"อีสต์ เวนเจอร์ส" จับมือ "คาตาดาต้า" และ "พีดับบลิวซี อินโดนีเซีย" เปิดตัวรายงานดัชนีวัดศักยภาพการแข่งขันทางดิจิทัลประจำปี 2565

ข่าวทั่วไป Tuesday March 8, 2022 08:00 —ข่าวประชาสัมพันธ์พีอาร์นิวส์ไวร์

การแข่งขันทางดิจิทัลมีความเท่าเทียมกันมากขึ้น ยุคทองกำลังใกล้เข้ามา

อีสต์ เวนเจอร์ส (East Ventures) บริษัทร่วมลงทุนแบบไม่เจาะจงอุตสาหกรรมผู้บุกเบิกด้านการลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีและมีบทบาทมากที่สุดในอินโดนีเซีย ร่วมกับคาตาดาต้า อินไซต์ เซ็นเตอร์ (Katadata Insight Center) และพีดับบลิวซี อินโดนีเซีย (PwC Indonesia) เปิดตัวดัชนีวัดศักยภาพการแข่งขันทางดิจิทัลประจำปี 2565 ในชื่อ East Ventures - Digital Competitiveness Index 2022 หรือ EV-DCI 2022 โดยรายงานการวิจัย EV-DCI 2022 วัดความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัลของอินโดนีเซียในหัวข้อ "Towards Indonesia Digital Golden Era" (สู่ยุคทองทางดิจิทัลของอินโดนีเซีย)

"เรารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งในการนำเสนอ EV-DCI 2022 อีกครั้ง ในปีนี้ เศรษฐกิจดิจิทัลกำลังเติบโตในอินโดนีเซีย และความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัลก็เพิ่มขึ้นด้วย เราหวังว่า อีสต์ เวนเจอร์สได้ให้ข้อมูลเชิงลึกแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดผ่านรายงาน EV-DCI ในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคดิจิทัลเพื่อให้กระจายการแข่งขันทางดิจิทัลในอินโดนีเซียได้อย่างเท่าเทียมกันมากขึ้น" คุณวิลสัน ชัวเชอ (Willson Cuaca) ผู้ร่วมก่อตั้งและหุ้นส่วนผู้จัดการของอีสต์ เวนเจอร์ส กล่าว

รายงาน EV-DCI ประจำปี 2565 นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัลใน 34 จังหวัดและ 25 เมือง/เขตในอินโดนีเซีย การแข่งขันด้านดิจิทัลในภูมิภาคต่าง ๆ ในอินโดนีเซียยังคงมีแนวโน้มที่ดี เห็นได้จากคะแนน EV-DCI 2022 ที่ 35.2 คะแนน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 32.1 คะแนน (2564) และ 2 ปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 27.9 (2563)

คุณมุลยา อัมรี ( Mulya Amri) ผู้เชี่ยวชาญจากคาตาดาต้า อินไซต์ เซ็นเตอร์ เปิดเผยว่า ความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลเพิ่มขึ้นในหลายจังหวัดนอกเกาะชวา โดยกล่าวว่า "แม้ 10 อันดับแรกที่มีคะแนน EV-DCI สูงสุดในการจัดอันดับนี้ส่วนใหญ่มาจากจังหวัดในเกาะชวาและบาหลี แต่จังหวัดอื่น ๆ ยังคงแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างดี"

ช่องว่างในการแข่งขันทางดิจิทัลที่ลดลงนั้นยังเห็นได้จากค่าสเปรดที่น้อยลง โดยค่าสเปรดหรือความแตกต่างระหว่างจังหวัดที่ได้คะแนนสูงสุด (จาการ์ตา 73.2) และต่ำสุด (ปาปัว 24.9) ในรายงาน EV-DCI ปี 2565 นั้นอยู่ที่ 48.3 ในขณะที่ในปี 2564 และ 2563 เท่ากับ 55.6 และ 61.9 ตามลำดับ โดยคุณมุลยา กล่าวว่า "ค่าสเปรดที่น้อยกว่าสะท้อนให้เห็นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัลของจังหวัดในระดับกลางและระดับล่าง"

รายงาน EV-DCI ประจำปี 2565 ยังเสริมด้วยผลการสำรวจบริษัทดิจิทัล 71 แห่ง การวิเคราะห์ 8 ภาคส่วน และมุมมองจาก 18 บุคคลสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นผู้กำหนดนโยบายในรัฐบาลอินโดนีเซีย เช่น รัฐมนตรีประสานงานด้านกิจการเศรษฐกิจ รัฐมนตรีประสานงานด้านกิจการการเดินเรือและการลงทุน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงรัฐวิสาหกิจ (BUMN) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และอื่น ๆ นอกจากนี้ มุมมองดังกล่าวยังรวมถึงผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพ เช่น ซีอีโอของโกทู (GoTo), ซีอีโอของเซ็นดิต (Xendit), ประธานบริษัททราเวลโลก้า (Traveloka) เป็นต้น

