งาน GIPC ดึงเม็ดเงินต่างชาติสะพัดเข้าเซินเจิ้น ในฐานะพื้นที่สาธิตนำร่อง

ข่าวต่างประเทศ Friday December 17, 2021 14:40 —Asianet Press Release

ในการประชุมส่งเสริมการลงทุนระดับโลกแห่งเมืองเซินเจิ้น (GIPC) ประจำปี 2564 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 15 ธันวาคมนั้น มีการลงนามไปมากกว่า 260 โครงการ โดยมีมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 8.2 แสนล้านหยวน

งานประชุมดังกล่าวให้ผลสำเร็จอย่างงดงาม โดยเมืองแห่งนวัตกรรมอย่างเซินเจิ้นได้เร่งสร้างพื้นที่สาธิตนำร่อง ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกที่มืดมนท่ามกลางโควิด-19 สัมผัสได้ถึงกระแสการลงทุนในจีนและเซินเจิ้น

การประชุม GIPC นำเสนอองค์ประกอบไฮเทคระดับสากลมากมาย เช่น การสตรีมสดและเทคโนโลยี Extended Reality (XR) รวมถึงวิดีโอโปรโมตเทคโนโลยีล้ำยุค การดำเนินรายการโดยพิธีกรสองภาษา ตลอดจนล่ามสดภาษาจีน อังกฤษ เยอรมัน และญี่ปุ่น โดยคณะกรรมการจัดงานของ GIPC ระบุว่า ฮอลล์จัดแสดงการส่งเสริมการลงทุนออนไลน์ได้มอบประสบการณ์เชิงโต้ตอบแบบดื่มด่ำเต็มอรรถรส โดยแสดงไฮไลต์ของแต่ละเขตในเซินเจิ้น

GIPC มีกิจกรรมส่งเสริมการลงทุนระดับเขตและกิจกรรมต่างประเทศรวมกัน 12 งาน จัดขึ้นใน 12 เมืองใน 5 ทวีป แล้วตามด้วยงานสำคัญในวันที่ 15 ธันวาคม ซึ่งมีการลงนามโครงการสำคัญ 44 โครงการ รวมถึง ABB, เมโทร มอลล์ และอเมริกัน เอ็กซ์เพรส

Cao Yang หัวหน้าหน่วยธุรกิจการขนส่งด้วยยานยนต์ไฟฟ้าของ ABB ในประเทศจีน ซึ่งเป็นบริษัทระดับ Fortune 500 นั้น เชื่อว่าเซินเจิ้นเป็นจุดยุทธศาสตร์การพัฒนาดิจิทัล และอาคารอัจฉริยะกับระบบขนส่งด้วยยานยนต์ไฟฟ้ากำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว ซึ่งการพัฒนาเร็วของอุตสาหกรรมเกิดใหม่นี้เองที่ผลักดันให้องค์กรระดับโลกลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยกล่าวว่า "เรารู้สึกอยู่ลึก ๆ ว่าเซินเจิ้นในฐานะเมืองแห่งนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้น มีข้อได้เปรียบที่ครอบคลุมทั้งห่วงโซ่อุตสาหกรรมและบุคลากรมากความสามารถอย่างสมบูรณ์แบบ ตลอดจนนโยบายสนับสนุนต่าง ๆ ด้วย ทำให้ ABB มั่นใจมากขึ้นในการเพิ่มการลงทุนในเซินเจิ้นต่อไป" โดยใน GIPC นั้น ABB ได้ก่อตั้งสำนักงานใหญ่ของโครงการขนส่งด้วยยานยนต์ไฟฟ้าประจำประเทศจีนในเมืองเซินเจิ้น

Jian Zheng รองอธิบดีสำนักงานพาณิชย์เทศบาลเมืองเซินเจิ้น กล่าวว่า บริษัทฝรั่งเศสชื่อดังหลายแห่ง รวมถึงบริษัทแอร์บัสและซาโนฟีได้ตั้งรกรากในเซินเจิ้นแล้ว และตั้งตารอที่จะเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือแบบวินวินทุกฝ่าย

Sun Lu หัวหน้าศูนย์นวัตกรรมของแอร์บัส ไชน่า เปิดเผยว่า ทางศูนย์ฯ ซึ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเซินเจิ้นในปี 2562 นั้น เป็นหนึ่งในศูนย์นวัตกรรมสองแห่งของแอร์บัสทั่วโลก โดยกล่าวว่า "แม้จะมีโควิดระบาด ทางศูนย์ฯ ก็ได้ร่วมมือกับซัพพลายเออร์ท้องถิ่นในเซินเจิ้นสำหรับคำสั่งซื้อมากกว่า 100 รายการ นอกจากนี้ เรายังร่วมมือกับเทนเซ็นต์ แอปโพทรอนิกส์ คอร์เปอเรชัน และองค์กรอื่น ๆ ในการจัดหาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่ใช้ในด้านการบินอีกด้วย"

