ในมหกรรมโมบายล์ เวิลด์ คองเกรส ประจำปี 2565 (Mobile World Congress 2022) คุณริชาร์ด จิน รองประธานบริษัทหัวเว่ย (Huawei) และประธานฝ่ายไลน์ผลิตภัณฑ์ธุรกิจระบบนำแสง ได้เปิดตัวเครือข่ายอัจฉริยะสีเขียวอ็อปติกซ์ (Green Intelligent OptiX Network) สำหรับองค์กร ซึ่งประกอบด้วยห้าโซลูชันสุดล้ำ ได้แก่ ใยแก้วสู่สำนักงาน (Fiber To The Office: FTTO), ใยแก้วสู่เครื่องจักร (Fiber To The Machine: FTTM), อ็อปติกซ์แบบเดี่ยว (Single OptiX), อ็อปติกซ์สำหรับศูนย์ข้อมูล (DC OptiX) และอ็อปติกซ์การตรวจจับ (Sensing OptiX) เพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลของอุตสาหกรรม
โซลูชันใยแก้วสู่สำนักงาน (FTTO): หัวเว่ยได้บูรณาการข้อได้เปรียบทางเทคนิคของทรัพย์สินทางปัญญาและผลิตภัณฑ์ออปติคอลของบริษัท เพื่อนำเสนอโซลูชันใยแก้วสู่สำนักงานสำหรับสร้างเครือข่ายแคมปัสที่เรียบง่ายและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โซลูชันดังกล่าวช่วยลดความซับซ้อนของสถาปัตยกรรมเครือข่ายจากเลเยอร์สามชั้นเหลือสองชั้น ทำให้ไม่ต้องใช้พื้นที่สำหรับแรงดันไฟฟ้าต่ำเป็นพิเศษ ยิ่งไปกว่านั้น สถาปัตยกรรมแบบจุดต่อหลายจุด (P2MP) ยังช่วยลดการลงทุนในโมดูลออปติคอลได้ถึง 50% นอกจากนี้ เทอร์มินอลออปติคอลยังรองรับเทคโนโลยีการเสียบต่อเข้าด้วยกันเพื่อเชื่อมอุปกรณ์ (plug-and-play) และการสลับอุปกรณ์ (swap-and-play) จึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานและการบำรุงรักษาได้ถึง 50% พร้อมกันนี้ หัวเว่ยได้เปิดตัวอ็อปติกซ์สตาร์ พี871อี (OptiXstar P871E) หน่วยเครือข่ายออปติคอล (ONU) ตัวแรกของอุตสาหกรรมที่รองรับแบนด์วิดท์ 10 กิกะบิตต่อวินาที (Gbps) และอ็อปติกซ์สตาร์ เอส890เอช (OptiXstar S890H) หน่วยเครือข่ายออปติคอลขนาดเล็กที่สุดในอุตสาหกรรมด้วยน้ำหนักเพียง 10 กรัม
โซลูชันใยแก้วสู่เครื่องจักร (FTTM): โซลูชันนี้เน้นการใช้งานในโรงงาน รถไฟใต้ดิน เหมืองถ่านหิน ท่าเรือ และทางหลวง โดยมีความหน่วงต่ำและความน่าเชื่อถือสูง ซึ่งตอบสนองความต้องการของเครือข่ายเชิงอุตสาหกรรมได้เป็นอย่างดี สำหรับการใช้งานในท่าเรือนั้น เครือข่ายใยแก้วสู่เครื่องจักรนี้มีความหน่วงต่ำเป็นพิเศษ ทำให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถควบคุมเครื่องจักรจากระยะไกลถึง 100 กิโลเมตรได้ จึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานได้อย่างมีนัยสำคัญ โซลูชันนี้ยังช่วยให้เกิดความปลอดภัยภายในเครือข่ายใต้ดิน (เช่น เครือข่ายใต้ดินของเหมืองถ่านหิน) และขจัดความเสี่ยงที่เกิดจากประกายไฟ ส่วนในบริเวณชุมสายนั้น สถาปัตยกรรมแบบกระจายของโซลูชันนี้ใช้สายเคเบิลออปติคอลและสายไฟฟ้าเพียงอย่างละหนึ่งเส้นเท่านั้น ซึ่งต่างจากโซลูชันแบบเดิมที่ต้องใช้หลายร้อยเส้น จึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านวิศวกรรมได้ถึง 80%
โซลูชันอ็อปติกซ์แบบเดี่ยว (Single OptiX): หัวเว่ยเปิดตัวโซลูชันเครือข่ายเนทีฟฮาร์ดไปป์ (Native Hard Pipe: NHP) ซึ่งรองรับเทคโนโลยีฮาร์ดไปป์รุ่นที่ห้าที่เรียกว่าหน่วยบริการออปติคอล (Optical Service Unit: OSU) ทั้งยังสามารถทำงานร่วมกับการกล้ำรหัสของพัลส์ (Pulse Code Modulation: PCM), การวางลำดับดิจิทัลแบบซิงโครนัส (Synchronous Digital Hierarchy: SDH), เครือข่ายการขนส่งออปติคอล (Optical Transport Network: OTN) และเทคโนโลยีอื่น ๆ ได้เป็นอย่างดี โดยเครือข่าย NHP มีการบูรณาการเครือข่ายการนำส่งและเครือข่ายการเข้าถึงเข้าด้วยกันเป็นครั้งแรก ส่งผลให้เทคโนโลยีการส่งผ่าน OSU เกิดการแยกส่วนระบบทางกายภาพแบบครบวงจรและทำให้บริการมีความเชื่อถือได้สูง เทคโนโลยีนี้สามารถนำไปใช้งานได้หลากหลายในระบบพลังงานไฟฟ้าและระบบรถไฟใต้ดิน โดยการขยายเครือข่ายลงใต้ดินทำให้สามารถผนวกรวมระบบจ่ายกำลังไฟฟ้าอัตโนมัติเข้ากับระบบตรวจสอบอัจฉริยะ หรือระบบข้อมูลผู้โดยสารรถไฟใต้ดินเข้ากับระบบเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติได้ภายในเครือข่ายเดียว จึงช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือและประสิทธิภาพได้เป็นอย่างดี