ในการสัมภาษณ์พิเศษ มุมมองหลายแง่มุมช่วยเสริมศักยภาพของอินโดนีเซียสู่ยุคทองดิจิทัล บุคคลเหล่านี้เน้นย้ำถึงขั้นตอนและกลยุทธ์ที่กำลังดำเนินการ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล

คุณแอร์ลังกา ฮาร์ตาร์โต ( Airlangga Hartarto) รัฐมนตรีประสานงานด้านกิจการเศรษฐกิจอินโดนีเซีย กล่าวว่า การยกระดับสู่ดิจิทัลให้มูลค่าเพิ่มในด้านต่าง ๆ ได้ "การเร่งความเร็วในการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สร้างโอกาสที่เท่าเทียมและหลากหลาย และส่งเสริมโอกาสและผลผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม"

คุณลูฮัต บินซาร์ ปันด์ใจตัน ( Luhut Binsar Pandjaitan) รัฐมนตรีประสานงานด้านกิจการการเดินเรือและการลงทุนอินโดนีเซีย กล่าวว่า ประสิทธิภาพจะเกิดขึ้นเมื่อยกระดับระบบของรัฐบาลให้เป็นดิจิทัล "ทางรัฐบาลกำลังตั้งเป้าหมายให้ระบบมีประสิทธิภาพมากขึ้น และวิธีหนึ่งที่จะบรรลุเป้าหมายนี้คือการนำระบบดิจิทัลมาใช้ ด้วยระบบดิจิทัล ทุกอย่างจะเชื่อมโยงกัน การทุจริตจะลดลง ประสิทธิภาพจะดีขึ้น และเราจะแข่งขันได้มากขึ้น"

คุณบูดี กุนาดี ซาดิคิน ( Budi Gunadi Sadikin) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอินโดนีเซีย กล่าวว่า มาตรฐานข้อมูลที่ดำเนินการโดยการแปลงเป็นดิจิทัลนั้นส่งเสริมการสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลในภาคสุขภาพได้ "การกำหนดมาตรฐานข้อมูลด้านสุขภาพทำให้รวมข้อมูลเหล่านี้เข้ากับแพลตฟอร์มได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านการแพทย์ การฉีดวัคซีน โรงพยาบาล ห้องปฏิบัติการ ความหวังของเราคือให้สตาร์ทอัพพัฒนาและใช้แพลตฟอร์มนี้ได้"

สู่ยุคทองทางดิจิทัลของอินโดนีเซีย

การเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลไม่สามารถแยกออกจากบทบาทของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในภาคส่วนต่าง ๆ การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลกำลังพัฒนาและมีส่วนสนับสนุนภาคส่วนสำคัญที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมประจำวัน เช่น โลจิสติกส์ ฟินเทค เอ็ดเทค และเฮลธ์เทค การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลได้เกิดขึ้นก่อนหน้านี้เช่นกัน เช่น ในภาคการท่องเที่ยวและอีคอมเมิร์ซ

ความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการสนับสนุนการเติบโตและความเท่าเทียมของเศรษฐกิจดิจิทัล ยังถูกหยิบยกมาอธิบายจากการสัมภาษณ์ต่าง ๆ ในการจัดทำรายงานนี้ด้วย โดยคุณลูฮัตเปิดเผยว่า ทางรัฐบาลได้เริ่มนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้กันอย่างแพร่หลาย เช่น นำไปช่วยในกระบวนการจัดซื้อสินค้าและบริการของรัฐบาลด้วยระบบข้อมูลสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (e-catalog)

นอกจากนี้ คุณบูดียังอธิบายด้วยว่า การจัดการและติดตามสถานการณ์โควิด-19 ในอินโดนีเซียได้นำระบบดิจิทัลมาใช้ด้วย เช่น แอปพลิเคชันเพดูลีลินดันจี (PeduliLindungi) และบริการด้านสุขภาพต่าง ๆ จากกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเข้าถึงได้ผ่านระบบการแพทย์ทางไกลและทางออนไลน์

