วันที่ 12 ธันวาคม 2564 คณะรัฐมนตรีซาอุดีอาระเบียภายใต้กษัตริย์ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซในฐานะประธานของผู้อารักขามัสยิดศักดิ์สิทธิ์ทั้งสอง (Custodian of the Two Holy Mosques) ได้อนุมัติงบประมาณสำหรับปีงบประมาณ 2565 โดยมียอดรายจ่ายรวม 9.55 แสนล้านไรยาล ยอดรวมรายรับราว 1.045 ล้านล้านไรยาล และส่วนเกินดุลราว 9 หมื่นล้านไรยาล
ในโอกาสนี้ ฯพณฯ โมฮัมหมัด อัล-จาดาน รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ได้แสดงการขอบคุณผู้อารักขามัสยิดศักดิ์สิทธิ์ทั้งสอง ได้แก่ กษัตริย์ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ และเจ้าชายโมฮัมหมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ ผู้เป็นมกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกลาโหม ที่ได้อนุมัติงบประมาณดังกล่าว ทั้งนี้ อัล-จาดานชี้ว่า นโยบายและกระบวนการรับมือกับวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ที่รัฐบาลดำเนินการอย่างมีความรับผิดชอบ ทำให้สามารถควบคุมผลกระทบของโรคในด้านมนุษยธรรม การเงิน และเศรษฐกิจได้ ด้วยการสนับสนุนภาคบริการสุขภาพและภาคเอกชนอย่างแข็งแกร่ง โดยที่ยังคงรักษาความยั่งยืนทางการคลังสำหรับระยะกลางและระยะยาว ท่านรัฐมนตรีเปิดเผยว่า นโยบายเหล่านี้ได้สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อการทยอยฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นซึ่งแสดงการเติบโตอย่างรวดเร็วในหลายพื้นที่
อัล-จาดานชี้ว่า งบประมาณประจำปี 2565 สะท้อนความมุ่งหมายของรัฐบาลที่จะส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจหลังจากวิกฤตโรคระบาด และจัดสรรทรัพยากรด้านสุขภาพ การศึกษา และการพัฒนาภาคบริการที่เป็นแกนหลัก ควบคู่ไปกับการสนับสนุนและสิทธิประโยชน์ทางสังคมต่อไป อัล-จาดานระบุว่า งบประมาณนี้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการปฏิรูปเพื่อพัฒนาการจัดการการเงินสาธารณะ พร้อมทั้งรักษาเพดานการใช้จ่ายในลักษณะที่ทำให้เกิดความยั่งยืนทางการคลังในระยะกลางและนำมาซึ่งสถานภาพทางการเงินที่แข็งแกร่งซึ่งจะช่วยให้รัฐสามารถตอบสนองต่อทุกการเปลี่ยนแปลงฉุกเฉิน และสามารถดูดซับแรงกระแทกจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงโดยไม่คาดคิด
อัล-จาดานกล่าวว่า ตัวเลขประมาณการของงบประมาณประจำปี 2565 บ่งชี้ว่ารายรับโดยรวมจะถึง 1.045 ล้านล้านไรยาล เพิ่มขึ้น 12.4% เมื่อเทียบกับรายรับที่คาดการณ์ไว้ในปี 2564 ขณะที่รายจ่ายรวมคาดว่าจะอยู่ที่ราว 9.55 แสนล้านไรยาล โดยมีส่วนเกินดุล 9 หมื่นล้านไรยาล (2.5% ของจีดีพี) ส่วนเกินดุลดังกล่าวนี้จะใช้เพื่อเพิ่มเงินคงคลังของรัฐบาล, สนับสนุนกองทุนเพื่อการพัฒนาแห่งชาติและกองทุนเพื่อการลงทุนสาธารณะ, คำนึงถึงความเป็นไปได้ของการเร่งการดำเนินโครงการเชิงยุทธศาสตร์ที่มีมิติทางเศรษฐกิจและสังคม หรือเพื่อชดใช้หนี้สาธารณะบางส่วนโดยขึ้นอยู่กับสภาพตลาด
