เมื่อเดือนมีนาคม 2565 ที่ผ่านมา ซอฟต์แวร์บริหารจัดการใบอนุญาตทำงานอิเล็กทรอนิกส์ (E-work Permit Management) ซึ่งพัฒนาโดยบริษัทเซี่ยงไฮ้ อินโร้ด อินฟอร์เมชัน เทค (Shanghai In-Road Information Tech) ได้ติดตั้งและทดสอบทางระบบออนไลน์แล้วในโรงงานบางปะกงของบริษัท บีเอเอสเอฟ (BASF) ประเทศไทย โดยเป็นระบบซอฟต์แวร์บริหารจัดการทางดิจิทัลที่เซี่ยงไฮ้ อินโร้ด พัฒนาขึ้นให้บริษัทเคมีโดยเฉพาะ ทั้งนี้ เซี่ยงไฮ้ อินโร้ด ได้ลงนามในสัญญาต้นแบบการบริการ (Master Service Agreement) กับบีเอเอสเอฟ ประเทศจีน เมื่อเดือนเมษายน 2563 เพื่อให้บริการซอฟต์แวร์ในโรงงานของบีเอเอสเอฟรวม 7 แห่งในจีน และวันนี้ บีเอเอสเอฟ ประเทศไทย กลายเป็นบริษัทนอกประเทศจีนแห่งแรกที่ใช้ระบบของอินโร้ด
อินโร้ด (http://www.in-road.com/en/) มุ่งให้บริการระบบและโซลูชันซอฟต์แวร์ดิจิทัลที่มีความล้ำหน้าและใช้งานง่ายแก่อุตสาหกรรมเคมี และประสบความสำเร็จในการร่วมมือกับบริษัทเคมีกว่า 130 แห่ง อินโร้ดมีความมุ่งมั่นในการช่วยให้อุตสาหกรรมดั้งเดิมนำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาใช้ผลักดันความเป็นดิจิทัล
โซลูชันที่อินโร้ดนำมาใช้ในโรงงานของบีเอเอสเอฟ ประเทศจีนนั้น มีทั้งระบบบริหารการดำเนินงาน แพลตฟอร์มบริหารจัดการข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และความปลอดภัย (EHS) อัจฉริยะ ระบบดูแลด้วยความรับผิดชอบ และระบบดูแลผู้มาเยือน ระบบนี้ทำให้ทางโรงงานบริหารการทำงานได้อย่างมีมาตรฐานและมองเห็นได้ ทั้งยังเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ตรวจสอบยืนยันคุณสมบัติของบุคลากร และเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการใบอนุญาตทำงานได้ ส่วนในเรื่องการบริหารจัดการความปลอดภัยในการผลิตนั้น ระบบดังกล่าวนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ยกระดับความปลอดภัยในการผลิตที่โรงงานในทุกมิติ และในเรื่องของการดูแลด้วยความรับผิดชอบนั้น ก็นำข้อกำหนดด้านการบริหารจัดการระบบมาผสานรวมกับบันทึกการทำงานประจำวันทางออนไลน์ได้ และในส่วนของการดูแลผู้มาเยือน ระบบดังกล่าวก็ช่วยให้ผู้มาเยือนเข้าออกโรงงานได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น
จื้อเจี๋ย โจว (Zhijie Zhou) ซีอีโอของอินโร้ด (http://www.in-road.com/en/) กล่าวว่า "เรารู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งในการนำระบบนี้มาใช้กับบีเอเอสเอฟ ประเทศไทย หลังจากที่ได้ให้บริการบีเอเอสเอฟ ประเทศจีน และเชื่อว่าประสบการณ์ที่เราได้สั่งสมมาจากการให้บริการบีเอเอสเอฟที่จีนมาสองปี จะเปิดโอกาสให้เราให้บริการบีเอเอสเอฟ ประเทศไทย ได้ราบรื่นกว่าเดิม"
ผลการสำรวจจากบอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป (Boston Consulting Group หรือ BCG) เมื่อปี 2563 พบว่า ซีอีโอบริษัทเคมีเป็นสัดส่วน 64% ยกให้การพลิกโฉมสู่ดิจิทัลเป็นกลยุทธ์หลักในช่วง 2 ปีข้างหน้า โดยมีความสำคัญแซงหน้านวัตกรรม การปรับทบทวนพอร์ต หรือการลดต้นทุนและรักษากระแสเงินสด ขณะที่ผลการสำรวจจากอีวาย (E&Y) ในปี 2563 พบว่า ผู้นำภาคการผลิตเคมี 66% หวังยกระดับสู่ดิจิทัลในช่วง 3 ปีข้างหน้า เพิ่มขึ้น 31% จากการสำรวจเมื่อปี 2562
นอกจากนี้ ผลการสำรวจจากพีดับบลิวซี (PwC) เมื่อปี 2563 ก็พบว่า บริษัทเคมีหวังที่จะนำเงินเฉลี่ยราว 5% จากรายได้ทั้งปีไปใช้กับโซลูชันการดำเนินงานดิจิทัลในช่วง 5 ปีข้างหน้า โดย 75% คาดว่าจะบรรลุการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในระดับสูงได้ภายในปี 2569
โรงงานที่มีความก้าวล้ำทางดิจิทัลเริ่มทิ้งห่างโรงงานที่เพิ่งนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้มากขึ้น โดยโรงงานที่ก้าวล้ำต่างนำกลยุทธ์ดิจิทัลมาใช้กับกรณีการใช้งานที่มีความล้ำหน้ากว่า ในการนี้ การ์ทเนอร์ (Gartner) บริษัทวิจัยและให้คำปรึกษาทางไอทีที่ทรงอิทธิพลที่สุดของโลก ได้ออกมาเตือนว่า ช่องว่างระหว่างโรงงานเคมีที่มีความก้าวล้ำทางดิจิทัลกับโรงงานที่เพิ่งเดินรอยตามนั้นขยายใหญ่มากขึ้น ซึ่งผู้ที่ตามหลังนั้นมีแนวโน้มที่จะล้มเหลว
เมื่อประเมินตามภูมิภาคแล้ว โรงงานในเอเชียแปซิฟิกมีความก้าวล้ำมากกว่า และมองเห็นโอกาสทางกลยุทธ์จากการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ ขณะที่โรงงานในยุโรปและอเมริกาเหนือยังคงให้ความสนใจกับการยกระดับการดำเนินงาน เหล่าผู้นำทางความคิดในเอเชียแปซิฟิกต่างยอมรับว่า เทคโนโลยีดิจิทัลไม่ได้ให้ประโยชน์ในเรื่องของการเข้าถึงตลาดและลูกค้าเพียงเท่านั้น แต่ยังช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพด้วย
คุณโจว กล่าวว่า "การระบาดใหญ่ที่เปิดฉากขึ้นเมื่อปลายปี 2562 ความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป ซัพพลายเชนที่ไม่ไหลลื่นเหมือนแต่ก่อน ต้นทุนแรงงานที่เพิ่มสูง และระเบียบข้อกำหนดที่เข้มงวดขึ้น ล้วนทำให้บริษัทเคมีดั้งเดิมมองหาแนวทางยกระดับความยั่งยืน ความเฉพาะเจาะจง และประสิทธิภาพ การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้กับบริษัทเคมีจึงเข้ามามีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในบริบทนี้"
(ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ info@in-road.com)