กลยุทธ์ที่เหมาะสมในการบรรลุยุคทองดิจิทัลในอินโดนีเซียนั้นอธิบายได้ด้วยรูปทรงของบ้าน โครงสร้างพื้นฐานของเทคโนโลยี สารสนเทศ และการสื่อสาร (ICT) เป็นรากฐานที่จำเป็นในภาคส่วนและสถาบันต่าง ๆ การเสริมความแข็งแกร่งของโครงสร้างพื้นฐานด้าน ICT ก่อให้เกิดการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในด้านต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยเร่งการสร้างรัฐบาลดิจิทัล สังคมดิจิทัล และธุรกิจดิจิทัล องค์ประกอบเหล่านี้ยังจำเป็นต้องเสริมความแข็งแกร่งด้วยการประยุกต์ใช้หลักการที่ยั่งยืน หรือหลักการด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) เพื่อให้เศรษฐกิจดิจิทัลยังคงเติบโตต่อไปในระยะยาว

คุณรัดจู มูนูซามี ( Radju Munusamy) หุ้นส่วนของพีดับบลิวซี อินโดนีเซีย กล่าวว่า "การมุ่งสู่ยุคทองทางดิจิทัลของอินโดนีเซียควรพิจารณาใน 5 ด้านด้วยกัน ได้แก่ การเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน ICT เพื่อเอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจดิจิทัลที่เท่าเทียมกันมากขึ้น การสร้างธรรมาภิบาลดิจิทัลที่เน้นประสิทธิภาพและความโปร่งใส พัฒนาความสามารถด้านดิจิทัลผ่านการปรับปรุงระบบการศึกษาและทักษะ ส่งเสริมการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในภาคส่วนต่าง ๆ และนำหลักการความยั่งยืนมาใช้เพื่อให้เกิดยุคทองของเศรษฐกิจดิจิทัล"

คุณวิลสัน ชัวเชอ กล่าวเสริมว่า "อีสต์ เวนเจอร์ส เชื่อว่า การเร่งนำระบบดิจิทัลมาใช้เป็นสิ่งสำคัญในการสร้างระบบนิเวศดิจิทัลที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดทำงานร่วมกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย อีสต์ เวนเจอร์ส มุ่งมั่นที่จะสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลต่อไป และปูทางสู่ยุคทองดิจิทัลในอินโดนีเซีย"

การเพิ่มคะแนนเสาหลักด้านโครงสร้างพื้นฐาน เมื่อช่องว่างทางการแข่งขันทางดิจิทัลลดลง

EV-DCI เป็นแผนที่ที่สะท้อนให้เห็นศักยภาพในการแข่งขันทางดิจิทัลระดับภูมิภาค โดยมี 3 ดัชนีย่อย, 9 เสาหลัก และ 50 ตัวชี้วัด ดัชนีย่อยที่ว่านี้ประกอบด้วย การรับเข้า ผลผลิต และการสนับสนุน ส่วนเสาหลักทั้ง 9 ได้แก่ ทรัพยากรมนุษย์ การใช้ไอซีที ค่าใช้จ่ายด้านไอซีที เศรษฐกิจ การเป็นผู้ประกอบการและผลิตภาพ การจ้างงาน โครงสร้างพื้นฐาน การเงิน ไปจนถึงข้อบังคับและความสามารถของรัฐบาลท้องถิ่น

จังหวัดที่มีคะแนน EV-DCI สูงสุดในปี 2565 ยังคงเป็นกรุงจาการ์ตาด้วยคะแนน 73.2 ในขณะเดียวกัน อันดับสองและสามเป็นของจังหวัดชวาตะวันตกและเขตพิเศษยอกยาการ์ตาด้วยคะแนน 58.5 และ 49.2 ตามลำดับ นอกจากนี้ กาลิมันตันตะวันออกยังเป็นหนึ่งในจังหวัดนอกเกาะชวาที่ติด 10 อันดับแรก โดยอยู่ที่อันดับ 7 หลังมีคะแนนเพิ่มขึ้น 4.5 จนทำคะแนนได้ 44.0 คะแนนในดัชนี EV-DCI ในปี 2565

นอกเหนือจากกาลิมันตันตะวันออกแล้ว หลายจังหวัดนอกชวายังมีความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลเพิ่มขึ้นค่อนข้างดี ตัวอย่างเช่น เบงกูลูมีคะแนน EV-DCI เพิ่มขึ้นสูงสุดในปี 2565 เมื่อเทียบกับปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ 7.8 คะแนน โดยพุ่งขึ้นจนทำคะแนนได้ 39.1 คะแนนที่เพิ่มขึ้นนี้ทำให้อันดับของเบงกูลูเพิ่มขึ้น 7 อันดับมาอยู่ที่อันดับที่ 12 ขณะที่ปาปัวตะวันตกและลำปุงยังมีความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลเพิ่มขึ้นอย่างมากเช่นกัน โดยปาปัวตะวันตกเพิ่มขึ้น 11 อันดับมาอยู่ที่ 19 และลำปุงเพิ่มขึ้น 6 อันดับมาอยู่ที่ 20

