หกสัปดาห์หลังจากรัสเซียบุกยูเครน ผลกระทบที่มีต่ออิสระในการเดินทางและเคลื่อนย้ายเกิดขึ้นรุนแรงกว่าที่นักวิจารณ์ที่มองโลกในแง่ร้ายที่สุดเคยคาดการณ์ไว้ตอนที่สงครามเริ่มเปิดฉากขึ้น โดยผลการศึกษาล่าสุดจากการจัดอันดับดัชนีพาสปอร์ตของเฮนลี่ย์ (Henley Passport Index) ซึ่งเป็นการจัดอันดับหนังสือเดินทางทั่วโลกตามจำนวนจุดหมายปลายทางที่ผู้ถือหนังสือเดินทางนั้นเดินทางไปได้โดยไม่ต้องขอวีซ่ามาก่อน ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงผลกระทบของสงครามที่รุนแรงและอาจไม่สามารถย้อนกลับได้อีก ซึ่งมีต่ออิสระในการเดินทาง ในขณะที่ "ม่านเหล็กใหม่" กำลังเคลื่อนลงมาปิดกั้นภูมิภาคยุโรป
การบุกยูเครนครั้งนี้ส่งผลให้เกิดวิกฤตผู้ลี้ภัยครั้งเลวร้ายที่สุดในยุโรปนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 โดยชาวยูเครนกว่า 4 ล้านคนต้องอพยพไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา แคนาดา และประเทศตะวันตกอีกหลายประเทศ ได้ปิดน่านฟ้าห้ามเที่ยวบินจากรัสเซียผ่าน แบนการเดินทางของพลเมืองรัสเซียรายบุคคล และหยุดออกวีซ่า ซึ่งส่งผลให้พาสปอร์ตของรัสเซียอยู่ในสถานะย่ำแย่ในประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ
ในทางตรงกันข้าม สหภาพยุโรปได้อนุมัติแผนฉุกเฉินเพื่ออนุญาตให้ชาวยูเครนพักอาศัยและทำงานใน 27 ประเทศสมาชิกเป็นเวลานานสูงสุด 3 ปี ขณะที่ประเทศอื่นในยุโรปได้ยกเว้นวีซ่าหรือปรับเปลี่ยนนโยบายวีซ่าเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อผู้ถือพาสปอร์ตยูเครน โดยข้อมูลล่าสุดจากดัชนีพาสปอร์ตของเฮนลี่ย์ ซึ่งอ้างอิงข้อมูลจากสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association หรือ IATA) ระบุว่า ปัจจุบัน ยูเครนมีคะแนนการเดินทางแบบไม่ต้องขอวีซ่า (visa-free) หรือขอรับการตรวจลงตราที่ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง (visa-on-arrival) อยู่ที่ 143 ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และรั้งอันดับ 34 ในดัชนีดังกล่าว (ไต่ขึ้นมา 26 อันดับ นับตั้งแต่ปี 2555) ขณะที่รัสเซียมีคะแนนอยู่ที่ 117 และรั้งอันดับ 49 ซึ่งระยะห่างนี้มีแนวโน้มกว้างขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
สำหรับประเทศอื่น ๆ นั้น ญี่ปุ่นและสิงคโปร์ยังคงครองอันดับ 1 ร่วมกัน โดยผู้ถือพาสปอร์ตสามารถเดินทางแบบไม่ต้องขอวีซ่าเข้าประเทศและดินแดนต่าง ๆ ได้ 192 แห่งทั่วโลก ไม่นับรวมข้อจำกัดชั่วคราวจากสถานการณ์โควิด ส่วนเยอรมนีและเกาหลีใต้ครองอันดับ 2 ร่วมกัน โดยผู้ถือพาสปอร์ตสามารถเดินทางได้ 190 แห่ง ขณะที่ฟินแลนด์ อิตาลี ลักเซมเบิร์ก และสเปน ครองอันดับ 3 ร่วมกัน โดยผู้ถือพาสปอร์ตสามารถเดินทางได้ 189 แห่ง ด้านสหราชอาณาจักร ซึ่งยกเลิกข้อจำกัดเกี่ยวกับโควิดทั้งหมดเมื่อไม่นานมานี้ รั้งอันดับ 5 ด้วยคะแนน 187 และสหรัฐอเมริกาตามมาเป็นอันดับ 6 ด้วยคะแนน 186 ส่วนอัฟกานิสถานยังรั้งท้ายเช่นเคย โดยผู้ถือพาสปอร์ตสามารถเดินทางแบบไม่ต้องขอวีซ่าเข้าประเทศและดินแดนต่าง ๆ ได้เพียง 26 แห่งเท่านั้น
