การประชุม Greater Bay Science Forum (GSF) ประจำปี 2564 ซึ่งจัดขึ้นเป็นเวลาสามวันในหัวข้อ "สำรวจอนาคต แบ่งปันความสำเร็จทางวิทยาศาสตร์" ปิดฉากลงไปเป็นที่เรียบร้อยเมื่อวันที่ 13 ธันวาคมที่ผ่านมา ณ เมืองกว่างโจว ประเทศจีน โดยที่ประชุมได้ส่งสารที่ชัดเจนว่า ความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับโลกยังคงเป็นกระแสหลัก แม้มีกระแสการต่อต้านโลกาภิวัตน์เกิดขึ้นก็ตาม
การประชุม GSF ริเริ่มโดยสมาพันธ์องค์การวิทยาศาสตร์ระหว่างประเทศ หรือ Alliance of International Science Organisations (ANSO) และสามารถดึงดูดนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญมากกว่า 100 คนจากทั่วโลกให้มาร่วมแลกเปลี่ยนเชิงลึกเกี่ยวกับขอบเขตความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เช่น ชีววิทยาศาสตร์ นาโนศาสตร์ การสื่อสารเครือข่าย การพัฒนาที่ยั่งยืน วิทยาศาสตร์ทางทะเล และซอฟต์แวร์อุตสาหกรรมอัจฉริยะ ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมมีฉันทามติในการส่งเสริมการแบ่งปันนวัตกรรมและการพัฒนางานด้านวิทยาศาสตร์ของโลก เพื่อสร้างประโยชน์แก่มนุษยชาติให้มากขึ้น
แอนเดรีย บัคคาเรลลี ศาสตราจารย์และประธาน Environmental Health Sciences แห่งโรงเรียนสาธารณสุขเมลแมน มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย กล่าวแสดงความยินดีผ่านข้อความทางวิดีโอว่า "งานนี้เป็นงานที่ดีมาก ผมประทับใจ GSF และภารกิจของงานนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาเช่นปัจจุบัน เราจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการสื่อสารทางด้านวิทยาศาสตร์" นอกจากนี้ เขายังแสดงความเต็มใจที่จะทำงานร่วมกับนักวิทยาศาสตร์และเพื่อนร่วมสาขาอาชีพในเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า
ซาราห์ กิลล์ นักสมุทรศาสตร์ฟิสิกส์ของสถาบัน Scripps Institution of Oceanography และผู้ชนะรางวัลเหรียญทอง Sverdrup Gold Medal จากสมาคมอุตุนิยมวิทยาอเมริกัน (2564) กล่าวว่า "GSF เป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นสำหรับแวดวงวิทยาศาสตร์ เราเผชิญกับความท้าทายอันยิ่งใหญ่ ซึ่งรวมถึงการดูแลสิ่งแวดล้อมและการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนความท้าทายในการดึงความเชี่ยวชาญทางวิทยาศาสตร์ทุกด้าน ซึ่งขณะเดียวกัน ความท้าทายเหล่านี้ก็ถือเป็นโอกาสที่ช่วยให้เราสร้างวิทยาศาสตร์ใหม่และฝึกอบรมนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ในสาขาของเรา ตลอดจนกำหนดรูปแบบการวิจัยของเราเพื่อตอบคำถามที่สำคัญของสังคม"
แคร์รี ลัม ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง กล่าวปาฐกถาผ่านทางวิดีโอว่า กวางตุ้งและฮ่องกงร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในด้านต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ฮ่องกงจะยังคงทำงานอย่างใกล้ชิดกับกวางตุ้ง เพื่อร่วมกันส่งเสริมการพัฒนาเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊าต่อไป
โฮยัตเส่ง ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษมาเก๊า กล่าวผ่านทางวิดีโอว่า มาเก๊าจะร่วมมือด้านทรัพยากรกับเมืองอื่น ๆ ในเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า เพื่อส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรมเทคโนโลยีอุตสาหกรรม
หม่าซิงรุ่ย ผู้ว่าการมณฑลกวางตุ้ง กล่าวที่งานนี้ว่า กวางตุ้งกำลังดำเนินยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมอย่างถ้วนทั่ว และเร่งสร้างมณฑลให้เป็นมณฑลที่มีความแข็งแกร่งในด้านนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นำโดยการสร้างเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า เขาเชื่อว่า GSF เป็นงานที่ยิ่งใหญ่สำหรับนักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลก โดยเป็นเวทีที่รวมหน้าที่ต่าง ๆ เช่น การแลกเปลี่ยนและการอภิปรายทางวิทยาศาสตร์ การแสดงความสำเร็จทางวิทยาศาสตร์ ตลอดจนการส่งเสริมฉันทามติทางวิทยาศาสตร์และกลไกการสร้างสรรค์นวัตกรรม ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวิทยาศาสตร์และการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างประเทศต่าง ๆ
จงหนานซาน นักวิชาการจากสถาบันวิศวกรรมศาสตร์แห่งชาติจีน และผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบทางเดินหายใจที่มีชื่อเสียง กล่าวว่า ความร่วมมือและความพยายามร่วมกันทั้งในประเทศและต่างประเทศเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อต่อสู้กับโรคระบาด "ถ้าที่ใดที่หนึ่งจัดการไม่ได้ ทั้งโลกก็จัดการไม่ได้เช่นกัน ไม่มีประเทศใดปลอดภัย จนกว่าทุกประเทศจะปลอดภัย"
ไป่ชุนหลี นักวิชาการจากสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน และประธาน ANSO กล่าวว่า ทางสมาพันธ์ได้ร่วมมือกับพันธมิตรด้านนวัตกรรมระดับโลกเพื่อจัดการกับความท้าทายในการดำรงชีวิต และความท้าทายทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และยังคงดำเนินโครงการวิจัยร่วมหลายโครงการที่เกี่ยวกับหัวข้อทางวิทยาศาสตร์ระดับโลก เช่น การร่วมกันต่อสู้กับโควิด-19
เขากล่าวว่า GSF จะมีบทบาทสำคัญในการหาแนวทางการกำกับดูแลนวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับโลกให้แก่เขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า
ที่มา: สมาพันธ์องค์การวิทยาศาสตร์ระหว่างประเทศ
AsiaNet 93638