องค์ประกอบด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สูงที่สุดในปีที่แล้ว ก็มีคะแนน EV-DCI เพิ่มขึ้นเช่นกันในปี 2565 โดยในดัชนี EV-DCI ประจำปี 2565 องค์ประกอบด้านโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้น 10.5 จุด เป็น 64.8 จุด ขณะที่ค่าความแตกต่างในด้านโครงสร้างพื้นฐานก็ลดลง 8.3 จุดหรือแตะ 79.0 ในปีนี้ เมื่อเทียบกับส่วนต่างของปีที่แล้วที่ 87.3 จุด

ช่องว่างด้านความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัลที่ลดลงในด้านเหล่านี้ ยังปรากฏให้เห็นในคะแนนที่เพิ่มขึ้นในด้านการเป็นผู้ประกอบการและการผลิต โดยคะแนนในด้านนี้เพิ่มขึ้น 10.1 คะแนน เป็น 23.6 คะแนนในดัชนี EV-DCI ประจำปี 2565 นอกจากนี้ คะแนนในด้านกฎระเบียบและศักยภาพของรัฐบาลท้องถิ่นยังเพิ่มขึ้น 19.1 คะแนน เป็น 54.6 ในปีนี้ด้วย

ดาวน์โหลดรายงาน EV-DCI ประจำปี 2565 ได้ที่ www.east.vc/DCI

เกี่ยวกับอีสต์ เวนเจอร์ส

อีสต์ เวนเจอร์ส (East Ventures) เป็นบริษัทร่วมลงทุนชั้นนำที่บุกเบิกและไม่เจาะจงอุตสาหกรรม โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ในสิงคโปร์ อีสต์ เวนเจอร์ส ก่อตั้งขึ้นในปี 2552 โดยได้พลิกโฉมเป็นแพลตฟอร์มแบบองค์รวมที่ให้การลงทุนในหลายระยะ รวมถึงในระยะ Seed และ Growth แก่บริษัทกว่า 200 รายทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อีสต์ เวนเจอร์ส เชื่อมั่นในระบบนิเวศสตาร์ทอัพในอินโดนีเซียตั้งแต่แรกเริ่ม โดยเป็นนักลงทุนรายแรกของบริษัทยูนิคอร์นของอินโดนีเซีย ได้แก่ โทโกพีเดีย (Tokopedia) และทราเวลโลก้า (Traveloka) สำหรับบริษัทที่มีชื่อเสียงอื่น ๆ ที่อีสต์ เวนเจอร์ส ได้ร่วมลงทุนด้วยนั้นมีทั้งรวงกูรู (Ruangguru), เซอร์คโล (SIRCLO), คูโด้ (Kudo) (ถูกแกร็บซื้อกิจการ), โลเค็ต (Loket) (ถูกโกเจ็กเข้าซื้อกิจการ), เทค อิน เอเชีย (Tech in Asia), เซ็นดิต (Xendit), ไอดีเอ็น มีเดีย (IDN Media), โมกาพีโอเอส (MokaPOS) (ถูกโกเจ็กเข้าซื้อกิจการ), ช็อปแบ็ก (ShopBack), โคอินเวิร์กส์ (KoinWorks), แวร์ซิกซ์ (Waresix) และโซซิโอลลา (Sociolla)

อีสต์ เวนเจอร์ส ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นกองทุนร่วมลงทุนที่มีผลการดำเนินงานดีเด่นที่สุดในโลกโดยพรีกิน (Preqin) ขณะที่สื่อหลายรายก็ยกให้เป็นนักลงทุนที่มีความกระตือรือร้นมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินโดนีเซีย

รูปภาพ - https://mma.prnewswire.com/media/1760290/EV_DCI_2022_Score_Distribution_Map_in_34_Provinces_in_Indonesia.jpg
คำบรรยายภาพ - แผนที่อินโดนีเซียครอบคลุม 34 จังหวัดทั่วประเทศ โดยแจกแจงคะแนน EV-DCI ประจำปี 2565

รูปภาพ - https://mma.prnewswire.com/media/1760292/EV_DCI_2022_Ranking.jpg
คำบรรยายภาพ - อันดับคะแนน EV-DCI ของจังหวัดต่าง ๆ ในปี 2565

รูปภาพ - https://mma.prnewswire.com/media/1760294/EV_DCI_2022_Ranking_for_Top_25_Cities_Regencies.jpg
คำบรรยายภาพ - เมืองและเขตปกครอง 25 อันดับแรกที่มีคะแนน EV-DCI มากที่สุดในปี 2565


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