ข้อมูลอย่างเป็นทางการแสดงให้เห็นว่าในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ เซินเจิ้นดึงดูดเม็ดเงินทุนต่างประเทศที่ลงนามในสัญญาได้มากกว่า 2.099 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีการใช้เงินทุนจริงไป 8.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นการเติบโตเมื่อเทียบรายปีสูงถึง 19.8% และ 24.8% ตามลำดับ โดยยังคงรักษาแนวโน้มที่ดีและมีเสถียรภาพต่อไป

แหล่งการลงทุนจากต่างประเทศสามารถเห็นได้ว่า เซินเจิ้นได้เร่งการพัฒนาอุตสาหกรรมเกิดใหม่เชิงกลยุทธ์และอุตสาหกรรมในอนาคต สร้างจุดยุทธศาสตร์แห่งนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และอุตสาหกรรมที่มีอิทธิพลระดับโลก ตลอดจนนำโอกาสใหม่ ๆ มาสู่การลงทุนระดับโลก

อนึ่ง ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 (ปี 2564-2568) ของเซินเจิ้นและเป้าหมายระยะยาวสู่ความทันสมัยภายในปี 2578 นั้น เซินเจิ้นได้รวมมูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมหลักในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ GDP เป็นครั้งแรกอีกด้วย

พิมพ์เขียวของเซินเจิ้นในอุตสาหกรรมเกิดใหม่ส่วนใหญ่จะอาศัยการสั่งสมเทคโนโลยีในนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตลอดระยะเวลาหลายปี และที่จริงแล้ว เซินเจิ้นก็เป็นผู้นำของจีนในด้านจำนวนศูนย์ข้อมูล, สถานีฐาน 5G และความก้าวหน้าของภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้ พลังแห่งนวัตกรรมของเซินเจิ้นที่นำโดยหัวเว่ยและแซดทีอี เป็นกลไกสำคัญสำหรับเซินเจิ้นในการสร้างตัวเองให้กลายเป็นศูนย์นวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับสากลในเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (Greater Bay Area หรือ GBA) โดยในกระบวนการสร้างพื้นที่สาธิตนำร่องนั้น เซินเจิ้นได้ปรับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจระหว่างประเทศให้เหมาะสมอย่างต่อเนื่องและดึงดูดคนเก่ง ๆ จากทั่วโลก

ผู้เข้าร่วมเห็นพ้องกันโดยทั่วไปว่าเซินเจิ้น ในฐานะหนึ่งในหกเมืองนำร่องแรกสำหรับการปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ประกาศโดยมนตรีแห่งรัฐของจีนนั้น จะยกระดับการอำนวยความสะดวกทางการค้าข้ามพรมแดน ปรับการบริหารการลงทุนจากต่างประเทศและบริการบริหารบุคลากรระหว่างประเทศให้เหมาะสม รวมถึงมุ่งสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจคุณภาพสูงระดับโลก ซึ่งจะเพิ่มความน่าสนใจของเซินเจิ้นต่อไป

"ผมคิดว่าสภาพการณ์ทั่วไปของเซินเจิ้นนั้นดี เพราะทางตอนใต้ของจีนโดยเฉพาะใน GBA นั้น เรามีสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ดีมาก" Klaus Zenkel ประธานสำนักงานพาณิชย์จีนตอนใต้แห่งสภาหอการค้าสหภาพยุโรปในจีน กล่าว

นอกจากนี้ เซินเจิ้นยังส่งเสริมการออกกฎหมายของเขตเศรษฐกิจพิเศษอย่างแข็งขันใน "ระเบียบว่าด้วยการลงทุนจากต่างประเทศในเขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้น" ซึ่งเสนอให้ดำเนินการปฏิบัติเยี่ยงคนชาติตั้งแต่ก่อนเข้ามาลงทุน (Pre-Entry National Treatment) อย่างเต็มรูปแบบด้วยระบบการจัดการสาขาหรือกิจกรรมที่ไม่ต้องการเปิดตลาดให้ต่างชาติ (Negative List Management System) เพื่อปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ระหว่างประเทศ พร้อมยกระดับการเปิดกว้างอย่างทั่วถึง

ที่มา: คณะกรรมการจัดงาน GIPC


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