ในแง่ของหนี้สาธารณะ ท่านรัฐมนตรีคาดว่าหนี้สาธารณะจะปรับตัวดีขึ้นในปี 2565 โดยลดลงเหลือราว 25.9% ของจีดีพี จาก 29.2% ในปี 2564 จากการคาดการณ์เรื่องงบประมาณเกินดุลและการเติบโตของจีดีพี โดยมีข้อแม้ว่าเงินที่กู้มาจะต้องใช้เพื่อชดใช้หนี้ก้อนหลักที่มีกำหนดการจ่ายในอนาคต หรือเพื่อลงทุนในโอกาสในตลาดที่มีแนวโน้มที่ดีเพื่อสนับสนุนเงินคงคลังหรือเป็นเงินทุนสนับสนุนโครงการที่สามารถเร่งผลักดันได้อย่างรวดเร็วผ่านการออกพันธบัตรประจำปี ท่านรัฐมนตรียังชี้ว่า คาดว่าสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีจะยังคงอยู่ในระดับที่เหมาะสมในปี 2567 ที่ 25.4% และกล่าวเสริมว่า รัฐบาลซาอุดีอาระเบียกำลังพัฒนากรอบการทำงานด้านการบริหารจัดการความเสี่ยงซึ่งมุ่งติดตามและสังเกตการณ์พัฒนาการที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นและระบบเศรษฐกิจโลก เพื่อระบุความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากพัฒนาการเหล่านั้นและประเมินผลกระทบที่จะตามมา
อัล-จาดานระบุว่า เป้าหมายของรัฐบาลสำหรับปีงบประมาณ 2565 และสำหรับระยะกลางคือการสนับสนุนการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไป พร้อมทั้งรักษาระดับการดำเนินโครงการต่างๆในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ ประกอบกับการยึดมั่นในพันธกิจที่มุ่งบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ Saudi Vision 2030 ด้วยการลดการพึ่งพารายรับจากน้ำมันเป็นหลัก เพิ่มความหลากหลายในระบบเศรษฐกิจ และพัฒนารายได้ที่ไม่ได้มาจากน้ำมันพร้อมสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้เหล่านั้น ท่านรัฐมนตรีเน้นย้ำถึงความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นในช่วงล่าสุดที่ผ่านมาในการดำเนินโครงการ เพื่อการบรรลุยุทธศาสตร์ Vision Realization Programs และโครงการระดับใหญ่ ตลอดจนโครงการลงทุนในหลายภาคส่วน รวมถึงโครงการโครงสร้างพื้นฐาน
รัฐมนตรีการคลังกล่าวย้ำว่า ขณะนี้ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ที่ได้รับแรงหนุนจากปัจจัยส่งเสริมเศรษฐกิจที่อัดฉีดให้กับภาคเอกชน โดยที่สำคัญที่สุดคือการพัฒนาอย่างมีประสิทธิผลผ่านโครงการต่าง ๆ ของกองทุนเพื่อการพัฒนาแห่งชาติและกองทุนเพื่อการลงทุนสาธารณะ ความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการนิคมอุตสาหกรรมและลอจิสติกส์แห่งชาติ (National Industrial Development and Logistics Program - NDLP) ยุทธศาสตร์การลงทุนแห่งชาติ โครงการ "Shareek" โครงการพัฒนาภาคการเงิน และการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ นอกจากนี้ ท่านรัฐมนตรียังเน้นย้ำว่า ความสำเร็จของปัจจัยส่งเสริมเหล่านี้จะสะท้อนออกมาเป็นผลเชิงบวกในการเงินสาธารณะด้วยการกระตุ้นและเพิ่มความหลากหลายในการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะยกระดับรายรับจากแหล่งที่ไม่ใช่น้ำมันและลดภาระการใช้จ่ายของภาครัฐ โดยเฉพาะเมื่อภาคเอกชนเป็นผู้ดำเนินบทบาทนำในด้านการลงทุนและการจ้างงาน