โซลูชันอ็อปติกซ์สำหรับศูนย์ข้อมูล (DC OptiX): หัวเว่ยบูรณาการจุดแข็งของผลิตภัณฑ์การจัดเก็บและการสื่อสารออปติคอล เพื่อเปิดตัวโซลูชันการประสานงานการจัดเก็บกับการเชื่อมต่อออปติคอล (Storage-Optical Connection Coordination: SOCC) ซึ่งใช้เครือข่ายออปติคอลในการตรวจจับความขัดข้องของการเชื่อมต่อและสลับเส้นทางเส้นใยได้ภายใน 5 มิลลิวินาที นอกจากนั้นยังสามารถเฝ้าระวังความผันผวนของความเร็วเครือข่ายใยแก้วได้แบบเรียลไทม์และแจ้งไปยังอุปกรณ์การจัดเก็บ โซลูชันนี้ยังสามารถสลับช่องทางระบบรับและแสดงผล (I/O) ได้ภายใน 1 วินาที จึงทำให้การสูญเสียข้อมูลเป็นศูนย์และช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือของเครือข่ายได้อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ หัวเว่ยยังได้ปรับปรุงสมรรถนะของระบบเชื่อมต่อดาต้าเซ็นเตอร์ (Data Center Interconnect: DCI) จาก 88 เทราบิตต่อวินาที (Tbps) เป็น 96 เทราบิตต่อวินาทีต่อหนึ่งเส้นใยแก้ว จึงช่วยลดต้นทุนค่าเช่าเส้นใยแก้วและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของลูกค้า
โซลูชันอ็อปติกซ์การตรวจจับ (Sensing OptiX): ด้วยประสบการณ์ด้านการพัฒนานวัตกรรมและประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยีออปติคอลมานาน 30 ปี หัวเว่ยได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ตรวจจับออปติคอลตัวแรกของบริษัท นั่นคือ อ็อปติกซ์เซนส์ อีเอฟ3000 (OptiXsense EF3000) ซึ่งพัฒนาขึ้นจากผลการวิจัยอัลกอริทึมการตรวจจับอัจฉริยะ ผลิตภัณฑ์นี้ใช้กับท่อส่งน้ำมันและก๊าซเป็นหลัก โดยช่วยให้องค์กรสามารถสร้างวิธีการตรวจสอบแบบใหม่ที่ไม่ต้องใช้บุคลากร ผลที่ได้คือมีอัตราการระบุเหตุการณ์ที่เป็นภัยต่อท่อส่งสูงถึง 97% คุณสวี่ เสี่ยวเหลียง ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการใยแก้วนำแสงของบริษัท ซานตง จี่หัว ก๊าซ (Shandong Jihua Gas) กล่าวว่า "เราได้ทำการทดสอบเชิงเทคนิคภาคสนามโดยใช้ผลิตภัณฑ์ตรวจจับออปติคอลของหัวเว่ย และพบว่ามีความแม่นยำในการรายงานผลสูงกว่าของอุตสาหกรรมอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อสานต่อความร่วมมือนี้ เราจะเดินหน้าเก็บข้อมูลและอัปเดตตัวอย่างจากสถานที่จริงเพื่อให้ครอบคลุมสภาพการณ์หลากหลายรูปแบบที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ตลอดจนศึกษาอัลกอริทึมการตรวจจับที่แม่นยำยิ่งขึ้น และให้การรับประกันเชิงเทคนิคที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นสำหรับการจัดการความปลอดภัยในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ"
มหกรรมโมบายล์ เวิลด์ คองเกรส ประจำปี 2565 จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ ถึง 3 มีนาคม ณ เมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน โดยหัวเว่ยได้ร่วมนำเสนอผลิตภัณฑ์และโซลูชันต่าง ๆ ที่บูธ 1H50 ในฟีรา กรัน เวีย ฮอลล์ 1 (Fira Gran Via Hall 1) สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://e.huawei.com/en/events/huawei-enterprise-mwc-2022
รูปภาพ - https://mma.prnewswire.com/media/1758845/Huawei_Unveils_Green_Intelligent_OptiX_Network.jpg
คำบรรยายภาพ - หัวเว่ย เปิดตัวเครือข่ายอัจฉริยะสีเขียว "อ็อปติกซ์"