ดร. คริสเตียน เอช. เคลิน (Dr. Christian H. Kaelin) ประธานบริษัท เฮนลี่ย์ แอนด์ พาร์ทเนอร์ส (Henley & Partners) กล่าวว่า ข้อมูลล่าสุดสะท้อนภาพโลกที่ผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว "ในขณะที่พาสปอร์ตของรัสเซียมีค่าลดลงอย่างรวดเร็วและโลกเปิดรับชาวยูเครนมากขึ้น เราเห็นได้ชัดเจนว่าพาสปอร์ตที่เราถือสามารถกำหนดชะตาชีวิตและส่งผลกระทบอย่างมากต่อโอกาสที่เราจะได้รับ แม้เราไม่อาจคาดการณ์ได้ว่าโลกจะเป็นอย่างไรภายใต้เงาของสงครามเย็นครั้งใหม่ แต่ดัชนีล่าสุดนี้แสดงให้เห็นว่าความแตกแยกระหว่างรัสเซียกับประเทศโลกตะวันตกส่วนใหญ่จะทวีความรุนแรงขึ้น"
ดร. ปารัก คันนา (Dr. Parag Khanna) นักเขียนหนังสือขายดีและผู้ก่อตั้งบริษัทฟิวเจอร์แมป (FutureMap) ได้ให้ความเห็นไว้ในรายงานการเดินทางทั่วโลกของเฮนลี่ย์ (Henley Global Mobility Report) ประจำไตรมาส 2 ปี 2565 ซึ่งเผยแพร่ในวันนี้พร้อมกับดัชนีพาสปอร์ตของเฮนลี่ย์ โดยระบุว่า โลกต้องการทางออกที่สร้างสรรค์ในขณะที่การโยกย้ายถิ่นฐานขนานใหญ่กลายเป็นเรื่องปกติ "เมื่อเผชิญกับสงครามหรือปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศ คนเราจะมีสัญชาตญาณในการต่อสู้หรือหลบหนี ซึ่งการตอบสนองที่สมเหตุสมผลก็คือการย้ายถิ่นฐานเพื่อหาที่ที่เหมาะสมกว่าเดิม เรากำลังจะกลายเป็นสายพันธุ์ที่มีการอพยพย้ายถิ่นอีกครั้ง เพราะในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า ปัญหาสภาพภูมิอากาศจะทำให้บางภูมิภาคของโลกไม่สามารถอยู่อาศัยได้อีกต่อไป และประชากรหลายล้านคนหรืออาจมากถึงหลายพันล้านคนจะต้องหาบ้านใหม่"
นอกจากนี้ ผลวิจัยของเฮนลี่ย์ แอนด์ พาร์ทเนอร์ส และ ดีป โนวเลจ อนาลิติกส์ (Deep Knowledge Analytics) เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างอิทธิพลของพาสปอร์ตกับความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเตรียมความพร้อม ยังเผยให้เห็นว่า ประเทศพัฒนาแล้วที่มีความมั่งคั่งและมีพาสปอร์ตแข็งแกร่ง ทำคะแนนได้สูงในด้านความพร้อมรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ขณะที่คุณชาร์ลส์ ฟิลลิปส์ (Charles Phillips) จากบริษัท ออกซ์ฟอร์ด บิสสิเนส กรุ๊ป (Oxford Business Group) กล่าวว่า "เราเห็นความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดระหว่างความสามารถในการปรับตัวเพื่อรับมือสภาพภูมิอากาศกับอิสระในการเดินทางไปทั่วโลก ซึ่งทำให้เราตระหนักถึงความจริงที่ว่าสัญชาติและพาสปอร์ตของเรามีความสำคัญในการบรรเทาความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศ"
คุณเซบาสเตียน มิคอสซ์ (Sebastian Mikosz) รองประธานฝ่ายสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนของ IATA กล่าวว่า จากการคาดการณ์พบว่าจะมีความต้องการเดินทางของผู้โดยสารราว 1 หมื่นล้านครั้งภายในปี 2593 (เพิ่มขึ้นจากราว 4 พันล้านครั้งก่อนเกิดสถานการณ์โควิด) "ตัวเลขที่เติบโตนี้ส่วนใหญ่จะมาจากผู้โดยสารที่ไม่เคยมีโอกาสบินไปไหนมาก่อน โดยเฉพาะในเอเชีย แอฟริกา และลาตินอเมริกา เรามีหน้าที่แสวงหาทางออกที่ยั่งยืนเพื่อคนรุ่นหลังเหล่านี้ เพื่อให้พวกเขาได้เพลิดเพลินและได้รับประโยชน์จากการเดินทางทางอากาศอย่างที่เราทำมาตลอดจนถึงตอนนี้"
อ่านข่าวประชาสัมพันธ์ฉบับเต็มได้ที่ https://www.henleyglobal.com/newsroom/press-releases/2022-passport-index-global-mobility-q2