแรงกดดันให้จัดการกับปัญหาสภาพภูมิอากาศอย่างเร่งด่วน ถือเป็นโอกาสให้นักการตลาดทุกคนได้มีส่วนช่วยเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมในวงกว้าง"

อุตสาหกรรมสื่อและโฆษณาทั่วโลกมีความก้าวหน้าในการลดคาร์บอนจากสื่อดั้งเดิม และกำลังเดินหน้าสำรวจการลดคาร์บอนจากสื่อดิจิทัล ทั้งในส่วนของการผลิต จัดเก็บ เผยแพร่ และบริโภค ยกตัวอย่างเช่น การจ่ายให้กับสื่อดิจิทัลที่ปล่อยคาร์บอนต่ำหรือเป็นศูนย์, การย่นระยะทางจากดาต้าเซ็นเตอร์ไปถึงผู้ชม, การผลิตโปสเตอร์สื่อนอกบ้านโดยใช้กระดาษรีไซเคิล, การใช้สี "ดูดคาร์บอน" วาดภาพฝาผนัง และการลงโฆษณาบนแพลตฟอร์มที่มีการชดเชยคาร์บอน

อย่างไรก็ดี กุญแจสำคัญในการสร้างความก้าวหน้าอย่างแท้จริงอยู่ที่การรวมระบบนิเวศสื่อทั้งหมดเข้าด้วยกัน เพื่อให้สามารถทำการวัดผลได้อย่างแม่นยำและโปร่งใส และสามารถรายงานผลกระทบด้านคาร์บอนที่เกิดจากสื่อตลอดวงจรชีวิตของโฆษณา เพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจมีตัวเลือกการโฆษณาที่ดีต่อการแก้ปัญหาคาร์บอนอย่างแท้จริงตลอดห่วงโซ่อุปทาน

รายงาน The Rise of Sustainable Media เป็นการศึกษาระดับโลกเกี่ยวกับทัศนคติของผู้บริโภคและพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคและการโฆษณาอย่างยั่งยืน รวมถึงผลพวงที่มีต่อการกำหนดกลยุทธ์การเติบโตของภาคธุรกิจ หากต้องการดูข้อมูล ผลลัพธ์ และผลการวิเคราะห์เพิ่มเติมจากการศึกษาครั้งนี้ สามารถดาวน์โหลดรายงานได้ฟรีที่ sustainablemedia.dentsu.com

หมายเหตุสำหรับบรรณาธิการ
* เดนท์สุ อินเตอร์เนชั่นแนล และ ไมโครซอฟท์ แอดเวอร์ไทซิ่ง ได้ทำการวิจัยอิสระร่วมกับโอพิเนียม (Opinium) เพื่อจัดทำรายงาน The Rise of Sustainable Media ด้วยการสำรวจความคิดเห็นของผู้ใหญ่ 24,068 คน ใน 19 ประเทศ เมื่อเดือนสิงหาคม 2564 โดยข้อมูลตัวเลขทั้งหมดคัดลอกมาจากการวิจัยนี้ หากไม่ได้ระบุว่ามาจากแหล่งอื่น

รูปภาพ - https://mma.prnewswire.com/media/1702503/Dentsu_International.jpg


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