ท่านรัฐมนตรีกล่าวย้ำถึงการเพิ่มขึ้นอย่างมากของตัวชี้วัดผลงานการดำเนินกิจกรรมจนถึงไตรมาสที่สามของปี 2565 ซึ่งสะท้อนการฟื้นตัวตามลำดับ สอดรับกับการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของอัตราการมีภูมิคุ้มกันไวรัสโควิด-19 แนวโน้มเช่นนี้มีส่วนช่วยในการคลายมาตรการป้องกันในราชอาณาจักร นอกจากนี้ ท่านรัฐมนตรียังได้อธิบายว่าตัวเลขประมาณการเบื้องต้นสำหรับปี 2564 บ่งชี้ว่า จีดีพีที่แท้จริง (real GDP) จะมีการเติบโต 2.9% จากการเพิ่มขึ้นของจีดีพีที่มาจากน้ำมัน ซึ่งคาดว่าจะมีการเติบโต 4.8% สูงเป็นประวัติการณ์ ขณะเดียวกัน ตัวเลขประมาณการสำหรับปีงบประมาณ 2565 บ่งชี้ว่า จีดีพีที่แท้จริงจะมีการเติบโต 7.4% จากการเพิ่มขึ้นของจีดีพีจากน้ำมัน อันเนื่องมาจากความตกลง OPEC+ ประกอบกับการเพิ่มขึ้นของจีดีพีที่ไม่ได้มาจากน้ำมันตามที่ได้คาดการณ์ไว้ โดยที่มีการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจและการดำเนินโครงการต่าง ๆ ที่ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและการเพิ่มความหลากหลาย
สำหรับโครงการความยั่งยืนทางการคลัง ท่านรัฐมนตรีอธิบายว่า ผลประโยชน์และการเปลี่ยนแปลงในระดับพื้นฐานของการบริหารจัดการแนวทางการเงินสาธารณะในช่วงที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงจากระยะการดำเนินงบประมาณแบบสมดุล สู่ระยะที่มุ่งรักษาความยั่งยืนทางการคลังด้วยเครื่องมือการวางแผนที่มีประสิทธิผลซึ่งคำนึงถึงความต้องการในการใช้จ่ายในระยะยาว สิ่งที่มีส่วนช่วยในการรักษาแผนการดังกล่าวนี้ตลอดจนความสามารถที่จะดำเนินการใช้จ่ายตามที่วางแผนไว้ในระยะยาว ก็คือการลดความผูกโยงกับปัจจัยภายนอก อย่างเช่นความผันผวนในตลาดน้ำมัน เพื่อที่จะไม่ให้เกิดความสับสนในแผนการต่าง ๆ คาดว่าโครงการดังกล่าวนี้จะบรรลุผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจหลายประการ เนื่องจากจะมีส่วนช่วยในการสานต่อความสำเร็จในแง่ของการอัตราการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพในระบบเศรษฐกิจที่ไม่ใช่น้ำมัน บรรเทาผลของความผันผวนของราคาพลังงานในระบบเศรษฐกิจ ตลอดจนเพิ่มความสามารถของภาคเอกชนในการวางแผนการลงทุนที่กระจ่างชัดเจน ในแง่ของการเงินสาธารณะ โครงการดังกล่าวจะมีส่วนช่วยในการเพิ่มประสิทธิผลของการวางแผนทางการคลัง เพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายของภาครัฐ ใช้ส่วนเกินดุลในการเพิ่มเงินคงคลังหรือในการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนที่ส่งเสริมการเพิ่มความหลากหลายในระบบเศรษฐกิจและบรรลุเป้าหมายการเติบโตที่ยั่งยืนในระยะกลางและระยะยาว
เพื่อสรุปแถลงการณ์ครั้งนี้ ท่านรัฐมนตรีอธิบายว่า งบประมาณประจำปี 2565 เป็นผลสัมฤทธิ์ของการวางแผนและการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐบาล มีการทุ่มเทความพยายาม สมรรถภาพ และพลังงานเพื่อที่จะพัฒนาแผนงบประมาณดังกล่าวนี้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะทำให้สามารถใช้งบประมาณในการบรรลุเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ ตลอดจนนำเสนอด้วยความโปร่งใสและความกระจ่างระดับสูงสุด ความพยายามเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนโดยการดำเนินงานตามพันธกิจโดยตรงของรัฐบาลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเงินและเศรษฐกิจในปัจจุบันผ่านการออกรายงานที่เกี่ยวกับงบประมาณ เช่น รายงานประจำไตรมาส รายงานประจำครึ่งปี และรายงานประจำปี ตลอดจนคำประกอบก่อนการประกาศงบประมาณ คำประกอบงบประมาณ และสรุปงบประมาณฉบับประชาชน โดยทั้งหมดนี้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ Saudi Vision 2030